วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษา

๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ และ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม

ที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑) ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ทำการศึกษาและจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใน ๔ ภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร ก่อนจัดทำเป็นข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองให้ที่ประชุมสภาการศึกษาพิจารณา จนกระทั่งวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว

ทั้งนี้ รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้รายงานเกี่ยวกับหลักการและกรอบแนวคิดของการปฏิรูปการศึกษา ที่เน้นการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้ โดยปัจจัยสำคัญของระบบการศึกษา ประกอบด้วย ครู หลักสูตร สถานศึกษา และกระบวนการสร้างและถ่ายทอดความรู้ ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่สุดในการปฏิรูปคือ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษา ส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอย่างยั่งยืน เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า โดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์สำหรับการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ว่า "คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ" ที่เน้นประเด็นหลัก ๓ ประการคือ
๑ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย
๒ สร้างโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้
๓ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา

นอกจากนี้ การปฏิรูปการศึกษาจะเร่งดำเนินการใน ๔ ใหม่คือ
๑) พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่
๒) พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่
๓) พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่
๔) พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่


โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองต่อที่ประชุม ๒ ประเด็นคือ

งานปฏิรูปการศึกษาเป็นงานที่จะต้องมีจุดสิ้นสุด มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าผลที่ต้องการคืออะไร อย่าให้เหมือนกับการปฏิรูปการศึกษาในรอบแรก ที่สูญเสียทั้งเวลาและทรัพยากรเกี่ยวกับโครงสร้าง จนทำให้เกิดความขัดแย้ง ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ต้องมุ่งไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของผลผลิตของระบบการศึกษาอย่างแท้จริง

งานปฏิรูปการศึกษาควรให้ทำตามเป้าหมาย พร้อมกำหนดทิศทางและตัวชี้วัดที่ชัดเจน เช่น กรณีของเด็กนักเรียนจะต้องผ่านการประเมินผลสัมฤทธิ์ในวิชาหลักอย่างทั่วถึง สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินด้วย นอกจากนี้ต้องตั้งเป้าหมายในเรื่องการเพิ่มสัดส่วนของโรงเรียนระดับอาชีวศึกษาและการศึกษาเอกชน เป็นต้น ในส่วนของการดำเนินการจะต้องทำอย่างจริงจังและชัดเจน ใครทำอะไรก็ขอให้ทำตรงนั้น อย่าดูหลายเรื่องไม่เช่นนั้นจะสับสน และไม่เกิดประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษา ต้องมีการประสานงานเชื่อมโยงกัน ควรส่งเสริมหรือเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้มีการศึกษาหรือมีกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ วัน เพื่อที่เด็กจะได้มีการพัฒนาทางด้านทักษะที่หลากหลายนอกเหนือจากความรู้ทางด้านวิชาการที่อยู่ในตำราเรียนแต่เพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติรับข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ ที่คณะกรรมการได้ร่วมกันหารือและนำเสนอ โดย สกศ. จะได้รวบรวมเพื่อรายงานต่อที่ประชุมได้รับทราบในการประชุมครั้งต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: