วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ข้อเสนอแนะการปฏิรูปฯจากผอ.สพท.ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา ให้สัมภาษณ์ถึงผลสรุปประเด็นจากการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประธานศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษา และประธานกลุ่มศูนย์สำนักงาน กศน.จังหวัด ทั่วประเทศประมาณ 400 คน ข้อเสนอของร่วมกันให้ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการที่คลี่ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สองเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เราสามารถกำหนดตัวชี้วัด กำหนดเป้าหมายการทำงาน และการจัดทำแผนรายละเอียดการทำงานรวมถึงการจัดทำงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย ประเด็นที่นำเสนอในห้องย่อย มี 4 เรื่องใหญ่ในห้องย่อยทั้ง 8 กลุ่มดังนี้

1. คุณภาพคนไทยยุคใหม่ ที่ประชุมผู้บริหารเขตพื้นที่ เสนอประเด็นหลัก 2 เรื่อง คือ
1.1 ต้องถ่วงดุลยภาพหรือถ่วงน้ำหนักระหว่างคุณภาพของความรู้ทางวิชาการ กับคุณภาพในมิติอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพชีวิต รวมถึงคุณภาพคุณธรรม จริยธรรมด้วย โดยมีความเห็นว่าหากจะให้โรงเรียนทำอย่างเข้มแข็ง ต้องมีตัวชี้วัดทั้งทางวิชาการ ซึ่งบ่งบอกถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก และต้องมีตัวชี้วัดในมิติที่เป็นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม เรื่องของคุณภาพชีวิต ทักษะพิเศษเด่นๆ ของเด็ก เป็นต้นว่า ความสามารถทางดนตรี ทางกีฬา ด้านศิลปวัฒนธรรม

1.2 แนวทางการจัดทำการทดสอบระดับชาติ (International Test) ที่เหมาะสำหรับระดับช่วงชั้นต่างๆ ทั้ง ม.6 ม.3 ป.6 และ ป.3 เป็นต้น ส่วนการทดสอบในช่วงชั้นอื่นๆ เป็นเรื่องที่แต่ละสถานศึกษาจะดำเนินการ โดยมีความเห็นพ้องกันว่า ควรสร้างระบบการทดสอบที่เป็นมาตรฐานระหว่างโรงเรียนด้วยกัน หรือว่ามีความใกล้เคียงกัน ไม่แตกต่างกัน

2. คุณภาพของครูยุคใหม่ มีข้อเสนอ 2 เรื่อง คือ
2.1 ควรวิเคราะห์เปรียบเทียบครูทั้งระบบทั้งสถานศึกษาของรัฐบาลและสถานศึกษาเอกชน รวมถึง ติวเตอร์ สถาบันกวดวิชาต่างๆ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่สอนหนังสือในกลุ่มต่างๆ ว่ามีจุดแข็ง จุดอ่อนอยู่ตรงไหน ต้องการได้รับขวัญกำลังใจอย่างไรบ้าง

2.2 ควรมีวิธีการศึกษาวิเคราะห์ความสามารถในการถ่ายทอดประสบการณ์การสอนของครู เพื่อให้ครูที่มีทักษะ มีความสามารถในการถ่ายทอดที่ดี ที่เก่ง ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับครูกลุ่มอื่น ๆ ได้ศึกษาเรียนรู้และเอาไปประยุกต์ปรับใช้ ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางของ Teacher TV. ที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ โดยนำประสบการณ์ตรงของครูในห้องเรียนที่มีความสำเร็จมาบอกเล่า และถ่ายทอดเพื่อให้ครูเกิดการพัฒนาต่อไปได้

3. การพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ มีประเด็นสำคัญ ดังนี้
3.1 พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องช่วยสถานศึกษาให้มีส่วนสำคัญที่จะสร้างจิตวิญญาณในการเรียนรู้ให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้เอง มีความกระตือรือร้นที่จะใฝ่เรียนใฝ่รู้

3.2 ต้องเสริมคุณภาพของสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในความหลากหลายให้พร้อมที่จะตอบสนองความอยากเรียนรู้ของคนทั้งหลาย
ดังนั้น การจะทำให้เกิดคุณภาพทั้งผู้เรียนและสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ ทั้งสองส่วนจะต้องมีความสมดุลสัมพันธ์และสอดคล้องกัน

4. การบริหารจัดการในยุคใหม่ ประเด็นสำคัญคือ
4.1 ต้องมีแผนการกระจายอำนาจเป็นช่วงเวลา เป็นระยะ เป็นขั้นตอน
เนื่องจากขณะนี้การกระจายอำนาจยังไม่ส่งผลที่แท้จริง ถ้าการกระจายอำนาจส่งผลที่แท้จริง จะทำให้การบริหารจัดการของโรงเรียนในเขตพื้นที่มีอิสระมีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ต้องทำตามความพร้อมของสถานศึกษา จึงควรจะมีการจำแนกความพร้อมของเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนในระดับต่าง ๆ กัน หากเขตพื้นการศึกษาใดและโรงเรียนใดที่มีความพร้อมมาก ควรจะได้รับโอกาส ความอิสระมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการมาก ขณะเดียวกันหากเขตพื้นที่การศึกษาใดและโรงเรียนใดยังมีความกังวลอาจไม่พร้อมที่จะรับโอกาสที่จะปฏิบัติในหลายเรื่องพร้อมๆ กัน

4.2 การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
การปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่ภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียงผู้เดียว การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จผลหรือมีคุณภาพที่ดีได้ ต้องอาศัยความร่วมมือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ดังนั้น จึงต้อง หากแนวทางในการสร้างจิตสำนึกตระหนักรู้ในหัวใจพ่อแม่ผู้ปกครอง พี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันและขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา


เลขาธิการสภาการศึกษากล่าวในตอนท้ายว่า ข้อเสนอจากเวทีการประชุมสัมมนาที่ได้รับ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะนำไปประมวลว่า ทั้งหมดคือการรับฟังความเห็นในรอบของผู้ที่อยู่ในภาคปฏิบัติ โดยจะนำมาบรรจบกันกับข้อมูลที่จะรับฟังแนวคิดจากที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้ได้ประเด็นต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองตามกรอบสี่ใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำเข้าประชุมในคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งที่อยู่ในแวดวงการศึกษาโดยตรงและคนที่มีมิติหรือมุมมองใหม่ ๆ ที่มีส่วนในการแก้ปัญหาสังคม ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งหมดนี้ จะได้นำมาสรุปและเสวนาแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นกันอีกรอบหนึ่งในเวทีสมัชชาปฏิรูปการศึกษาในวันที่ 6-7 มีนาคมนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการ จะคลี่เป้าหมายตัวชี้วัด กำหนดเป็นกี่ระยะ กี่แผน ใช้งบประมาณอะไรบ้าง ซึ่งในการประชุม กนป.ครั้งที่ 2 มีรายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้

ไม่มีความคิดเห็น: