วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553

วันสถาปนา สนง.กศน.

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๓ ณ หอประชุมคุรุสภา
รมว.ศธ.กล่าวว่า การศึกษาในทศวรรษหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงได้วางระบบและรากฐานที่ถูกต้องเกี่ยวกับการศึกษาของชาติเพื่อนำไปสู่หลักการที่สำคัญ ๓ เรื่อง ได้แก่ จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต สร้างโอกาสและความเสมอภาคให้แก่ผู้เรียน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ๔ ประการ คือ

๑. ต้องได้พลเมืองยุคใหม่ที่มีคุณภาพ คือ ใฝ่ดี ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ต้องมีคุณธรรม เคารพตนเอง เคารพผู้อื่น มีกติกา เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ใช้วิธีการแห่งปัญญาในการแก้ปัญหา

๒. มีครูที่มีคุณภาพ ครู กศน.ต้องเป็นครูเพื่อสังคม อัตราครูของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะเกษียณในปี ๒๕๕๓ ประมาณจำนวนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งรวม กศน.ด้วย รมว.ศธ.ได้ขออัตราครูบรรณารักษ์เพิ่มและนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว จึงต้องมีการแบ่งสัดส่วนคืนครูให้ กศน. รวมทั้งมีครูอัตราจ้างในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งต่อไปก็จะเป็นพนักงานราชการ และจากนี้ไปก็จะให้พนักงานราชการเหล่านี้เป็นข้าราชการครูอย่างน้อยร้อยละ ๓๐ จากจำนวนที่ได้รับงบประมาณของทุกปี โดยจะเร่งรัดเสนอพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งการเลื่อนวิทยฐานะอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากผลงานไม่ใช่เอกสาร

๓. สร้างสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ที่ดูแลโดย กศน.ต้องมีเพิ่มขึ้น แหล่งเรียนรู้ด้านต่างๆ แบบครบวงจรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีห้องสมุดที่มีชีวิต มีบุคลากรที่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการใช้การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (Civic Education) ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาครั้งสำคัญ

๔. การบริหารจัดการยุคใหม่อย่างมีคุณภาพ ได้มีการขับเคลื่อนให้ กศน.ได้เป็นสำนักจนมีฐานะเทียบเท่ากรมตามพระราชบัญญัติใหม่ โดยมีคณะบุคคล เครือข่าย มีระบบเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะตั้ง สสส. การศึกษาขึ้นมา เพื่อนำภาษีสรรพสามิตมาสนับสนุนด้านการศึกษา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้แก่เด็กและเยาวชน
รมว.ศธ.กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการศึกษาว่า จะเร่งขับเคลื่อนในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนจะเป็นสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะดูแลทุกองค์กรหลักและให้ กศน.ตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) โดยเร็วที่สุด รวมทั้งเร่งให้จัดทำเครือข่าย โดยจะทำ แหล่งเรียนรู้ราคาถูก ให้ประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน และเป้าหมายการศึกษาอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต ดังนั้น กศน.ตำบล ซึ่งจะเปิดให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๕๓ จะประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดย กศน.เป็นผู้ประสานให้มีเครือข่ายอื่นๆ เช่น Fix-it Centre, Tutor Channel, Teacher TV เพื่อให้คนสามารถมาเรียนรู้ได้ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะผลักดันการจัดงบประมาณเพื่อสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งศูนย์นี้จะเป็นคลังองค์ความรู้ (Clearing House) ที่จะให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันระหว่างประเทศด้านการค้าและพัฒนา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ร่วมมือกับ กศน.ในการจัดตั้งมุมความรู้ในประเด็นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ

รมว.ศธ.ได้เน้นย้ำในเรื่องนี้ โดยขอให้มีสักจุดหนึ่งในสังคมที่เป็นแสงสว่างทางปัญญา ดังนั้น แหล่งเรียนรู้ราคาถูกนี้จึงเป็นกลไกที่สำคัญ ซึ่ง กศน.เป็นเครือข่ายสำคัญในการส่งเสริมการอ่าน มีกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการอ่านเป็นการเรียนรู้อย่างเดียวที่สามารถประมวลผล และถ่ายทอดไปยังผู้อื่นได้เป็นอย่างดีที่สุด.

ไม่มีความคิดเห็น: