วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553

โครงการพัฒนาปอเนาะดีต้นแบบ

นายชินวรณ์ บุญเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อทำพิธีวางฐานรากก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ปอเนาะดีต้นแบบ สถาบันศึกษาปอเนาะ อัลฮุสนา ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553

กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการโครงการพัฒนาปอเนาะดีต้นแบบขึ้น โดยได้จัดทำรูปแบบการพัฒนาปอเนาะที่เหมาะสม ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ จากนั้นได้มีการคัดเลือกสถาบันปอเนาะจำนวน 48 แห่งจากทุกอำเภอมาเป็นต้นแบบในการพัฒนา โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งในปีงบประมาณ 2553ได้คัดเลือกปอเนาะ จำนวน 9 แห่ง จากสถาบันปอเนาะดีเด่นที่เคยร่วมโครงการกับกระทรวงศึกษาธิการเข้ารับการพัฒนาตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 เป็นต้นไป และจะมีการคัดเลือกสถาบันศึกษาปอเนาะอีก 39 แห่ง เพื่อดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2554

การพัฒนาปอเนาะดีต้นแบบมีหลักการสำคัญคือ กระทรวงศึกษาธิการจะสนับสนุนงบประมาณ ปอเนาะละ 5ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ 1 หลัง ในวงเงิน 4 ล้าน และใช้ในการปรับปรุงอาคารสถานที่สิ่งก่อสร้างที่จำเป็นตามความต้องการของปอเนาะ รวมทั้งปรับภูมิทัศน์ในวงเงิน 1 ล้านบาท โดยกระทรวงศึกษาธิการจะได้ให้การสนับสนุนคอมพิวเตอร์ และสื่อการเรียนการสอนเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ปอเนาะที่ได้รับการคัดเลือกต้องลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ว่าจะพัฒนาปอเนาะให้มีคุณภาพ ทั้งทางด้านกายภาพ การพัฒนาการเรียนการสอนทั้งวิชาศาสนาและสามัญ การส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพ รวมทั้งการนำสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในสถาบัน โดยจะส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชน ในชุมชนรอบข้าง และจะขยายผลไปยังปอเนาะอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

แนวทางในการพัฒนาปอเนาะดีต้นแบบ
๑. พัฒนาปัจจัยพื้นฐานด้ายกายภาพ ได้แก่ การปรับปรุงอาคารเรียนที่พักอาศัย (ปอเนาะ) การปรับปรุงห้องเรียน ห้องสมุด ศูนย์สื่อเทคโนโลยี เละภูมิทัศน์ เป็นต้น เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเอื้อต่อการเรียนรู้ อันจะทำให้การจัดการเรียนการสอนมีคุณภาพโดยมีองค์ประกอบเบื้องต้นดังนี้ - จัดสร้างหรือซ่อมแซมอาคารบาลัย ห้องเรียน หรือที่พัก (ปอเนาะ) ให้มีความสวยงามเหมาะสมกับการเป็นสถานที่เรียน - ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความสะอาด ร่มรื่น ปลอดภัย รวมทั้งจัดให้มีสนามกีฬาขนาดเล็ก และสวนพักผ่อน - สนับสนุนคอมพิวเตอร์ ๑ เครื่องต่อนักเรียน ๑๐ คน - อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 2Mb - ห้องสมุด หรือมุมการเรียนรู้ - ศูนย์การเรียนรู้อาชีพ ได้แก่ พื้นที่การเกษตร อาคารหรือโรงฝึกงาน เพื่อการฝึกอาชีพตามความต้องการ หรือบริบทของท้องถิ่น
๒. จัดกิจกรรมการเรียนการสอนและพัฒนางานด้านวิชาการ โดยเน้นการพัฒนาผู้เรียนอย่างเข้มข้น เพื่อให้มีความรู้ทั้งวิชาศาสนา สามัญ และอาชีพ ประกอบด้วย - การศึกษาวิชาศาสนาระดับต้น กลาง สูง ตามแนวทางของอัลกุรอ่าน - การศึกษาวิชาสามัญตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสามารถเทียบระดับเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้ โดยให้ กศน.จังหวัด อำเภอ หรือตำบล เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา - การศึกษาวิชาชีพตามความต้องการของผู้เรียน และชุมชน รวมทั้งสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม โดยให้สถาบันการอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน รวมทั้ง กศน.เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
๓. จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โดยเน้นการเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ศูนย์สื่อการเรียนการสอน มีห้องสมุดที่ทันสมัยและเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาใช้ เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ และพัฒนาวิชาชีพ
๔. จัดให้มีการพัฒนาบุคลากร ครู และผู้บริหาร โดยให้มีการอบรมบุคลากรครู ผู้ช่วยครู (ฮุซตาส) โต๊ะครูหรือบาบอ ให้มีความรู้ในการบริหารจัดการสมัยใหม่ สามารถพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ
๕. จัดเครือข่ายกับโรงเรียน หรือสถานศึกษาอื่น จัดให้มีการพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะร่วมกับโรงเรียนใกล้เคียง ในลักษณะของโรงเรียนคู่พัฒนารวมทั้งการขอความร่วมมือจากสถานศึกษาอื่น และองค์กรชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรศาสนาและภาคเอกชน เพื่อความร่วมมือและระดมสรรพกำลังในการจัดการศึกษา

รูปแบบการดำเนินการ เกณฑ์การคัดเลือกสถาบันศึกษาปอเนาะ

๑. มีจำนวนนักเรียนที่เรียนด้านศาสนา และสายสามัญหรือสายอาชีพ (สำหรับผู้ที่จบการศึกษาภาคบังคับ) ตั้งแต่ ๑๐๐ คนขึ้นไป อำเภอใดไม่มีสถาบันศึกษาปอเนาะ ที่มีนักเรียนครบ ๑๐๐ คน ให้คัดเลือกจาก ๕๐ คนขึ้นไป
๒.เป็นสถาบันศึกษาปอเนาะที่มีการจัดการเรียนการสอนทั้งวิชาศาสนา สามัญ และอาชีพ โดยได้รับความร่วมมือจาก กศน. สถาบันการอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชนหรือหน่วยงานอื่น
๓. เคยได้รับการคัดเลือกเป็นสถาบันศึกษาปอเนาะดีเด่น หรือเคยได้รับรางวัลจากกระทรวงศึกษาธิการ
๔. สถาบันศึกษาปอเนาะมีพื้นที่กว้างขวาง มีอาคารเรียนและหอพักอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการพัฒนา และมีความพร้อมในการจัดกิจกรรมต่างๆ ตามโครงการ
๕. ผู้บริหารและบุคลากรมีความมุ่งมั่น มีแผนพัฒนาสถานศึกษา และมีศักยภาพสูงในการบริหารจัดการ
๖. สถาบันศึกษาปอเนาะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการคมนาคมสะดวก เป็นศูนย์กลางระหว่างสถาบันศึกษาปอเนาะ และชุมชน รวมทั้งสามารถเป็นต้นแบบแก่สถาบันศึกษาปอเนาะอื่นได้
๗. สถาบันศึกษาปอเนาะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น: