วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2553

ค่าเฉลี่ย'โอเน็ต-GAT-PAT'ต่ำ!

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือสทศ. ได้ประกาศคะแนนออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับคะแนนต่ำสุด สูงสุด ใน"การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน" หรือ"โอเน็ต" ประจำปีการศึกษา 2552 คะแนน"ทดสอบความถนัดทั่วไป" หรือ "GAT" และคะแนน"ทดสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ" หรือ"PAT" ครั้งที่ 1/2553 มีดังนี้
โดยคะแนนโอเน็ตชั้น ป.6 ได้แก่ ภาษาไทย ต่ำสุด 13.33 สูงสุด 96.67, สังคมศึกษา ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 100.00, ภาษาอังกฤษ ต่ำสุด 0.00 สูงสุด100.00, คณิตศาสตร์ ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 100.00,วิทยาศาสตร์ ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 100.00, สุขศึกษาและพลศึกษา ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 100.00,ศิลปะ ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 100.00 และการงานอาชีพและเทคโนโลยี ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 96.67
โดยมีนักเรียนได้ 100 คะแนนเต็มในวิชาสังคมศึกษา 2 คน ภาษาอังกฤษ 700 คนคณิตศาสตร์ 1,439 คน สุขศึกษาและพลศึกษา 68 คน และศิลปะ 28 คน
โอเน็ตชั้น ม.3 ได้แก่ ภาษาไทย ต่ำสุด 0.00 สูงสุด86.50, สังคมศึกษา ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 90.00,ภาษาอังกฤษ ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 100.00,คณิตศาสตร์ ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 100.00,วิทยาศาสตร์ ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 100.00, สุขศึกษาและพลศึกษา ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 92.50, ศิลปะต่ำสุด 0.00 สูงสุด 87.50 และการงานอาชีพและเทคโนโลยี ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 91.67
โดยมีนักเรียนได้คะแนนเต็มวิชาภาษาอังกฤษ 5 คน คณิตศาสตร์ 119 คน และวิทยาศาสตร์ 1 คน
โอเน็ตชั้น ม.6 ภาษาไทย ต่ำสุด 0.00 สูงสุด92.00, สังคมศึกษา ต่ำสุด 8.00 สูงสุด 85.00,ภาษาอังกฤษ ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 100.00,คณิตศาสตร์ ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 100.00,วิทยาศาสตร์ ต่ำสุด 1.25 สูงสุด 91.95, สุขศึกษาและพลศึกษา ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 78.00, ศิลปะต่ำสุด 2.00 สูงสุด 75.00 และการงานอาชีพและเทคโนโลยี ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 76.67
โดยมีนักเรียนได้คะแนนเต็มวิชาภาษาอังกฤษ 1 คน และคณิตศาสตร์ 2 คน
ทั้งนี้ พบว่าคะแนนเฉลี่ยโอเน็ต 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ของนักเรียนชั้น ป.6 มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นแต่ค่าเฉลี่ยโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 ยังคงไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา โดยวิชาที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดของชั้น ป.6 คือ สุขศึกษาและพลศึกษา 64.76 ค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ภาษาอังกฤษ 31.75, ชั้น ม.3 ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ สุขศึกษาและพลศึกษา 56.70 ค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ภาษาอังกฤษ 22.54
ส่วนนักเรียนชั้น ม.6 มีค่าเฉลี่ยโอเน็ตสูงสุด คือภาษาไทย 46.47 ค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ภาษาอังกฤษ23.98 ส่วนวิชาอื่นๆ มีค่าเฉลี่ยดังนี้ สุขศึกษา 45.37,ศิลปะ 37.75, สังคมศึกษา 36.00, การงานอาชีพและเทคโนโลยี 32.98, วิทยาศาสตร์ 29.06 และคณิตศาสตร์ 28.56 ซึ่งไม่มีค่าเฉลี่ยในกลุ่มสาระการเรียนรู้ใดเลยที่ถึงร้อยละ 50
สำหรับคะแนน GAT ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 295.00 ค่าเฉลี่ย 130.82 ส่วน PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 294.00 ค่าเฉลี่ย63.97
PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ต่ำสุด 3.00 สูงสุด 241.00 ค่าเฉลี่ย เฉลี่ย 87.17, PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ ต่ำสุด 0.00 สูงสุด276.00 ค่าเฉลี่ย 103.19, PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ ต่ำสุด 21.00 สูงสุด 218.00 ค่าเฉลี่ย 103.07, PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครูต่ำสุด 34.00 สูงสุด 226.00 ค่าเฉลี่ย 142.17, PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ ต่ำสุด 33.00 สูงสุด 210.00 ค่าเฉลี่ย 134.49
PAT 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 279.00 ค่าเฉลี่ย 104.38, PAT 7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน ต่ำสุด 27.00 สูงสุด 268.50 ค่าเฉลี่ย 102.96, PAT 7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่นต่ำสุด 21.00 สูงสุด 297.00 ค่าเฉลี่ย 115.23, PAT 7.4 ความถนัดทางภาษาจีน ต่ำสุด 27.00 สูงสุด279.00 ค่าเฉลี่ย 88, PAT 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ ต่ำสุด 48.75 สูงสุด 228.75 ค่าเฉลี่ย100.37 และ PAT 7.6 ความถนัดทางภาษาบาลีต่ำสุด 54.00 สูงสุด 222.00 ค่าเฉลี่ย 88.97
โดยคะแนน GAT และ PAT ในเดือนมีนาคม2553 มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าการสอบเมื่อเดือนตุลาคม2552 เล็กน้อย
"นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยอมรับว่าค่าเฉลี่ยของการสอบโอเน็ต GAT และ PAT ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านๆ มา และจากค่าเฉลี่ยที่ออกมา "ต่ำ" เช่นนี้นายชัยวุฒิเชื่อว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในทุกระดับชั้นและในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเฉพาะกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นวิชาที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดในทุกช่วงชั้นที่สอบ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาวิชาหลักให้มากขึ้น
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการระบุถึงเป้าหมายของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ได้ประกาศเอาไว้ชัดเจนว่า "เป้าหมายของรัฐบาลคือ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ค่าเฉลี่ยของทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ของทุกช่วงชั้นจะต้องสูงขึ้น"ซึ่งเป็นหนึ่งในทิศทางของการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ค่าเฉลี่ยโอเน็ตของนักเรียนในช่วงชั้นต่างๆ ยังต่ำกว่าร้อยละ 50 เกือบทุกวิชาทั้งๆ ที่รัฐบาลประกาศว่าในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จะต้องยกระดับ "ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน" ของนักเรียนให้สูงขึ้นนั้น
"นายชินภัทร ภูมิรัตน" เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุว่า ที่คะแนนเฉลี่ยโอเน็ตทั้ง 3 ระดับยังต่ำ เพราะที่ผ่านมากำหนดจุดเน้นของการเรียนการสอนไม่ชัดเจน แต่เน้นทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทำให้กระจายความเข้มข้น ถ้าวางพื้นฐานตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 ดี เมื่อเลื่อนขึ้นมัธยมศึกษา ก็จะมีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นซึ่งนับจากปี 2553 สิ่งเหล่านี้จะเริ่มดำเนินการชัดเจนเพราะนโยบายสอดรับกันทั้งของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.รวมทั้ง ได้เตรียมประสานกับทาง สทศ. เพื่อขอข้อมูลมาวิเคราะห์จุดอ่อนเพิ่มเติม พร้อมทั้งจะหารือสทศ. ขอให้ปรับข้อสอบให้สอดรับกับจุดเน้นในแต่ละช่วงชั้นที่ สพฐ. ได้ปรับรูปแบบ ไม่เช่นนั้นจะผลักดันให้เด็กไปกวดวิชาเพิ่มขึ้น
"ผมไม่แปลกใจกับค่าเฉลี่ยโอเน็ตทั้ง 3 ระดับเพราะการสอนที่กำหนดจุดเน้น ยังไม่ได้แก้ไข อีกทั้ง มีช่องว่างระหว่างฝ่ายจัดทำหลักสูตร ฝ่ายจัดการเรียนการสอน และฝ่ายวัดผลประเมินผลที่ยังไปคนละทางสองทาง ซึ่งควรจัดเวทีเพื่อหารือร่วมกัน เพื่อจะได้เป็นแนวทางเดียวกัน รวมถึงผู้ออกข้อสอบยังเป็นครูโรงเรียนสาธิต สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่อาจไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงของภาพรวมโรงเรียนทั่วประเทศ แต่ปีหน้าครูโรงเรียนสังกัด สพฐ. จะร่วมออกข้อสอบ คิดว่าปัญหาน่าจะน้อยลง"นายชินภัทรกล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ "นายสมพงษ์ จิตระดับ" อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ที่คะแนนเฉลี่ยโอเน็ตทั้ง 3 ระดับ ต่ำกว่าร้อยละ 50 เป็นส่วนใหญ่ สะท้อนได้ในระดับหนึ่งถึงวิกฤตคุณภาพการศึกษา แม้นโยบายการเมืองจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ยังขาดแรงกระตุ้น ขาดความต่อเนื่อง ตลอดจนขาดการเตรียมการที่ดีนอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่จะมุ่งเน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น แต่เรื่องดังกล่าวจะเริ่มในปีการศึกษา 2553 ขณะที่ สทศ. นำเรื่องคิดวิเคราะห์มาใช้ในการวัดประเมินผลแล้วในปี 2552 ซึ่ง สทศ. เดินมาถูกทาง เพียงแต่นำมาใช้เร็วเกินไปคิดว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมคือใน 2-3 ปีข้างหน้า ที่สำคัญ แม้ข้อสอบโอเน็ตของ สทศ. จะออกตามหลักสูตร แต่ก็ยาก ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ออกข้อสอบคือ ครูโรงเรียนสาธิตด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า"วิกฤต" ด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และ"ระบบการศึกษาไทย" ต้องเผชิญอยู่อย่างมากมายในขณะนี้ จะคลี่คลายลงได้หรือไม่ และนโยบายของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มุ่งยก "ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน" ของนักเรียนทุกระดับ ทุกประเภทการศึกษา ให้สูงขึ้นนั้น จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 เม.ย. 2553

ไม่มีความคิดเห็น: