วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ก.ค.ศ.ไฟเขียวคู่มือประเมินวิทยฐานะครู

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้รับทราบการจัดทำคู่มือประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะสายงานการสอน สายงานบริหารสถานศึกษา สายงานบริหารการศึกษา และสายงานนิเทศการศึกษา ตามหลักเกณฑ์ฯ ว 17 ซึ่งมีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2552 ที่ผ่านมา โดยคู่มือประเมินดังกล่าว สำนักงาน ก.ค.ศ.เพิ่งดำเนินการแล้วเสร็จ และอยู่ในความสนใจและรอคอยของข้าราชการครูเป็นอย่างมาก ตนจึงได้เร่งรัดให้สำนักงาน ก.ค.ศ.แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบต่อไป

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสารสำคัญที่อยู่ในคู่มือดังกล่าว ประกอบด้วย คำชี้แจงการประเมิน, หลักเกณฑ์และวิธีการให้มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ ตลอดจนคำชี้แจง คำอธิบายตัวบ่งชี้ กรอบการประเมินและแบบประเมินทั้งด้านที่ 1-3 โดยมีกรอบการประเมิน ดังนี้ 1.ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยพิจารณาการมีวินัย การประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม ความรักและศรัทธาในวิชาชีพ และความรับผิดชอบในวิชาชีพ 2.ด้านความรู้ความสามารถ แบ่งเป็น ส่วนที่ 1 การเป็นผู้มีความสามารถในสายงานการสอน พิจารณาจากการเป็นผู้มีความสามารถด้านการจัดการเรียนการสอน สายงานบริหารสถานศึกษา พิจารณาจากการเป็นผู้มีความสามารถด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา สายงานบริหารการศึกษา พิจารณาจากการเป็นผู้มีความสามารถด้านการบริหารและการจัดการศึกษา และสายงานนิเทศการศึกษา พิจารณาจากการเป็นผู้มีความสามารถด้านการนิเทศการศึกษา ได้แก่ การจัดทำ การใช้และการนำสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ การวิเคราะห์ สังเคราะห์และการวิจัยทางการศึกษา และการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการนิเทศการศึกษา

ส่วนที่ 2 การพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะ พิจารณาจากการเข้าร่วมประชุม การอบรมสัมมนา การศึกษาดูงาน การศึกษาเพิ่มเติม หรือด้วยวิธีการอื่นๆ การประมวลความรู้ในการพัฒนาองค์กรและวิชาชีพ เป็นต้น

นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า 3.ด้านผลงานการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น ส่วนที่ 1 ผลการพัฒนาคุณภาพ จำแนกเป็น สายงานการสอน พิจารณาจากการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผลการพัฒนาผู้เรียนด้านอื่นๆ ปริมาณและสภาพของงาน สายงานบริหารสถานศึกษา พิจารณาจากผลการพัฒนาคุณภาพในการบริหารจัดการสถานศึกษา ได้แก่ ผลที่เกิดกับผู้เรียน ครู สถานศึกษา ชุมชนและท้องถิ่น ปริมาณและสภาพของงาน สายงานบริหารการศึกษา พิจารณาจากผลการพัฒนาคุณภาพในการบริหารและการจัดการศึกษา ได้แก่ ผลการพัฒนาที่เกิดกับผู้เรียน บุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา หน่วยงาน และความพึงพอใจของสถานศึกษา และสายงานนิเทศการศึกษา พิจารณาจากผลการพัฒนาคุณภาพการนิเทศการศึกษา ได้แก่ ผลที่เกิดกับครู ผู้เรียน สถานศึกษา และระบบการจัดการศึกษาของสถานศึกษา และส่วนที่ 2 ผลงานทางวิชาการ พิจารณาจากคุณภาพ และประโยชน์ของผลงานทางวิชาการ

ไม่มีความคิดเห็น: