วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความคืบหน้า ช.พ.ค.6

กรณีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) มีแนวคิดร่วมมือกับสถาบันการเงิน และบริษัทประกันภัย จัดทำโครงการปล่อยเงินกู้แก่สมาชิกกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกช.พ.ค.ชั้นดี วงเงินให้กู้สูงสุด 3 ล้านบาท ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ย MLR 5.70 และโครงการปล่อยเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.6 จะเริ่มต้นเดือนสิงหาคมที่จะถึง โดยขยายวงเงินปล่อยกู้จากเดิมสูงสุดรายละ 600,000 บาท เพิ่มเป็น 1,200,000 บาท ซึ่งอาจต้องปรับเพิ่มการเก็บเงินค่าสงเคราะห์ศพสมาชิก ช.พ.ค.จากศพละ1 บาท เป็น 1.50 บาท หรือจากที่เก็บอยู่เดือนละประมาณ 400 บาท เพิ่มเป็น 600 บาท เพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงวงเงินปล่อยกู้ที่สูงขึ้นดังกล่าวโดยทั้งสองโครงการกำหนดให้สมาชิกผู้กู้ต้องทำประกันเงินกู้ด้วย ท่ามกลางเสียงวิจารณ์โจมตีจากคนในแวดวงการศึกษาที่ต่างไม่เห็นด้วย เพราะถือเป็นการกระตุ้นการสร้างมูลหนี้ให้กับครูเพิ่มมากขึ้นซึ่งในปัจจุบันมีมูลหนี้ครูทั่วประเทศรวมไม่น้อยกว่า1.5 แสนล้านบาทแล้ว อีกทั้งยังมีข้อครหาเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงที่จะได้รับจากสถาบันการเงินและบริษัทประกันภัยด้วย
ล่าสุดนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้นโยบายไว้ชัดเจนว่ากำลังให้นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ปลัด ศธ. และประธานคณะกรรมการ สกสค. รวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาถึงความเหมาะสมของการดำเนินโครงการเงินกู้พัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกช.พ.ค.ชั้นดี และโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.6 ดังกล่าว เช่น โครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.1-5 ที่ผ่านมา ได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูได้มากน้อยแค่ไหนถ้ายังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ก็ไม่ตรงกับนโยบายที่กำหนดไว้ ซึ่งต่อมานายวัฒนา วรรณโสภา รองเลขาธิการ สกสค. กล่าวยอมรับว่า สกสค.ยังไม่มีข้อมูลตอบได้ว่า ผลการดำเนินโครงการเงินกู้สมาชิกช.พ.ค. โครงการที่ 1-5 ที่ผ่านมา ทำให้จำนวนหนี้สินครูลดลงไปหรือไม่นั้น
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นายชินวรณ์ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ สกสค.ยังไม่ได้เสนอโครงการปล่อยเงินกู้ขึ้นมาที่ตน แต่ตนก็ได้แต่งตั้งคณะทำงานที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นระบบแล้ว และเมื่อได้ข้อสรุปก็จะนำไปเสนอต่อกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.ดอกเบี้ยต้องต่ำกว่าที่เคยปล่อยกู้ 2.การดำเนินการต้องร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ กระทรวงการคลังศธ. และ สกสค. และ 3.เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นระบบร่วมกับหลายหน่วยงานแล้วจะส่งสัญญาณให้ สกสค.ล้มเลิกการเสนอโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.6 หรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่าโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.6 ยังไม่ได้มีการเสนอเข้ามาและที่ผ่านมาตนคิดว่าได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากแล้วยืนยันว่าการแก้ปัญหาหนี้สินครูต้องยึดตามนโยบายของตนเท่านั้น ทั้งนี้ ตนยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู
นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาหนี้สินครู เพราะเรื้อรังมายาวนาน แต่ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาส่วนใหญ่มองว่า ถ้าปล่อยเงินกู้ให้กับครูแล้วจะแก้ปัญหาได้ แต่ในความเป็นจริงกลับยิ่งสร้างภาระหนี้สินให้กับครูมากขึ้น โดยเฉพาะถ้า สกสค.ยังปล่อยให้สมาชิก ช.พ.ค.กู้เงินโดยไม่ได้พิจารณาถึงความจำเป็น ก็จะยิ่งเป็นการสร้างภาระหนี้สินให้กับครูมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อให้ สกสค.เพิ่มวงเงินให้กู้สูงขึ้นแต่ถ้ายังใช้หลักเกณฑ์เดิมๆ คือยึดคุณสมบัติโดยภาพรวมว่าสมาชิกมีสิทธิและเงินเดือนตามที่กำหนดก็สามารถยื่นกู้ได้ โดยไม่มีการกลั่นกรองคุณสมบัติที่รอบคอบ เหมือนกับการกู้เงินจากสถาบันการเงินเอกชน จะทำให้คนที่มีสิทธิแต่ไม่มีความจำเป็น แห่เข้ามากู้เงิน ซึ่งตนเชื่อว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สินครูได้ แต่กลับจะสร้างปัญหาให้กับครูมากยิ่งขึ้น
ด้านนายวัฒนากล่าวถึงกรณีนายเฉลียวระบุว่าการยุติหรือชะลอโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.6 ให้เป็นเรื่องของผู้บริหาร สกสค.คิดเอาเอง เพราะมีวุฒิภาวะกันแล้วว่า เรื่องนี้ตนจะไม่ขอพูด ขอให้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ตัดสินใจกันว่า จะทำอย่างไรต่อ เพราะตนโดนตำหนิมามากแล้ว และที่สำคัญโครงการเงินกู้ช.พ.ค.6 ก็ยังไม่ได้ทำเลย
อนึ่ง นายชินวรณ์เคยให้สัมภาษณ์หลังการประชุมผู้บริหาร 5 องค์กรบริหารหลักของ ศธ. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า "ที่ประชุมได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาชีวิตครูทั้งระบบ เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขหนี้สินครูทั้งระบบ เนื่องจากมีประเด็นที่ สกสค.ได้มีข้อเสนอให้จัดทำโครงการปล่อยเงินกู้สมาชิกช.พ.ค.6 ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้สินครูเป็นไปตามนโยบายของตนจึงจำเป็นต้องตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาชีวิตครูทั้งระบบดังกล่าว"

--มติชน ฉบับวันที่ 24 มิ.ย. 2553

ไม่มีความคิดเห็น: