วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การจัดตั้ง กศน.ตำบล

การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๓
รมว.ศธ.เปิดเผยว่า คณะกรรมการชุดนี้ มีขึ้นตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อเป็นคณะกรรมการเชิงยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้จัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต และนำไปสู่กระบวนการสร้างภาคีเครือข่ายให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยที่ประชุมได้พิจารณานโยบายสำคัญ ดังนี้

การจัดตั้ง กศน.ตำบล
ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ราคาถูก โดยมีเป้าหมายจะจัดตั้ง กศน.ตำบล จำนวน ๗,๔๐๙ แห่งภายในปี ๒๕๕๓ ซึ่งจะร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย โดยองค์การบริหารส่วนตำบล กระทรวงสาธารณสุข โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยศูนย์ ICT ชุมชน ซึ่งภารกิจของ กศน.ตำบล คือ การจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, เป็นศูนย์บริการสร้างซ่อมเพื่อชุมชน, เป็นศูนย์สนับสนุนสื่อทางไกล เช่น Student Channel, ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านทางสื่อต่าง เช่น อินเทอร์เน็ต ดาวเทียม, ส่งเสริมการอ่าน, ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ กศน.ตำบลว่า ควรมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในแต่ละพื้นที่ และเพื่อตอบสนองต่อการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ กศน.ตำบลยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่จัดการศึกษาโดยพนักงานหรือครูการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อให้เป็นการศึกษาที่สนองตอบต่อความต้องการ และความจำเป็นของท้องถิ่นอย่างแท้จริง

โครงการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
ซึ่ง ศธ.ได้ประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ที่ประชุมได้มีมติให้โครงการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมมีส่วนในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายที่กำหนดไว้ในการพัฒนาการอ่านและการเรียนรู้หนังสือ คือ ประชากรวัยแรงงานเป็นผู้รู้หนังสือเพิ่มขึ้นจาก ๙๗.๒๑% เป็น ๙๙% ประชากรไทยอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป สามารถอ่านออก เขียนได้ เพิ่มจาก ๙๒.๖๔% เป็น ๙๕% และค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือของคนไทยเพิ่มจากปีละ ๕ เล่ม เป็นปีละ ๑๐ เล่มต่อคนต่อปี นอกจากนี้จะส่งเสริมการเพิ่มแหล่งการอ่านให้ครอบคลุมทุกตำบล ทุกชุมชน และจะสร้างภาคีเครือข่าย เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน และสิ่งสำคัญคือ รมว.ศธ.ได้เสนอให้คณะกรรมการร่วมกันขับเคลื่อนให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง โดยให้เชื่อมโยงกับ กศน.ตำบล ห้องสมุด ๓ดี โรงเรียนดีประจำตำบล อาสาสมัครรักการอ่าน และอาสาสมัครด้านอื่นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ในหลายช่องทาง ให้ได้มากที่สุด.

ไม่มีความคิดเห็น: