วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ศรีเทพ-ผาแต้ม เสนอขึ้น มรดกโลก

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ที่มี นายไตรรงค์สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีวาระการพิจารณาการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อบรรจุในบัญชีเบื้องต้นของมรดกโลก (Tentativelist) ตามที่คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้รายงานผลการศึกษา เบื้องต้น ต่อคณะกรรมการแห่งชาติฯ

ประกอบด้วย แหล่งวัฒธรรม 7 แหล่ง คือ 1. เส้นทางวัฒนธรรมไชยา นครศรีธรรมราช สทิงพระ ยะรัง ไทรบุรี (เคดาห์) 2. แหล่งโบราณคดีเมืองเก่าเชียงแสน และสุวรรณโคมคำ 3. แหล่งวัฒนธรรมล้านนา 4. ภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา 5. กลุ่มสถาปัตยกรรมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 6. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดพระบรมธาตุ) จ. นครศรีธรรมราช และ 7. พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม

นอกจากนั้น อนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมยังได้เสนอแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ที่เป็นเมืองเก่าเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น 3 แหล่ง ได้แก่ 1. เมืองโบราณพิษณุโลก จ.พิษณุโลก 2. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และ 3. แหล่งภาพเขียนสีผาแต้มโขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยคณะกรรมการแห่งชาติฯ ได้มอบหมายให้อนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ไปศึกษาวิจัยแหล่งวัฒนธรรม ทั้ง 7 แหล่ง และเมืองเก่า 3 แหล่งที่มีศักยภาพในการเสนอขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น โดยจัดการสัมมนาทางวิชาการ เผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนและจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วนว่าจะมีความเป็นไปได้ในการดำเนินเรืองนี้อย่างไรบ้างก่อนการเสนอขึ้นบัญชีต่อศูนย์มรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการจัดทำเอกสารประกอบการเสนอขอขึ้นเป็นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทาง วัฒนธรรม (Nomination document) ของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศรายชื่อในบัญชีรายชื่อ เบื้องต้น แล้วจำนวน 2 แหล่งเพื่อเสนอต่อศูนย์มรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่จะมีขึ้นในปี 2554ได้แก่ 1. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี และ 2. เส้นทางวัฒนธรรมปราสาทพิมายปราสาทพนมรุ้ง และประสาทเมืองต่ำ ซึ่งทั้ง 2 แหล่งนี้มีความพร้อมในการเสนอ ขึ้นเป็นมรดกโลกแล้ว โดยคณะกรรมการแห่งชาติฯ ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและไปทำความเข้าใจกับท้องถิ่น และประชาชน ภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องมรดกโลกพร้อมทั้งจัดทำแผนการบริหารจัดการให้เกิดความชัดเจน รวมทั้งเตรียมบุคคลากรของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้พร้อมทั้ง เชื่อมโยงองค์ความรู้กับหน่วยงานและองค์กรระดับต่างประเทศในอนาคต.

ไม่มีความคิดเห็น: