วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เขตพื้นที่การมัธยมศึกษาใกล้คลอด

ความคืบหน้าการแบ่งเขตพื้นที่ประถมศึกษา-มัธยมศึกษา ตามที่ศธ.เห็นควรให้ปรับรูปแบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเสนอแก้ไขกฎหมาย 3ฉบับ ขณะนี้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติแล้ว รอเพียงนายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำเนินการภายใน 20 วัน...

นายวิทยา บริบูรณ์ทรัพย์ ผอ.ร.ร.โยธินบูรณะ ในฐานะนายกสมาคมครูมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยความคืบหน้าการแบ่งเขตพื้นที่การประถมศึกษาและเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นควรให้ปรับปรุงรูปแบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเสนอแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และ พ.ร.บ.ครูและบุคลากรทางการศึกษา ขณะนี้ได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติแล้ว รอเพียงนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำเนินการภายใน 20 วัน

นายวิทยากล่าวว่า เขตพื้นที่การศึกษาใหม่จะแบ่งเป็นเขตพื้นที่การประถมศึกษา และเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา โดย 185 เขตที่มีอยู่เดิมจะเป็นเขตพื้นที่การประถมศึกษาทั้งหมด ส่วนเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาจะเกิดขึ้นตามความเหมาะสมโดยผ่านความเห็นขอบของสภาการศึกษาและเสนอ รมว.ศึกษาธิการประกาศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ศธ. ได้เตรียมความพร้อมโดยตั้งศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษาทั่วประเทศ 41 ศูนย์รองรับแล้ว ส่วนจะมีกี่เขตนั้นต้องรอประกาศอีกครั้ง โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาจะใช้สำนักงานเดิมที่มีอยู่ เช่น สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัด สำนักงานประถมศึกษา และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นต้น โดยจะไม่มีการลงทุนจัดสร้างสำนักงานใหม่ ส่วนบุคลากรก็จะเกลี่ยในพื้นที่เดิมที่ดูแลโรงเรียนมัธยมศึกษา

ที่มา นสพ.ไทยรัฐ 10 มิถุนายน พ.ศ.2553

เงินกู้ครู 3 ล้าน

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการเป็นประธานประชุมสมัชชาครู เรื่อง การสร้างขวัญและกำลังใจครูและบุคลากรทางการศึกษา โครงการพัฒนาคุณภาพสมาชิก ช.พ.ค. จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ว่า ตนอยากเห็น สกสค.ดูแลเพื่อนครูทั่วประเทศ มีการบริหารจัดการรูปแบบใหม่เพื่อเป็นแหล่งพักพิงขององค์กรครู ที่จะเป็นภาคีเครือข่ายการปฏิรูปการศึกษา และตนพร้อมจะขับเคลื่อนให้เกิดสวัสดิการที่สูงขึ้นเพื่อครู โดยจะวางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นระบบ เป้าหมายคือ หากครูจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ต้องให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าที่กู้ ตนคิดดูแล้วหากครูมีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 5 แสนบาท มีครูเป็นหนี้ 3 แสนคนจะต้องใช้เงิน 1.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ การจัดระบบจะให้ สกสค.ประสาน กระทรวงการคลัง และเครือข่ายพัฒนาชีวิตครูมามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาหนี้สินครู โดยให้ สกสค.บริหารจัดการเพื่อดูแลให้ครูมีความสามารถในการใช้หนี้สินคืน ซึ่งตนจะสนับสนุนให้ สกสค.ดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด และตอนนี้ตนก็ดีใจว่าครูและสังคมเริ่มยอมรับว่าการนำเงิน ช.พ.ค.ที่เป็นเงินฝากไว้เพื่ออนาคตมาทำโครงการให้ครูได้กู้ยืม ต้องทำประกันเพื่อเป็นหลักประกันให้ทายาท

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสว่าสำนักงาน สกสค.จะจัดโครงการช.พ.ค.ปล่อยกู้ให้สมาชิกรายละ 3 ล้านบาทนั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจากเลขาธิการ สกสค.ว่า ยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ แต่จะรอนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นระบบ โดยจะนำโครงการมารวมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

รายงานข่าวแจ้งว่า เดิมการประชุมครั้งนี้สำนักงาน สกสค.จะจัดให้มีการลงนามความร่วมมือในการกู้เงินกับธนาคารออมสินให้แก่สมาชิก ช.พ.ค.สูงสุดรายละ 3 ล้านบาท โดยมีนายชินวรณ์เป็นประธาน แต่ได้มีการสั่งชะลอออกไปก่อน เพราะนายชินวรณ์เกรงว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในความไม่เหมาะสม เนื่องจากโครงการนี้จะกำหนดให้ผู้กู้ต้องทำประกันชีวิตเพื่อประกันหนี้สินด้วย และจะเป็นการสร้างหนี้ให้ครูเพิ่มขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: