วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ยุทธศาสตร์การผลิตและการพัฒนากำลังคน

ยุทธศาสตร์และมาตรการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๖๑)

สภาการศึกษาได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและนำเสนอยุทธศาสตร์มาตรการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ มีการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อการรับรองสมรรถนะความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน มีการพัฒนาระบบการจ้างงานและกำหนดเงินเดือน/ค่าตอบแทนตามสมรรถนะ ขยายการศึกษาระบบทวิภาคี สหกิจศึกษา และการฝึกงานให้มากขึ้น สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา:สามัญศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็น ๖๐:๔๐ ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ ๙ ด้านดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ : ปฏิรูประบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน (demand-driven) และเอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning)

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ : พัฒนาคุณภาพกำลังคนทุกระดับ

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ : เร่งผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาให้มีปริมาณและคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการ

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ : ผลิตและพัฒนากำลังคนโดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ : ฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อยกระดับความสามารถกำลังแรงงาน

ยุทธศาสตร์ที่ ๖ : เสริมสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการผลิตและบริการที่เชื่อมโยงกับการพัฒนากำลังคน

ยุทธศาสตร์ที่ ๗ : สร้างเสริมความเข้มแข็งให้ครู คณาจารย์ และผู้บริหารสถาบันการศึกษา

ยุทธศาสตร์ที่ ๘ : พัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ ๙ : สร้างระบบความร่วมมือและเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคน


ศธ.เตรียมจัดประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 5 ในโอกาสวันครูโลก

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ เพื่อเตรียมการจัดงานการประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5 ในโอกาสวันครูโลก เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ว่า ในปีนี้ สอศ.เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานในหัวข้อ “การศึกษาเพื่อโลกอาชีพ (Education for the World of Work)” ระหว่าง 26-28 สิงหาคม นี้ ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิด เวลา 10.00-1200 น. จะมีการถ่ายทอดสดทาง modern nine TV และในค่ำวันเดียวกัน จะมีพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคล ด้วย

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบรูปแบบการจัดงานออกเป็น 3 ส่วน คือ- ส่วนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ที่เน้นความเป็นครู ของพระบรมวงศานุวงศ์- ส่วนการประชุมทางวิชาการ โดยผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ/นานาชาติ- ส่วนการจัดแสดงนิทรรศการ ผลงาน การประกวดการแข่งขันทักษะนานาชาติ รมว.ศธ. กล่าวเน้นย่ำว่า ต้องการให้นักศึกษาระดับอาชีวะและอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนเข้ามาชมงานมากขึ้น เพราะต้องการให้นักศึกษาได้รับรู้เกี่ยวกับโลกของอาชีพ ที่เป็นหัวข้อการจัดงานในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมทางวิชาการ วันละ ๓,๐๐๐ คน และผู้เข้าชมงานมากกว่า ๓๐,๐๐๐ คน โดยเฉพาะนายกสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ได้ยืนยันแล้วว่า จะมีนักศึกษาอาชีวะเอกชนเข้ามาร่วมงานอย่างเต็มที่ และสถานศึกษาทุกสังกัดของรัฐยืนยันแล้วว่า จะมีหนังสืออนุญาตให้มาราชการในครั้งนี้ได้โดยไม่ถือเป็นวันลา

ด้านนางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของครูผู้สอนก็ต้องให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมชมงาน เพราะมีส่วนสำคัญต่อการสอนด้านอาชีพ และการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา รวมทั้งจะเป็นภาพพจน์ต่อการจัดงานในระดับนานาชาติด้วย นอกจากนั้น จะช่วยเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนจากสายอาชีพ และสายสามัญเป็น 60:40 ภายในปี 2561 เมื่อสิ้นสุดการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

ศธ.ผุดห้องวิทย์ในโรงเรียนชนบท

นายกฯไฟเขียวงบ300ล.สร้างห้องวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน800อำเภอทั่วประเทศ ประเดิม100แห่งแรกปีการศึกษาหน้า
นายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการเปิดเผยว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรี เห็นชอบจัดสรรงบประมาณ 300ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการสร้างห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน 800 อำเภอทั่วประเทศ และจะเริ่มนำร่องโครงการนี้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 จำนวน 100 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะได้รับเงินสนับสนุนแห่งละ 3 ล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกโรงเรียนในชนบทที่จะเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เข้าถึงระบบการศึกษาที่เท่าเทียมกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนสาธิตของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ

นายไชยยศ กล่าวต่อว่า ภายในเดือนต.ค.ต้องได้รายชื่อโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการที่มีความพร้อมโดยเฉพาะในการรองรับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงระบบใยแก้วนำแสงโครงข่ายของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือสกอ.เนื่องจากห้องเรียนวิทยาศาสตร์จะเป็นห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ มีการสื่อสารสองทาง มั่นใจว่า โครงการนี้จะเกิดประโยชน์กับเด็กและครูในชนบท รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาในระยะยาวด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: