วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ผลการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ ๘/๒๕๕๓

รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้พิจารณาเรื่องการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่ง ผอ.สพท. รอง ผอ.สพท. และผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด เนื่องจาก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ๓ ฉบับ ได้มีผลต่อการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีการกำหนดตำแหน่ง ผอ.สพท.ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาขึ้นใหม่

โดยเห็นควรว่าต้องมีการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่ง ให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าวได้นั้น ต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี หรือดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษาที่มีวิทยฐานะ ผอ.ชำนาญการพิเศษมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี หรือดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สถานศึกษาที่มีวิทยฐานะรอง ผอ.เชี่ยวชาญ สามารถเข้าสู่ระดับเงินเดือนเริ่มต้นที่อันดับ คศ.๔

สำหรับตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สพท. นอกจากการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี แล้ว หรือต้องดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา ซึ่ง ผอ.สถานศึกษา สามารถสอบเลื่อนขั้นเป็น รอง ผอ.สพท.ได้ ต้องมีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการตั้ง อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กทม.ทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กทม. เพื่อบริหารงานบุคลากรของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีองค์ประกอบ ๑๐ คน มี ผอ.สพท.ประถมศึกษา กทม.เป็นประธาน เนื่องจากมีการยุบเขตพื้นที่การศึกษา กทม.จาก ๓ เขต ให้เหลือเพียงเขตเดียว จึงต้องตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขึ้นมา ภายในระยะเวลา ๑๘๐ วัน จนกว่าจะมีการตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ส่วน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาอื่นก็ให้เป็นไปตามกฎหมายเดิม

รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณา (ร่าง) กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ก.ค.ศ. พ.ศ. .... โดยที่ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้กำหนดองค์ประกอบของ ก.ค.ศ. ในส่วนของกรรมการผู้แทนข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ จากเดิม ๙ คน เป็น ๑๒ คน จากเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ได้แก่

(๑) ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน ๑ คน
(๒) ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน ๑ คน
(๓) ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในหน่วยงานการศึกษา ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ซึ่งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน ๑ คน
(๔) ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในหน่วยงานการศึกษา ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ซึ่งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน ๑ คน
(๕) ผู้แทนข้าราชการครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน ๓ คน
(๖) ผู้แทนข้าราชการครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน ๑ คน
(๗) ผู้แทนข้าราชการครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน ๑ คน
(๘) ผู้แทนข้าราชการครู สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม จำนวน ๑ คน
(๙) ผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน ๑ คน
(๑๐) ผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน ๑ คน

รมว.ศธ. กล่าวว่า เนื่องจากองค์ประกอบดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมบางหน่วยงาน เช่น กศน. และการศึกษาพิเศษ ที่ประชุมจึงขอให้ อ.ก.ค.ศ.ระบบไปศึกษาเรื่องนี้ และนำกลับมาเข้าที่ประชุม ก.ค.ศ. ใหม่อีกครั้งหนึ่ง และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาตามพระราชบัญญัติทั้ง ๓ ฉบับ มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการปรับปรุงการบริหารงานบุคคล เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมายในช่วงเวลา ๑๘๐ วัน จึงได้มีการตั้งคณะทำงานชุดหนึ่ง เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงานรองรับกฎหมายทั้ง ๓ ฉบับต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: