วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นปัจจัยความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง

เมื่อวันที่ 11 ก.ย.53 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จัดประชุม เรื่อง แนวปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2553 ณ โรงแรมทวิน โลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกระดับ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ 1,800 คน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน

นางสาวสุทธาสินี วัชรบูล รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) องค์กรมหาชน ได้ยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยระบบหลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. .... ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 ประกอบกับได้มีการปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา ภายในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2546 ซึ่งบังคับใช้มานานแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 จึงได้กำหนดกรอบแนวคิดให้จัดทำกฎกระทรวงดังกล่าวให้เป็นภาพรวม และนำสาระสำคัญ ด้านการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งภายในและภายนอก มารวมไว้ในฉบับเดียวกัน โดยได้ดำเนินการตามนิติบัญญัติมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สำนักงานฯ จึงได้จัดประชุมเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจ และกำหนดแนวปฏิบัติในการพัฒนา ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งภายในและภายนอก เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือ และเห็นความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่ต้องการเห็นคุณภาพของผู้เรียนเป็นหลัก การประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอกจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่จะทำให้เห็นความก้าวหน้าของการจัดการศึกษาและการบริหารการศึกษาของแต่ละสถานศึกษาในแต่ละระยะได้อย่างชัดเจน

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวเปิดการประชุมว่า การประกันคุณภาพการศึกษาถือเป็นเป้าหมายสำคัญของชาติบ้านเมือง ซึ่งทุกคนควรได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน เพราะถ้าคนไทยไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ อนาคตประเทศชาติจะอยู่ในสภาพอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยจะเปิดเสรีทางการค้า การศึกษากับอาเชี่ยนในปี 2558 คนไทยจะต้องมีศักยภาพที่จะแข่งขันกับชาวโลกได้ นอกจากนี้ ในการยกระดับคุณภาพการศึกษานั้น รัฐบาลได้มีนโยบายผลักดัน เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กขป.) และคณะอนุกรรมการ 6 คณะ เพื่อดำเนินการผลักดันและขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองให้สำเร็จ โดยกระทรวงศึกษาธิการในฐานะเจ้าภาพหลักในการจัดการศึกษาของชาติได้ดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ถ้าดำเนินการตามที่วางแผนไว้ การปฏิรูปการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาจะทำให้คนไทยมีคุณภาพ และได้เรียนรู้ตลอดชีวิตตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้บัญญัติไว้

รมว.ศธ.กล่าวว่า การประกันคุณภาพการศึกษาถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และเป็นเป้าหมายหลักในการจัดการศึกษาของชาติ ซึ่งทุกคนควรจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยจะเปิดเสรีทางการค้า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนภายในปี ๒๕๕๘ คนไทยจะต้องมีศักยภาพที่จะแข่งขันกับนานาประเทศได้ ขณะนี้ได้มีการเตรียมการในเรื่องนี้ โดย รมว.ศธ.ได้ลงนามเรื่องระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการการประกันคุณภาพการศึกษา เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๓ ซึ่งมีจุดเน้น ๔ เรื่อง ได้แก่

1. การประกันคุณภาพภายในและภายนอก ซึ่งต้องดูแลการประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้สอดคล้องกันในการพัฒนาระบบเชิงคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง

2. การมีส่วนร่วม เมื่อมีการประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอกแล้ว จะต้องมีการประเมินผล และนำผลการประเมินประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อให้ได้มีส่วนร่วมรู้ผลการประเมินคุณภาพสถานศึกษาด้วยว่า ขณะนี้สถานศึกษาของเรามีผลการดำเนินงานอย่างไรบ้าง

3. ผลการประเมินคุณภาพการศึกษา ต้องสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามเป้าหมาย คือ เพิ่มเป็นร้อยละ ๕๐ ในทุกสาระวิชาในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าจะต้องเกิดขึ้นจริง ขณะนี้ ศธ.ได้จัดปัจจัยต่างๆ ไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ ที่ต้องการให้นักเรียนได้รับโอกาสอย่างแท้จริง เมื่อนักเรียนมีความพร้อม ประกอบกับการสอนของครู และการบริหารจัดการมีความพร้อมมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงกับผู้ปกครองได้ ก็จะทำให้คุณภาพเกิดกับผู้เรียนอย่างแท้จริง

4. ทิศทางการประกันคุณภาพการศึกษา ควรนำไปสู่เป้าหมายเรื่องคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เช่น การประเมินเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผู้ที่จะได้รับรางวัลจากโครงการต่างๆ หรือผู้ที่จะสามารถผ่านการประเมินได้ จะต้องวัดที่คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กด้วย

สกศ. เน้นใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2553 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง รูปแบบการพัฒนาศักยภาพครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้เรียนในการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต ณ ห้องกรุงธนบอลร์รูม โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ
นางสาววัฒนา อาทิตย์เที่ยง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและโอกาสทางการศึกษา กล่าวรายงานว่า การวิจัยรูปแบบการพัฒนาศักยภาพครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้เรียนในการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการวิจัย 3 ประเด็น ได้แก่ 1. เพื่อศึกษาวิจัยประเด็นการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองด้านการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2. เพื่อศึกษาหารูปแบบการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาศักยภาพครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียนในสถานศึกษา 3. เพื่อพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในการผลิตหรือสร้างบทเรียน สื่อเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้
ในการดำเนินการวิจัย ได้มอบหมายให้คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โดยมี ดร.พิสุทธา อารีราษฎร์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัยและรับผิดชอบในการจัดอบรมครู บุคลากรทางการศึกษา 4 ภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมพัฒนาให้ครู บุคลากรทางการศึกษามีความรู้ มีทักษะ สามารถใช้เทคโนโลยีผลิตและสร้างสรรค์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพรวมจำนวนทั้งสิ้น 240 คน
นางสาวสุทธาสินี วัชรบูล รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุมสัมมนาว่า การดำเนินการวิจัยในครั้งนี้มีข้อแตกต่างไปจากการดำเนินการวิจัยอื่นๆ ตรงที่เป็นการวิจัยที่มีการดำเนินการใน 4 ภูมิภาค ผลผลิตจากการวิจัยก็มิใช่เป็นเพียงแค่การได้รับเอกสารรายงานการวิจัยและข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัยที่เป็นนามธรรมเหมือนที่ผ่านมา หากแต่เป็นการวิจัยที่มีผลผลิตจากกระบวนการวิจัยที่มีการปฏิบัติ และทดลองจริงครบถ้วนในทุกภูมิภาค
“ผลสรุปที่ได้รับจากการวิจัยจะมีผลที่น่าพอใจแต่สิ่งที่ สกศ. ต้องการมากก็คือ หลังจากทุกท่านซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ได้รับฟังผลการดำเนินการศึกษาวิจัย หากมีประเด็นที่เห็นว่าสมควรต้องปรับปรุงแก้ไขที่จะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาการศึกษาของชาติ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่เพื่อที่นักวิจัยจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขรายงานวิจัยให้ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดต่อไป” นางสาวสุทธาสินี กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: