วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

มิติใหม่ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

รมว.ศธ. กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองมีความชัดเจนในเรื่องการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต โดยเน้นในเรื่องคุณภาพ โอกาสในการมีส่วนร่วม ที่สำคัญที่สุดคือ การจัดการศึกษายุคใหม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ต้องการพลเมืองยุคใหม่ ครูยุคใหม่ ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษา สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ การบริหารจัดการยุคใหม่ โดยกำหนดกรอบวิสัยทัศน์ เป้าหมายตัวชี้วัดที่ชัดเจน ศธ. ได้มีคณะกรรมการการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ซึ่งได้ทำแผนปฏิบัติการที่กำหนดให้องค์กรหลักต่างๆ มีความรับผิดชอบในฐานะเจ้าภาพหลัก เจ้าภาพรอง เพื่อดำเนินการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีแนวทางพัฒนาการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษา ดังนี้

� ให้ทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นในการปฏิรูปการศึกษา และสังคมต้องชูธงร่วมกัน เพราะเรื่องการศึกษาเป็นการสร้างคน ต้องทำให้คนในสังคมเห็นความสำคัญในการดำเนินการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เสมอภาค ผู้เรียนได้รับโอกาสอย่างทั่วถึง และที่สำคัญทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม

� ครู เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ ดังนั้นจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการวางระบบที่จะผลิตครู พัฒนาครู การใช้ครู ตลอดจนการพัฒนาระบบค่าตอบแทนให้กับครู การดึงคนเก่ง คนดี มาเป็นครู รวมถึงการยกระดับมาตรฐานและวิชาชีพของครูให้สูงขึ้น

� เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะช่วยสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และช่วยในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพตลอดชีวิต

ในส่วนของ ศธ. ได้มีการเตรียมการตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนจุดเน้นพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาผู้เรียนให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และเน้นในเรื่องคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ให้พลเมืองยุคใหม่ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เคารพกติกา เคารพผู้อื่น ภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความเป็นสากล ซึ่งจะมีกระบวนการ เป้าหมาย และตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่จะต้องดำเนินการต่อไป

มิติในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม

การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเป็นโจทย์สำคัญในการปฏิรูปการศึกษา ในทศวรรษที่สอง ศธ. ต้องรับผิดชอบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีผู้เรียนประมาณ ๑๒ ล้านคน ทั้งในระบบและนอกระบบ หรือ เด็กด้อยโอกาสต่างๆ จึงจำเป็นจะต้องวางเป้าหมายในการจัดการการศึกษาที่ชัดเจน เพื่อให้สังคมได้ตระหนักรู้ว่าต้องนำพาเยาวชนทั้ง ๑๒ ล้านคน ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า ให้เป็นพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพ โดยต้องทำเป็นองค์รวมทั้ง ครู การบริหารจัดการ มีสถานศึกษาที่รองรับนักเรียนในระบบ นักเรียนที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ ปรับสถานศึกษาไปสู่มาตรฐานสากล นักเรียนที่อยู่ในชนบท ก็จะมีโรงเรียนดีประจำอำเภอ นักเรียนที่อยู่ห่างไกล ก็จะมีโรงเรียนดีประจำตำบล และมีโรงเรียนขนาดเล็กที่จะเข้ามาดูแลชุมชนที่ห่างไกลหรือกลุ่มด้อยโอกาสอื่นๆ นอกจากนั้น ต้องมีการศึกษานอกโรงเรียนที่รองรับเด็กไม่มีโอกาส ให้ได้รับการศึกษา และการศึกษาทางเลือก ดูแลเด็กด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆด้วย เมื่อดูกลุ่มเป้าหมายทั้งระบบให้ครอบคลุมแล้ว ต้องมาดูที่กระบวนการ เป้าหมาย ตัวชี้วัดที่ชัดเจน และที่สำคัญต้องเปลี่ยนโครงสร้างกระบวนการเรียนรู้ ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปการเรียน การสอน ปฏิรูปการประเมินผล

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า การปรับโครงสร้างหลักสูตรครั้งสำคัญ ได้กำหนดร้อยละ ๗๐ เน้นเนื้อหาสาระวิชาต่างๆ และร้อยละ ๓๐ เน้นการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ต้องให้นักเรียนบำเพ็ญประโยชน์ ศาสนา มีส่วนร่วมกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี ฯลฯ จะบูรณาการให้เป็นจุดเน้นเรื่องการเรียนการสอนที่สำคัญ นอกจากนี้ ต้องเพิ่มการบริหารจัดการที่มาตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ครม.เห็นชอบการตั้ง สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เป็นองค์กรอิสระ เพื่อช่วยขับเคลื่อนในการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญในการสร้างภาคีเครือข่าย โดยต้องสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของสังคมทุกภาคส่วน ได้แก่ สื่อมวลชน ครอบครัว ชุมชน ผู้ปกครอง ฯลฯ เพื่อต้องการให้นักเรียนรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิรูปการศึกษายุคใหม่ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นไป ศธ. จะประกาศการพัฒนาคุณภาพ ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงการปฏิรูปการศึกษาที่มีความชัดเจน และสิ่งที่ประชาชนจะได้รับจากการปฏิรูปการศึกษา กระบวนการเรียนฟรีต้องมีคุณภาพอย่างไร กระบวนการพัฒนาโรงเรียน กระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลักสูตร รวมถึงการประเมินผลเพื่อนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ครั้งสำคัญจะเกิดขึ้นอย่างไร และจะมีการติดตามโครงการเหล่านี้เป็นระยะต่อเนื่อง เพื่ออาศัยทุกภาคส่วนมาเป็นแรงขับเคลื่อนให้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองเดินหน้าไปสู่เป้าหมายต่อไป

การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นระดับการศึกษาที่มีความสำคัญสูงสุด นักเรียนจะต้องค้นพบตนเองในการพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับทักษะชีวิต และทักษะด้านอาชีพ ที่ผ่านมาการศึกษาของไทยเน้นการส่งเสริมและต่อยอดให้กับคนเก่ง จึงทำให้การพัฒนาคนไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ต้องมาพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ การเปิดพื้นที่อย่างกว้างขวาง ให้เยาวชนแสดงอัจฉริยภาพในทุกด้านได้ นักเรียนทุกคนต้องได้รับการยอมรับในพื้นที่โรงเรียน และมีความสุขอยากมาโรงเรียน

ปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป มีมาตรการเชิงรุก ในวันศุกร์นี้จะประชุมคณะกรรมการที่ ครม. ให้ความเห็นชอบกันทุกกระทรวง ทบวง กรม ปัญหานักเรียนทะเลาะวิวาทไม่ใช่ปัญหาเกิดจากสถาบัน หรือการศึกษา แต่เป็นปัญหาจากพฤติกรรมวัยรุ่น ครอบครัว ยาเสพติด กลุ่มผลประโยชน์ ดังนั้น ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหานักเรียนเหล่านี้ ศธ. ยืนยันที่จะดูแลบุตรหลานของท่าน บูรณการหลักสูตร การปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างแท้จริง ซึ่งจะมีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะต่อไป

การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจริง ให้ชนบทมี กศน.ตำบล รายการวิทยุโทรทัศน์เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้ โดยมีสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการศึกษาตลอดชีวิตให้แก่ประชาชน กระบวนการทั้งหมดต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ ๑๐ ปีนี้

มิติใหม่ในการปฏิรูปการศึกษาสำหรับเด็กพิการมี ๒ นโยบาย คือ
๑. ให้เรียนฟรีตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับปริญญาตรี
๒. การเข้าไปช่วยเหลือเป็นรายบุคคล มีโรงเรียนเรียนร่วมสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และที่สำคัญคือ จัดให้มีโครงการให้บ้านเป็นครูคนแรกของเด็กพิการในการเรียนรู้ โดยมอบให้ สพฐ. เข้าไปดูแลเด็กเหล่านี้ให้มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น และได้เตรียมความพร้อมที่จะดำเนินการการศึกษาทางเลือกให้กับเด็กด้อยโอกาสประเภทต่างๆ รวมถึงเด็กพิการด้วยโดยไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียนก็ได้ ซึ่ง ศธ. จะจัดสื่อการเรียนการสอนถ่ายทอดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต สำหรับเด็กพิการประเภทต่างๆ การศึกษาทางเลือกถือว่าเป็นการศึกษาที่มีความสำคัญต่อไปในอนาคต เพื่อสนองตอบต่อกลุ่มนักเรียนที่ออกกลางคัน กลุ่มนักเรียนที่ออกเพราะต้องติดตามผู้ปกครองไปประกอบอาชีพ ตลอดจนกลุ่มนักเรียนที่ด้อยโอกาสต่างๆ จะให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สำหรับเด็กพิการต้องเริ่มต้นที่โรงเรียน ซึ่งต้องให้โอกาสแก่เด็กเหล่านี้อย่างเต็มที่ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ทางเดิน ทางเท้า สถานที่ ความปลอดภัย ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น: