วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"สพฐ"ตามสทศ.ให้ทัน

"สมพงษ์" เตือนข้อสอบ สทศ.ยังไม่นิ่ง ทำให้การจัดการเรียนการสอน ศธ.เพี้ยน ชี้หลักสูตรปรับตัวตามข้อสอบโอเน็ต GAT, PAT แต่วิธีการทดสอบประเมินผลยังเป็นแบบเดิม ส่งผลให้คะแนนทดสอบ GAT, PAT, ONET เด็กตกต่ำลงเรื่อยๆ
จากการระดมความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับองค์กรการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักวิชาการ ฯลฯ ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อหาแนวทางการดำเนินการนำจุดเน้นการพัฒนาผู้เรียนตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 สู่การปฏิบัติในระดับ รร.อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายเมื่อเร็วๆ นี้

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนมีความห่วงใยในเรื่องของการจัดการทดสอบระดับชาติไม่ว่าจะเป็นการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) ที่ต่อไปคะแนนของเด็กอาจจะต่ำลงกว่าเดิมจนน่าตกใจ เพราะมีการปรับการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับจุดเน้นการพัฒนาผู้เรียนตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนด ขณะที่ไม่ได้ปรับในเรื่องทดสอบให้สอดคล้องกัน ซึ่งข้อสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เองก็ยังไม่นิ่งมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา จึงอาจจะทำให้แนวทางการพัฒนาผู้เรียนไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้ ดังนั้น ศธ.จึงควรจะหารือร่วม สทศ.เพื่อปรับทิศทางการวัดผลประเมินผลกับการกำหนดจุดเน้นผู้เรียนให้ตรงกันด้วย

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากนี้ สพฐ.คงต้องมีการนัดประชุมร่วมกับ สทศ.เป็นวาระพิเศษเพื่อหาแนวทางให้ระบบการวัดผลประเมินผลที่จะต้องนำคะแนนไปใช้ในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางหรือแอดมิชชั่น ให้มีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ ศธ.กำลังดำเนินงาน เพราะหากเราปรับในเรื่องของจุดเน้นการเรียนการสอน แต่การวัดและประเมินผลยังไม่ปรับตามไปด้วยก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้
ที่มา : นสพ.ไทยโพสท์

"ร่วมมือช่วยน้อง..ให้อิ่มท้อง ๑๐๐%"

รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ. ให้ความสำคัญกับโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน เมื่อมีโอกาสได้ไปตรวจเยี่ยมสถานศึกษาก็จะติดตามโครงการนี้เป็นพิเศษ เด็กเล็กหากสุขภาพไม่ดี มีภาวะทุพโภชนาการ ก็ไม่สามารถเรียนหนังสือได้ดี ในช่วงที่ผ่านมา หลายโรงเรียนได้มีการจัดทำโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนให้มีความพร้อม ในอดีตบางโรงเรียนก็สามารถใช้งบประมาณร้อยละ ๓๐ ของนักเรียน ไปขยายผลให้นักเรียนทั้งโรงเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีประโยชน์ ต่อมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วม ทั้งในเรื่องงบประมาณและการมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงผู้ปกครองก็มีส่วนร่วมด้วย

รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในเรื่องโครงการอาหารกลางวันเป็นอย่างยิ่ง คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้นักเรียนได้รับงบประมาณโครงการอาหารกลางวันครบ ๑๐๐% และมีการปรับค่าใช้จ่ายรายหัวให้เป็นไปตามดัชนีค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากหัวละ ๑๐ บาท เพิ่มขึ้นเป็นหัวละ ๑๓ บาท นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้มีมติให้เพิ่มไอโอดีนลงไปในเกลือ ซอส น้ำปลา ให้เป็นไปตามสัดส่วนที่องค์การยูนิเซฟกำหนด เพื่อให้ไอโอดีนมีส่วนในการพัฒนาสมองของเด็กไทย ซึ่งได้เห็นความพยายามจากทุกภาคส่วน และรัฐบาลที่จะช่วยกันดูแลเด็กให้มีโอกาสได้อิ่มท้อง

ประเด็นที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้อิ่มท้อง อิ่มใจ อิ่มโภชนามัย และพัฒนาเด็กไทยให้ยั่งยืนต่อไป จากผลการวิจัยและสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า หลังจากที่มีโครงการอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) ขณะนี้เด็กไทยมีการพัฒนาทางด้านร่างกายดีขึ้นตามลำดับ แต่สิ่งที่ท้าทายต่อจากนี้คือ ทำอย่างไรให้งบประมาณที่จัดสรร เข้าไปช่วยเหลือเด็กต่างๆ ในพื้นที่ที่ขาดแคลน เด็กชายขอบ เด็กด้อยโอกาส ให้ได้รับอาหารกลางวันที่มีประโยชน์ ครบทุกหมู่

รมว.ศธ.กล่าวชื่นชมที่ได้มีความคืบหน้าในเรื่องนี้และขอให้การเสวนาวิชาการครั้งนี้ ต่อยอดไปถึงการอิ่มท้อง อิ่มใจ อิ่มโภชนามัย และพัฒนาเด็กไทยอย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยพัฒนาด้านร่างกาย สมอง อารมณ์ และสติปัญญา และโครงการดังกล่าวจะเป็นตัวบ่งชี้ให้เด็กที่มาเรียนในโรงเรียนแล้วมีความสุข

เมื่อเด็กเรียนจบแล้วก็มีความผูกพัน และเป็นพลเมืองที่มีความสุขต่อไป ซึ่งเป็นเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่ต้องการเห็นพลเมืองยุคใหม่ดีและมีความสุข โดยเริ่มจากการได้รับการดูแลทางด้านร่างกาย จิตใจที่สมบูรณ์ ซึ่งทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกัน เพื่อนำมาซึ่งการกำหนดเป็นนโยบายต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: