วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เสวนาโต๊ะกลมเรื่องการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน


รมว.ศธ.กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เมื่อคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน เกิดผลโดยตรงกับห้องเรียนและนักเรียน จึงจำเป็นต้องพิจารณาทักษะ ความรู้ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนในแต่ละระดับ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ว่าต้องได้รับการพัฒนาทางสมองอย่างไร ช่วงชั้นที่ ๑ ควรจะเป็นคนใฝ่ดีหรือใฝ่รู้ก่อน ช่วงชั้นที่ ๒ ฝึกอย่างไรให้อ่านคล่อง เขียนคล่อง ช่วงชั้นที่ ๓ เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วงชั้นที่ ๔ ทำให้เด็กได้ค้นพบตนเองและสื่อสารภาษาอังกฤษได้

ในระดับอาชีวศึกษา ศธ.จะเริ่มระบบการจัดการศึกษาเพื่อแยกนักเรียนที่ต้องการเรียนต่อสายอาชีวะ โดยเชื่อมต่อตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งอาชีวะก็จะต้องชัดเจนเรื่องคุณลักษณะของผู้เรียนสายอาชีวะ หลักสูตร การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ และสถาบันอาชีวะเพื่อขยายต่อการเป็นนักปฏิบัติการชั้นสูง สำหรับระดับอุดมศึกษา ต้องตอบโจทย์เรื่องเรียนจบแล้วต้องมีงานทำ เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบสูง และสามารถแข่งขันกับสังคมโลกได้

จากการระดมความคิดของผู้ทรงคุณวุฒิ องค์กรหลัก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารโรงเรียน และครู มีผลสรุปในเบื้องต้น ดังนี้

จุดเน้นการพัฒนาผู้เรียน ได้มีข้อเสนอแนะให้เริ่มที่ความเป็นพลเมือง วิถีชีวิตประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทักษะอาชีพให้มีจุดเน้นในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีแนวทางการนำไปสู่การปฏิบัติ ในด้านความดี ว่าต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น ใฝ่ดี แม้จะเน้นในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓ แต่จะต้องพัฒนาไปถึงระดับชั้นที่สูงขึ้น

การจัดการเรียนรู้ ได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ - ตารางเรียน ควรให้มีความยืดหยุ่นนำไปสู่การปฏิบัติ แต่มีความชัดเจนว่า จะพัฒนาให้เด็กเก่ง และมีความสมดุลได้อย่างไร - สัดส่วนเวลาเรียน ๗๐:๓๐ ใช้สื่อให้ชัดเจนตรงกันว่า ๗๐% เป็นการประกันว่าผู้เรียนจะครอบคลุมการจัดกิจกรรมได้ครอบคลุมหลักสูตร ๓๐% เป็นเวลาที่ให้กิจกรรมที่ได้รับการเลือกสรรแล้วว่า ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการแล้วว่า พัฒนาคุณลักษณะ และพัฒนาจิตสำนึก - จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กได้ฝึกทักษะอาชีพจากสถานประกอบการในอาชีพใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

สำหรับการสร้างแรงผลักดันนั้น ต้องขับเคลื่อนทั้งระบบให้สอดคล้องกัน เช่น สพฐ.กำหนดจุดเน้น และการเรียนการสอนที่มีทั้งทางด้านวิชาการ และความดี สทศ. สมศ. และมหาวิทยาลัย จะต้องมีระบบที่สอดรับกันด้วย โดยจุดเน้นเป็นสิ่งสำคัญต้องสร้างความเข้าใจ แล้วสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจตรงกันว่า เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตร แต่เป็นการชี้ประเด็นที่เป็นจุดอ่อน และประเด็นที่ต้องปฏิบัติในส่วนของทักษะ ความสามารถ และคุณลักษณะที่เหลือ ไม่ได้ละเลย ต้องดำเนินการไปด้วยกัน รวมถึงต้องมีการประเมินผลและพัฒนา

การวัดและประเมินผล ควรจัดทำระบบสะสมความดี ฯลฯ

รมว.ศธ.กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันคิดกระบวนการเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เกิดขึ้นจริง โดยเชื่อมต่อการบริหารจัดการหลักสูตรกับการบริหารจัดการการเรียนการสอนให้เกิดความสมดุล ลดการสอนเนื้อหาสาระเพื่อการสอบ เน้นการจัดกิจกรรมเพื่อทำให้ผู้เรียนซึมซับและเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น เรื่องความเป็นพลเมือง การเคารพกติกา เคารพผู้อื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนตน ถ้าสามารถเชื่อมต่อได้จะลดความซ้ำซ้อนถึง ๓๐% นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อไปสู่การประเมินผล จะจัดให้มีการประเมินผลทั้งความรู้/เก่งและความดี โดยประสานการประเมินผลทั้งระบบ ตั้งแต่การทดสอบระหว่างเรียน เปลี่ยนช่วงชั้น เข้าสู่มหาวิทยาลัย และทดสอบความรู้ระดับชาติ ทั้งนี้การประกาศคุณภาพของผู้เรียน จะต้องประกาศเพื่อส่งผลกระทบต่อสังคม สะท้อนให้เห็นถึงจุดเปลี่ยน และให้ครูและผู้ปกครองเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย การกระบวนการต่อจากนี้ ศธ.ต้องนำผลการเสวนาไปดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างไร เช่น การออกประกาศ การสั่งการโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สทศ. สมศ. และมหาวิทยาลัย

ในการนี้ รมว.ศธ.ได้มอบให้ สพฐ.จัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติที่ผู้ปฏิบัติสามารถเลือกยุทธวิธีได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดคุณภาพกับผู้เรียนโดยตรงต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: