วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ครม.เห็นชอบมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ(สพฐ.) ที่เหลือจำนวน ๗๕๐ ราย

รมว.ศธ.กล่าวว่า ครม.ได้เห็นชอบมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ (โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด) โดยให้ สพฐ.บริหารจัดการภายในวงเงินงบประมาณงบบุคลากรที่ได้รับจัดสรรประจำปี พ.ศ.๒๕๕๔ จำนวน ๑๑๒ ล้านบาท เพื่อสนับสนุนผู้เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ (โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด) ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๔ (๑ ตุลาคม ๒๕๕๓) ที่เหลือในโควตาจำนวน ๗๕๐ ราย ให้ได้เข้าร่วมมาตรการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๔ ต่อไป

โดยให้ สพฐ.รับความเห็นของสำนักงบประมาณที่เห็นว่า ควรพิจารณาบรรจุอัตราทดแทนผู้เกษียณตามโครงการดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนไปดำเนินการด้วย
สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา สพฐ.ได้รับความเห็นชอบจาก คปร.ให้ดำเนินมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ (โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด) ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งเห็นชอบให้มีจำนวนผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ได้จำนวน ๑๒,๘๖๗ ราย ไปแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดของงบบุคลากรจึงได้อนุมัติให้ข้าราชการในสังกัดเข้าร่วมมาตรการฯ ได้เพียง ๑๒,๑๑๗ ราย และยังคงเหลือผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมมาตรการฯ อยู่ในโควตาอีก ๗๕๐ ราย ซึ่งที่ประชุม ครม.ครั้งนี้ได้เห็นชอบให้เข้าร่วมมาตรการฯ ครบตามจำนวนโควตาแล้ว

ทั้งนี้ สพฐ.ได้วิเคราะห์จากข้อมูล ๒ ปีที่ผ่านมา พบว่าหากดำเนินการได้จะมีผลดีมากกว่าผลเสียและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ คือ ๑) สามารถเกลี่ยอัตรากำลังจากโรงเรียนที่มีครูเกินเกณฑ์ไปยังโรงเรียนที่มีครูต่ำกว่าเกณฑ์ได้ทันทีไม่ยุ่งยากเหมือนการเกลี่ยอัตรากำลังที่มีผู้ครองอยู่ ๒) สามารถสรรหาบุคคลรุ่นใหม่ที่มีความต้องการเข้าสู่ระบบราชการ และเป็นบุคลากรที่มีความรู้วิทยาการทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษารอบสองและจะนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษามาบรรจุทดแทนได้ ๓) เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ในการกำหนดอนาคตของชีวิตตนเอง ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต การวางแผนครอบครัว การดูแลบิดา-มารดาที่ชราภาพหรือเจ็บป่วย เป็นต้น ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้มุ่งหวังว่าตนเองจะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้เข้าร่วมมาตรการฯ เหมือน ๒ ปีที่ผ่านมา จึงไม่มีจิตใจและขาดแรงจูงใจที่จะปฏิบัติราชการต่อไป

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ครม.ยังได้อนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายสรจักร เกษมสุวรรณ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นไป.

นครแห่งการอ่าน พัฒนาเด็กปฐมวัยให้รักการอ่าน (โลกสดใส-กายสุขสันต์)
การอ่าน" เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการ และนายแพทย์ นักจิตวิทยา ว่า เป็นก้าวแรกอันสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความรู้เพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนาการของสมองกว้างขึ้น และ มีโลกทัศน์กว้างขึ้น

แต่ สำหรับประเทศไทย มีความน่าเสียดายที่ผลจากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าเด็กไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัดต่อวัน ซึ่งเป็นสถิติที่น่าตกใจมาก

ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมมือกัน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว และปลูกฝังให้เด็กไทยรักการอ่านมากขึ้น โดยจะต้องเริ่มตั้งแต่เด็กระดับปฐมวัยเป็นต้นไป

แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีโครงการที่จะเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสให้กับเด็กไทย ด้วยการ จัดโครงการ "หนังสือคัดสรร 108 หนังสือดี เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเด็กปฐมวัย" ซึ่งจะร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ส่งเสริมให้เกิด "นครแห่งการอ่าน" ขึ้น โดยจะส่งมอบหนังสือเหล่านี้ไปยังครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัย และสร้างเครือข่ายกิจกรรมการอ่านในพื้นที่ โดยเริ่มนำร่องใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ,เพชรบุรี ,ลำปาง, ฉะเชิงเทรา และขอนแก่น

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เปิดเผยถึงเรื่องนี้ ว่า การคัดสรรหนังสือดีครั้งนี้ มีหนังสือส่งเข้าร่วม 2,800 เล่ม โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกหนังสือทั้งหมด จนเหลือหนังสือภาพที่มีคุณภาพสำหรับเด็กปฐมวัยรวม 108 เล่ม เป็นหนังสือภาพของไทย 67 เรื่อง หนังสือจากต่างประเทศ 41 เรื่อง โดยเป็นหนังสือสำหรับเด็ก 0-2 ขวบ 14.8% , เด็ก 2-4 ขวบ 41.7% และเด็ก 4-6 ขวบ 43.5%

เมื่อได้หนังสือดีสำหรับเด้กทั้ง 108 เรื่องแล้ว หลังจากนี้นครแห่งการอ่านทั้ง 5 จังหวัด จะต้องนำหนังสือไปเผยแพร่และส่งเสริมการอ่านให้ทั่วทั้งจังหวัด โดยจะมีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ เด็กเกิดใหม่ทุกคน หรือเด็ก 0-6 ปี จะต้องได้อ่านหนังสือชุดนี้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 เล่ม และในอนาคตจะผลักดันนครแห่งการอ่านให้เกิดขึ้นทั่วประเทศให้เร็วที่สุด

"การคัดสรรหนังสือทำให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้ใช้หนังสือ และสำนักพิมพ์ โดยผู้ใช้หนังสือจะได้เห็นว่าหนังสือดีที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้สำนักพิมพ์ผลิตหนังสืออย่างมีเป้าหมายและสร้างสรรค์มากขึ้น ทั้งนี้ดิฉันอยากเห็นองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านสาธารณกุศล ได้เข้ามาสนับสนุนหนังสือทั้ง 108 เล่ม เพื่อทำให้หนังสือเหล่านี้ไปถึงมือเด็กที่ขาดโอกาสต่อไป เพราะเด็กในวัย 0-6 ปี เป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการทางสมองสูงมากกว่า 80% ดังนั้นถ้าช่วยเสริมให้เด็กได้อ่านหนังสือจะเกิดประโยชน์มาก" นางสุดใจ กล่าว

รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. เผยผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2551 เรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี ว่า เด็กเล็กมีอัตราการอ่านหนังสือ 36% คิดเป็น 2.1 ล้านคนจาก 5.9 ล้านคนทั่วประเทศ ใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ย 27 นาทีต่อวัน ความถี่ในการอ่านสัปดาห์ละ 2-3 วัน และเมื่อสำรวจตลาดหนังสือเด็ก พบว่า มีหนังสือสำหรับเด็กเล็ก 4-5% ของหนังสือในร้าน โดยมีหนังสือสำหรับเด็กอายุ 0-3 ปีไม่ถึง 0.5% และเป็นหนังสือสำหรับเด็กอายุ 6-12 ประมาณ 4-7%

"ผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เด็กช่วงอายุ 0-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ควรได้รับการพัฒนาการมากที่สุด กลับกลายเป็นช่วงที่ได้รับการส่งเสริมให้มีการอ่านน้อยมาก ส่งผลให้ตลาดหนังสือของเด็กในวัยนี้น้อยลงตามไปด้วย เนื่องจากในเมื่อความต้องการน้อย ผู้ผลิตก็จะผลิตออกมาน้อย และเมื่อมีหนังสือน้อย เด็กก็จะไม่ถูกกระตุ้นให้อยากอ่านหนังสือ ดังนั้นปัญหานี้จึงต้องช่วยกันทุกฝ่าย โดยเริ่มจากพ่อแม่ และโรงเรียน ที่ต้องช่วยกันปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ขณะเดียวกันผู้ผลิตหนังสือก็ต้องหันมาผลิตหนังสือที่เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยให้มากขึ้นด้วย" รศ.ดร.วิลาวสินี กล่าว

ขณะที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า มั่นใจว่าเมื่อ 5 จังหวัดนำร่องเป็นนครแห่งการอ่าน ก็จะเกิดการขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นทั่วประเทศได้ในที่สุด โดยในส่วนของรัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดให้วันที่ 2 เม.ย.ของทุกปีเป็นวันรักการอ่าน อีกทั้งยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น

"เมื่อเร็วๆ นี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบมาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้บริจาคหรือซื้อหนังสือให้แก่สถานศึกษาหรือห้องสมุด และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องมาตรการลดหย่อนภาษีกระดาษและฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ผลิตหนังสือและโรงพิมพ์ เพื่อให้ราคาหนังสือลดลง จึงเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น และซื้อหนังสือราคาที่ถูกลงด้วย" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

หากทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกันในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่องแบบนี้ เชื่อแน่ได้ว่าสถานการณ์การอ่านหนังสือของคนไทยคงจะดีขึ้นตามลำดับ และจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป

ที่มา นสพ.แนวหน้า 20 ต.ค.53

ไม่มีความคิดเห็น: