วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การประชุมนานาชาติ UNESCO-APEID ครั้งที่ ๑๔


นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติ UNESCO-APEID ครั้งที่ ๑๔ ในหัวข้อ “การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค จัดโดยความร่วมมือระหว่างองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กระทรวงศึกษาธิการของไทย ธนาคารโลก สมาคมธุรกิจไทย-ยุโรป ศูนย์ภูมิภาคแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการอุดมศึกษา และการพัฒนา (SEAMEO RIHED) และผู้จัดการประชุมทรัพยากรมนุษย์ของโลก (Global Human Resource Forum) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม จาก ๓๐ ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยุโรป และแอฟริกา

รมว.ศธ. กล่าวว่า การประชุม นานาชาติ UNESCO-APEID จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีการประชุมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สำหรับการประชุมในปีนี้ ผู้จัดได้ให้ความสำคัญในเรื่อง “การศึกษา เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” เพื่อให้สอดคล้องกับวิกฤตการณ์ทาง การเงินของโลกที่เกิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ในหลายประเทศ โดยมีวิทยากรรับเชิญและผู้นำเสนอรายงานต่างๆ มาสนทนาหารือร่วม กันเกี่ยวกับวิธีการที่จะนำการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มา ใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การขจัดความยากจน การให้บริการพื้นฐานแก่สังคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทุกคน รวมทั้งระบบการศึกษาและการฝึกอาชีพในศตวรรษที่ ๒๑ ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง/ความไม่มั่นคงของ สถานที่ทำงาน การชะลอตัวของตลาดแรงงาน และผลกระทบที่มีต่อการศึกษา และการพัฒนาการฝึกอบรมทักษะ ในโอกาสนี้ จะมีการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ด้านการศึกษาและการ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของแต่ละประเทศ เพื่อให้ผู้นำเหล่านั้นได้รับทราบข้อมูลที่ทันสมัยและสามารถนำไปปรับใช้การกำหนดนโยบายด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในประเทศนั้นๆ

รมว.ศธ. ได้กล่าวถึง ในส่วนของประเทศไทยที่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่าง มาก ดังจะเห็นได้จาก นโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ซึ่งรัฐบาลได้จัดโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษาระดับปฐมวัย จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ทุกสถานที่ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

สำหรับในระดับอาชีวศึกษาก็ได้เน้นเรื่องการศึกษาระบบทวิภาคี ขยายเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการ ชุมชน และเครือข่ายระดับนานาชาติ ส่วนระดับอุดมศึกษานั้น ได้มีการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การผลิตคนตามความต้องการของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น มีความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งในด้านการถ่ายโอนหน่วยกิตของนักศึกษาในภูมิภาค และความก้าวหน้าในด้านอาชีพของประชาชนในภูมิภาคต่อไป.

ก้าวสู่สากลของสถาบันอุดมศึกษาไทย
รมว.ศธ. กล่าวว่า จากรายงานการจัดอันดับของสถาบัน Institute for Management Development (IMD) ในปี ๒๕๕๓ พบว่า สถานการณ์การศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาไทยในเวทีสากลยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหลายประเทศ ดังนี้ การศึกษาไทยอยู่ในอันดับที่ ๔๗ จาก ๕๘ ประเทศ, การตอบสนองความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยของไทย อยู่ในอันดับที่ ๓๒ ได้ ๕.๒๕ คะแนน จากคะแนนเต็ม ๑๐, ผลสัมฤทธิ์ระดับอุดมศึกษาของประเทศ อยู่ในอันดับที่ ๔๕, การถ่ายโอนความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจของไทย อยู่ในอันดับที่ ๓๑ ได้ ๔.๔๘ คะแนน จากคะแนนเต็ม ๑๐, ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ พิจารณาจากคะแนน TOEFL อยู่ในอันดับที่ ๕๔ ได้ ๗๒ คะแนน จากคะแนนเต็ม ๑๒๐ คะแนน และทักษะด้านเทคโนโลยี อยู่ในอันดับที่ ๕๒ ได้ ๖.๑๔ คะแนน จากคะแนนเต็ม ๑๐ สำหรับการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษา โดย Quacquarelli Symonds (QS) ในปี ๒๕๕๓ มหาวิทยาลัย ๒๐๐ อันดับแรกของโลก ซึ่งไทยติดอันดับเพียง ๗ มหาวิทยาลัย ในขณะที่ญี่ปุ่นติดอันดับถึง ๕๖ มหาวิทยาลัย
รมว.ศธ.กล่าวถึงการขาดแคลนครูว่า ขณะนี้ ศธ.ขาดแคลนครูเชิงปริมาณ และครูขาดแคลน คือ มีครูที่สอนไม่ตรงกับวุฒิการศึกษา รวมทั้งไม่ได้คนเก่งมาเป็นครูของครู ในช่วง ๑๐ ปีต่อจากนี้ไป จะมีครูและครูของครูเกษียณอายุราชการ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ คน จึงได้มอบหมาย สกอ.หาวิธีให้ได้คนเก่งมาเป็นอาจารย์สอนในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อผลักดันให้มหาวิทยาลัยก้าวไปสู่ความเป็นสากล นอกจากจะผลิตครูและอาจารย์ให้เพียงพอและทันต่อการเกษียณอายุราชการแล้ว ต้องพัฒนาครูและอาจารย์ทั้งระบบ โดย ศธ.ได้ปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว

ศธ.มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จัดการศึกษา ดูแลและพัฒนาครูซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ “การฟื้นตัวของทุกระบบต้องเริ่มต้นจากครู” เพราะครูเป็นกุญแจสำคัญและนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้ฝากแนวคิดเพื่อนำสวนดุสิตสู่ความเป็นสากล ๕ เรื่อง ดังนี้

การพัฒนาอัตลักษณ์และศักยภาพไปสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งความเป็นเลิศในที่นี้ หมายถึงคุณภาพของบัณฑิต มรภ.สวนดุสิตสามารถตอบโจทย์เรื่องการผลิตนักศึกษาในเชิงปริมาณและได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว แต่สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่าคือการทำให้ มรภ.สวนดุสิตก้าวไปสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง สามารถผลิตบัณฑิตเฉพาะทาง และเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ มหาวิทยาลัยจะต้องมีความอิสระและคล่องตัวในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นอำนาจโดยตรงของสภามหาวิทยาลัย และจะต้องปลูกฝังทัศนคติของอาจารย์และนักศึกษา ให้มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของตนเอง

ระบบคัดเลือกเพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา จะต้องเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความถนัดและความสนใจ ซึ่งขณะนี้ระบบการรับตรงและระบบ Admissions ได้เริ่มเปิดโอกาสและมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การเชื่อมต่อระหว่างมหาวิทยาลัยกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงจำเป็นจะต้องมีทางเลือกในการคัดเลือกบุคคลให้ตรงกับความต้องการในการพัฒนาอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย

กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา ซึ่งใช้หลักสากลในการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับชาติ ระดับอาชีวศึกษา รวมทั้งการที่มหาวิทยาลัยได้จัดทำแผนเชื่อมโยงมาตรฐานในแต่ละระดับการศึกษา เพื่อจะได้มีตัวชี้วัดและกรอบที่ชัดเจน ขณะนี้ ศธ.ได้จัดทำแผนกำลังคนแห่งชาติ เพื่อรองรับและตอบคำถามให้ได้ว่า ในอนาคตกำลังคนของชาติควรไปในทิศทางและเป็นไปตามอัตลักษณ์ที่ได้สร้างขึ้น เพื่อจะได้ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้สะท้อนคุณภาพของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น

มหาวิทยาลัยตอบสนองต่อการรับใช้สังคม ศธ.ได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามแผนปรองดองแห่งชาติ ให้มหาวิทยาลัยตอบสนองต่อการรับใช้สังคมเพิ่มขึ้น และสามารถจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็น การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความเป็นพลเมืองดี มีงานทำ และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นนักศึกษาหรือบัณฑิตในอนาคต มหาวิทยาลัยจะต้องมีส่วนรับผิดชอบโดยตรง ต้องมีระบบการเรียนการสอนเพื่อรับใช้สังคม ออกค่ายอาสา ปรับปรุงหลักสูตรให้สอดรับกับการสร้างความเป็นพลเมืองดี และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ และต้องการเห็นมหาวิทยาลัยรับผิดชอบต่อจังหวัดที่ตั้ง คือ “๑ มหาวิทยาลัย ๑ จังหวัด” โดยการศึกษาปัญหาของท้องถิ่นและลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

มหาวิทยาลัยวิจัย ซึ่งขณะนี้ได้คัดเลือก ๙ มหาวิทยาลัยนำร่อง สำหรับมหาวิทยาลัยที่เหลือก็ยังจะต้องทำวิจัยเชิงสังคมศาสตร์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและรับใช้สังคม การวิจัยจะมิใช่เพียงการทำแบบฝึกหัดชั้นสูงเพื่อให้นักศึกษาเรียนจบเท่านั้น แต่ควรเป็นงานวิจัยที่สนองตอบต่อคุณภาพการศึกษาและสนองตอบต่อการรับใช้สังคมด้วย สำหรับการทำวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยและการวิจัยระดับมหาวิทยาลัย ต้องสามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและท้องถิ่น ในอนาคต ศธ.จะสร้างแรงจูงใจให้กับมหาวิทยาลัยที่กำลังพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย โดยจะจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการวิจัยเพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม.

ไม่มีความคิดเห็น: