วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สพฐ.วางเกณฑ์โรงเรียนยอดนิยม บริหารคล่อง มุ่งเป็นเลิศวิชาการ

สพฐ.เตรียมคลอดหลักเกณฑ์บริหารโรงเรียนศักยภาพสูง เน้นคล่องตัว มุ่งเป็นเลิศทางวิชาการ ระบุหลายแห่งมีความพร้อม

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงปฎิทินการรับนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยมีการเสนอแนวทางหลักเกณฑ์การบริหารงานและการรับนักเรียนของโรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษ และได้รับความนิยมสูง ซึ่งที่ประชุมต้องการให้โรงเรียนเหล่านี้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระในรูปแบบองค์การมหาชนคล้ายกับมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการและสามารถพัฒนาเด็กไปสู่ความเป็นเลิศในด้านอื่นๆ ได้

นายชินภัทร กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปจัดทำหลักเกณฑ์การบริหารสถานศึกษาที่มีศักภาพสูง เพื่อต้องการให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการและนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะผ่อนคลายกฎระเบียบในบางข้อ เช่น การรับนักเรียน การระดมทรัพยากร การจัดหลักสูตรพิเศษ เป็นต้น และต่อไปหากโรงเรียนใดต้องการเข้าสู่หลักเกณฑ์นี้ก็จะต้องกำหนดเงื่อนไขด้วยว่ามีบริการอะไรที่พิเศษและดีไปกว่าโรงเรียนทั่วไป

“การจัดทำหลักเกณฑ์บริหารสถานศึกษาไม่ได้เจาะจงเฉพาะ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาเพียงแห่งเดียว แต่เป็นการทำกติกาการบริหารงานใหม่เพื่อให้โรงเรียนได้พัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นเลิศ หรือการรับนักเรียนก็อาจจะเปิดช่องทางรับเพิ่มได้มากขึ้น แต่ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์เงื่อนไขของ สพฐ.ด้วย และมีหลายโรงเรียนที่พร้อมและอยากจะมีอิสระในการบริหารจัดการ” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

"บัตรทองการศึกษา"
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการด้านการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย ในกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดเผยว่า คณะทำงานของคณะอนุกรรมการเตรียมเสนอคณะกรรมการ กนป.ให้ประกาศนโยบายช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนมาก เพื่อเพิ่มโอกาสเรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีได้จริง

คุณหญิงกษมา กล่าวอีกว่า แม้รัฐบาลจะประกาศนโยบายเรียนฟรี 12 ปี พร้อมจัดงบกว่าปีละ 7 หมื่นล้านบาทเป็นค่าเทอม ค่าตำราเรียน ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มีโครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียนฟรีให้นักเรียน แต่ยังมีเด็กอีกจำนวนมากไม่สามารถมาเรียนได้ต้องออกกลางคัน เพราะมีจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะค่าเดินทาง ค่าอาหารเช้า ซึ่งเด็กยากจนมากไม่มีเงินมาจ่ายส่วนนี้ จะต้องเพิ่มความช่วยเหลือแก่เด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น รัฐจะดูแลให้เด็กยากจน 4% ของเด็กทั้งหมดได้เรียน

"คณะทำงานของอนุกรรมการกำลังศึกษารายะละเอียดว่าต้องเพิ่มความช่วยเหลือด้านใดอีกบ้างและใช้งบเท่าใด ขณะนี้มีโครงการอุ้มเด็กตกหล่นกลับเข้าสู่ห้องเรียนนำร่องใน 4 จังหวัด ที่นครสวรรค์ อุดรธานี นครศรีธรรมราช และเชียงใหม่ คณะทำงานเสนอว่าเงินช่วยเหลือพิเศษแก่เด็กยากมากนี้ ควรจะเป็นเงินที่ตามตัวเด็กไม่ใช่เงินที่จ่ายไปตามสถานศึกษา มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาเพราะสถานศึกษาหวังได้งบขึ้นมาได้จะต้องคิดเกณฑ์ว่าเด็กกลุ่มนี้จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขใด อาจใช้กำหนดว่าครอบครัวเด็กมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ซึ่งกำหนดไว้ที่รายได้ครอบครัวไม่เกิน 4 หมื่นบาทต่อปี หรืออาจใช้เกณฑ์อื่นซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป" คุณหญิงกษมา กล่าว

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า อนุกรรมการเคยเสนอใน กนป.ให้มีลักษณะบัตรทองด้านการศึกษา เด็กที่ยากจนมากสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่ต้องเสียเงินเหมือนเวลาพกบัตรทองไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ หากมีบัตรทองด้านการศึกษา เด็กเลือกเข้าเรียนที่ใดก็ได้ สถานศึกษาต้องดูแลให้เด็กได้ตามสิทธิ์ ขณะนี้ สพฐ.กำลังสำรวจจำนวนนักเรียนยากจนมาก

คมชัดลึก

ชินวรณ์"ดัน มรภ.-มทร.สู่สากล เน้นการพัฒนา4อย่างที่ขาดไม่ได้
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) บรรยายพิเศษ เรื่อง"แนวโน้มการก้าวสู่สากลของสถาบันอุดมศึกษาไทย" ว่า ตนให้ความสนใจในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) เพื่อส่งเสริมศักยภาพของแต่ละมหาวิทยาลัยให้มีความก้าวหน้า เพื่อก้าวสู่ความเป็นสากล โดย เป้าหมายหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเมื่อสังคมไทยมีสภาพโครงสร้างทางประชาการที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นเหตุให้แนวโน้มประชากรสูงอายุสูงเพิ่มมากขึ้นและการที่ประเทศไทยต้องก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 5 ปีข้างจะมีผลต่อการจัดการศึกษาของระดับอุดมศึกษาโดยตรง ที่จะต้องคำนึงว่าจะนำพาประเทศไปสู่การแข่งขันในประชาคมอาเซียนและสังคมโลกได้อย่างไร อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากแต่โครงสร้างหลายอย่างไม่ได้ปรับตัวให้ทันต่อความเจริญ ดังนั้นความคิดเห็นที่แตกต่างของคนในสังคมจึงเพิ่มขึ้นนำไปสู่ความขัดแย้ง มากขึ้น ตามทรรศนะตนนั้นการนำ มหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นสากลสิ่งที่จะต้องพัฒนา 4 เรื่อง ได้แก่ 1.อัตลักษณ์ที่มีอยู่ของมหาวิทยาลัยจะสามารถนำไปสู่ความเป็นเลิศได้ 2.ระบบคัดเลือกนักศึกษา เป็นปัญหาภาพใหญ่ของประเทศ ที่จะต้องเชื่อมต่อระหว่างมหาวิทยาลัยกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมหาวิทยาลัยเองจะต้องมีหนทางที่จะเลือกช้างเผือกที่ตรงกับอัตลักษณ์ของตนเอง 3. การจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติหรือTQF ซึ่งถือเป็นเรื่องระดับสากลเพื่อจะได้มีตัวชี้วัดมีกรอบที่ชัดเจนเพื่อรองรับที่ชัดเจน และ4.การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราได้ไปคัดเลือกมหาวิทยาลัย 9 แห่งให้เป็นม.วิจัยแห่งชาติ ทำให้งบประมาณส่วนใหญ่ตกไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยเหล่านั้น ขณะที่ยังมีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งที่จะต้องทำงานวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ซึ่งต่อไปควรจะเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนั้นต้องนำไปสู่การประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ และสามารถใช้ในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้

นสพ.แนวหน้า

ไม่มีความคิดเห็น: