วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

๑๐๐ ปีแห่งการสวรรคตของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"


23 ตุลาคมของทุกปี คือ วันปิยมหาราช

โดยเฉพาะ 23 ตุลาคม 2553 ถือเป็นวันสำคัญกว่าทุกปี เพราะเป็นวาระครบรอบ 100 ปีแห่งวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจะมีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงคุณูปการที่ทรงมีแก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทย"๑๐๐ ปี แห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

ชื่องานที่รัฐบาลกำหนดจัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็น 100 ปีที่ทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะ ทรงนำพาประเทศให้ รอดพ้นจากการล่าอาณานิคม ชาติไทยจึงเป็นเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งทรงริเริ่มและวางแผนให้โครงสร้างของสังคมไทยมีความทันสมัยทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

ที่สำคัญ ทรง "เลิกทาส" เพื่อให้คนไทย ได้เป็น "ไท" เท่าเทียมกัน อันเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

คุณูปการจากพระราชกรณียกิจเป็นที่ประจักษ์ ต่อนานาประเทศทั่วโลก และใน ปี พ.ศ.2546 องค์ การยูเนสโก ได้ยกย่องและประกาศเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น "บุคคลสำคัญของโลก" และในปี พ.ศ.2552 ก็ประกาศขึ้นทะเบียนเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระองค์เป็น "มรดกความทรงจำของโลก"

และในวาระสำคัญนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต แบบตราสัญลักษณ์ ๑๐๐ ปี แห่ง การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ ประชาชนนำไปประดับบ้านเรือนเทิดพระเกียรติในวาระดังกล่าวด้วย

โดยตราสัญลักษณ์ มีอักษรพระ ปรมาภิไธย จปรประดิษฐานอยู่ใจ กลางตรา หมายถึง พระองค์ทรงสถิตอยู่ในใจไพร่ฟ้าประชากร ดั่งเลข ๑๐๐ ในหัวใจสีชมพู ด้านล่าง แบบลวดลายไทย หมายถึง ความเป็นไทย เอกลักษณ์ไทย แพรแถบประดิษฐ์อักษร ๑๐๐ ปี แห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว สีที่ใช้ ชมพู คือ สีประจำวันพระบรม ราชสมภพ สีน้ำเงิน หมายถึงพระมหากษัตริย์ สีเหลือง แทน แสงสว่าง สีทองนั้นด้วยพระองค์เปี่ยมคุณค่าหา ผู้ใดเปรียบ สีเขียว คือความสดชื่น เกษมสำราญ

ศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า 100 ปีแห่งวันสวรรคตคือ 100 ปี แห่งบทเรียนที่คนไทยควรเรียนรู้ในพระราชกรณียกิจของพระองค์ ที่ทรงนำบ้านเมืองฝ่าฟันอุปสรรคจนไทยเป็นชาติที่มั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน โดย เฉพาะด้านการศึกษา เพราะทรงต้องการให้คนไทยมีความรู้ โปรดให้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ มีการตั้งโรงเรียนเพื่อวางรากฐาน สร้างครู ที่สำคัญเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เรียนหนังสือเทียมเท่ากับผู้ชาย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากในสมัยนั้น

"ทรงทำให้คนฉลาด แต่ ขณะเดียวกันทรงเน้นมีความรู้ ต้องคู่กับศีลธรรม เพราะรู้มากฉลาดมากก็โกงมาก รู้น้อยฉลาดน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่โกง ดังนั้น ต้องมีศีลธรรมหรือธรรมะกำกับ" ศ.(พิเศษ) ธงทอง ระบุชัดเจน

ด้านพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มี การชำระและการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นอักษรไทยครั้งแรกในประเทศไทย และพระราชทานแด่พระอารามหลวงและวัดราษฎร์ ทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมือง ทรงสร้างวัดขึ้นใหม่ คือ วัดราชบพิธ วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจมบพิตร วัดอัษฎางค์นิมิต วัดจุฑาทิศราชธรรมสภา วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ และ ทรงปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ ทำให้มีสร้อยนามว่า "วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์"

ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมขึ้นตามวัดต่างๆ ทรงกำหนดให้มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมเป็นประจำทุกปี และโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงสองแห่งจนกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ในปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พระธรรมวรเมธี กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานที่วัดราชบพิธฯ กล่าวว่า พระองค์ทรงใช้วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาของประชาชนในรูปแบบของ "บวร" หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ที่สำคัญทรงเป็นผู้ให้กำเนิดการปกครองคณะสงฆ์ ทรงให้คณะสงฆ์ปกครองตนเอง และให้มีการตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้นครั้งแรก

"วัดราชบพิธฯ และหน่วยงานต่างๆ กว่า 300 แห่งที่ใช้พระปรมาภิไธยของพระองค์ท่าน ร่วมจัดกิจกรรม ตั้งแต่วันที่ 21-23 ต.ค.นี้ ที่วัดราชบพิธฯ โดยวันที่ 23 ต.ค. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญ พระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธฯ ด้วย" พระธรรมวรเมธี กล่าว

พระพรหมเมธี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส และกรรมการมหาเถรสมาคม กล่าวว่า วัดเทพศิรินทราวาสจะจัดงานในวันที่ 22 ต.ค.มีทั้งตักบาตรพระสงฆ์ 100 รูป มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน 100 ทุน และเวลา 17.00 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯแทนพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส

สำหรับกิจกรรมในส่วนของรัฐบาลนั้น ส่วนกลางจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 ต.ค.โดยมีพิธีการทำบุญ ตักบาตรและพิธีบวงสรวงบริเวณสวนอัมพร วันที่ 23 ต.ค. และ ลานพระราชวังดุสิต มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ของ 25 หน่วยงานภาครัฐ ที่ อาคารถาวรวัตถุ หน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ จัดนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติ หอประชุมกองทัพเรือ กองบัญชาการกองทัพเรือ มีสัมมนาเชิงวิชาการ "รำลึก 100 ปี ปิยมหาราชานุสรณ์ : บทเรียนความอยู่รอดของชาติท่ามกลางความขัดแย้ง" โรงละคร แห่งชาติ มีแสดงละครบทพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า และ หอสมุดดำรงราชานุภาพ หลังอาคารถาวรวัตถุ จัดฉายภาพยนตร์ ภาพนิ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ในรัชสมัย

ส่วนภูมิภาค จัดใน 4 ภูมิภาค ภูมิภาคละ 8 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค.2553 เป็นนิทรรศการเคลื่อนที่ ขณะที่ กรมป่าไม้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้น จัดให้อาสาสมัครพิทักษ์ป่าปลูกต้นไม้ทั่วประเทศ

ทีมข่าวการศึกษา มั่นใจว่า ถึงวันนี้แม้ผ่านมาถึง 100 ปีแห่งการสวรรคต แต่พระพุทธเจ้าหลวงยังคงสถิตในหัวใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า ทั้งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงริเริ่มและพระราชทานกิจการด้านต่างๆ มากมาย อันเป็นรากฐานของความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน

ดั่งพระสมัญญานาม "พระปิยมหาราช"..... พระราชาอันเป็นที่รักยิ่งแห่งราษฎร.

ทีมข่าวการศึกษา นสพ.ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: