วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยการประชุมคณะกรรม การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๓

รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแผนการดำเนินงาน เพื่อรองรับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา ปัญหาการหนีเรียน ชู้สาว และการไปในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งยาเสพติด โดยหน่วยงานต่างๆ ได้นำเสนอ ดังนี้

สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน ได้เสนอมาตรการเชิงรุก โดยการเฝ้าระวังเหตุ ๒๔ ชั่วโมง , พัฒนาสายด่วน ๑๕๗๙ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง , ตั้งเครือข่ายศูนย์เสมารักษ์ ๔ จุด ๔ มุมเมือง คือ ดอนเมือง , มีนบุรี , สมุทรปราการ , บางแค ส่วนมาตรการต่อเนื่องก็จะมีการจัดประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษา , พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน นักศึกษา
สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จัดทำข้อมูลประวัตินักเรียน , มีจุดเฝ้าระวัง , จัดตั้งภาคีเครือข่ายผู้ปกครองชุมชน

สำนักงาน กศน. จัดทำข้อมูลนักศึกษารายบุคคล , เฝ้าระวัง ติดตามนักศึกษากลุ่มเสี่ยง , ตั้งภาคีเครือข่าย

สพฐ. เสนอนครศรีธรรมราชโมเดล ที่ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ มีอาสาสมัครเป็นสารวัตรนักเรียน มีกรรมการ ๒ ชุด คือ ชุดอำนวยการมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีรองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด , ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก ผู้บังคับการตำรวจภูธร เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการดำเนินงาน มี ผอ.สพท. เป็นหัวหน้าศูนย์ รอง ผอ.สพท. เป็นรองหัวหน้าศูนย์ มีหน้าที่ตรวจพื้นที่ กวดขัน ดูแล คุ้มครอง ส่งเสริม ป้องกัน ประสานงานกับทุกภาคส่วน สรุปรายงาน โดยมีศูนย์รับแจ้งเหตุในโรงเรียนต่างๆ และมีสายด่วน ๑๕๖๗ รับแจ้งเหตุเกี่ยวกับนักเรียน นักศึกษา นอกจากนั้น ยังได้เสนอมาตรการเชิงรุก เช่น ระบบดูแลช่วยนักเรียนเข้มข้น , ใช้กลุ่มโรงเรียนผสมเครือข่าย , กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน , พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ , ลงโทษและเยียวยา , โดยรณรงค์ “นักเรียนไทยมีศักดิ์ศรี คนดีไม่ตีกัน”

สกอ. ได้เสนอมาตรการเชิงรุก โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือ , กำหนดมาตรการ วิธีการป้องกันการก่อเหตุ และช่วยเหลือนักศึกษาที่ประสบเหตุ

สอศ. ได้เสนอมาตรการระยะสั้น โดยคัดกรองนักเรียน นักศึกษา ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน พร้อมรูปถ่าย , อบรมนักศึกษากลุ่มเสี่ยง ๔๐๐ คน ก่อนเปิดภาคเรียน , Fix it Center , อาชีวะร่วมด้วยช่วยประชาชน

สกศ. โครงการสร้างความเป็นพลเมือง โดยฝึกอบรมครู

กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีมาตรการเชิงรุก คือ สำรวจข้อมูลสถานศึกษาที่มีปัญหา เช่น การมั่วสุม , ตรวจค้นสถานศึกษา , ป้องกัน ตรวจตราจุดเสี่ยง , กวดขัน จับกุม ผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ , กดดันเชิงรุกต่อบุคคลกลุ่มเสี่ยง , ตรวจอาวุธ ฯลฯ

กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี มีมาตรการเชิงรุก คือ สายตรวจเยี่ยมโรงเรียน , โครงการจิตอาสา

กรมการศาสนา อบรมคุณธรรมให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยง , ตั้งศูนย์ประสานงานค่ายคุณธรรม

กรมคุมประพฤติ ควบคุมความประพฤติที่ศาลกำหนด

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีโครงการคาราวานความดีอาชีวศึกษาพัฒนาสังคม

กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เสนอให้มีการจัดประชุมประเมินสถานการณ์เด็กและเยาวชน , จับสัญญาณเตือนภัย , ควรมีนักจิตวิทยาประจำสถานศึกษา , สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง , จัดกิจกรรมค่ายอาสาร่วมกันระหว่างสถานศึกษาที่อยู่ใกล้กัน โดยยกระดับปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นวาระแห่งชาติ ใช้ลูกเสือแนวทางสร้างเด็กและเยาวชน

กระทรวงวัฒนธรรม ประชาสัมพันธ์เชิญชวนเด็กและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม เช่น บรรพชา อุปสมบท , กิจกรรมอนุรักษ์มรดกไทย , อบรมเยาวชนอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม

กทม. จะติดตั้งกล้อง CCTV ให้ครบ ๑ หมื่นจุด , จัดศูนย์ Call Center , เจ้าหน้าที่เทศกิจพิทักษ์นักเรียน , จัดโครงการบำเพ็ญประโยชน์ให้นักศึกษาอาชีวะ

สถาบันพระปกเกล้า ให้ทำกิจกรรมเชิงลึก แบ่งระดับความเสี่ยงของสถาบันการศึกษา

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ใช้กิจกรรมกีฬา เพื่อละลายพฤติกรรมนักเรียน นักศึกษา

กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้มีการทำความเข้าใจระบบของโรงเรียนและพฤติกรรมนักเรียน ควรมีแผนเฉพาะของแต่ละโรงเรียนในทุกสังกัด การจัดกิจกรรม การอบรม ควรมีระบบรองรับ และให้ตรวจสอบสถิตินักเรียนทะเลาะวิวาทในแต่ละเดือน

รมว.ศธ. ได้มอบให้ฝ่ายเลขานุการบูรณาการ และประสานแผนของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งติดตามแผนของบางหน่วยงานที่ยังไม่ได้นำเสนอ เพื่อรายงาน ครม. ในภาพรวมต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: