วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มติ ครม. ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

อนุมัติให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อกระจายโอกาสสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ครม.ได้อนุมัติให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีภารกิจหน้าที่ในการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑–๖ ในลักษณะของโรงเรียนประจำ ทั้งนี้เพื่อกระจายโอกาสสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นได้อนุมัติการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาโรงเรียน เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทาง ให้คำแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงานของโรงเรียน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนประจำและค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอน เห็นควรสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวในอัตราคนละ ๘๔,๐๐๐ บาทต่อปี ตามอัตราที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ให้การสนับสนุนห้องเรียนวิทยาศาสตร์โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยในปัจจุบัน ส่วนในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๔ ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ (พฤษภาคม–กันยายน ๒๕๕๔) ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ จากโครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ๑๕ ปี ที่ได้รับมาดำเนินการก่อน และเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสม
ทั้งนี้ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมีอยู่ ๑๒ แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นโรงเรียนที่มีจุดมุ่งหมายของการจัดตั้งเป็นพิเศษ นอกจากจัดตั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๓ รอบแล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีภารกิจในการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ ในลักษณะโรงเรียนประจำ ศธ.จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อการกระจายโอกาสสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขึ้น

จุดมุ่งหมายของโครงการพัฒนาโรงเรียน เพื่อพัฒนาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีคุณภาพระดับเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ (World Class) มีภารกิจในการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ ในลักษณะของโรงเรียนประจำ และเน้นการให้โอกาสกับผู้มีความสามารถพิเศษที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ส่วนพื้นที่ให้บริการ รับนักเรียนจากจังหวัดต่างๆ ดังรายละเอียดในตาราง ซึ่งต่อไปอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

ที่ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่บริการ

๑ นครศรีธรรมราช นครศรีธรรมราช สงขลา ชุมพร พัทลุง สุราษฎร์ธานี

๒ เชียงราย เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง

๓ ตรัง ตรัง ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง

๔ บุรีรัมย์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม

๕ มุกดาหาร มุกดาหาร อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ นครพนม ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ

๖ สตูล สตูล ยะลา นราธิวาส ปัตตานี

๗ เพชรบุรี เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี

๘ เลย เลย อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู

๙ ลพบุรี ลพบุรี ชัยนาท สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี

๑๐ พิษณุโลก พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์

๑๑ ปทุมธานี ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร

๑๒ ชลบุรี ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว


สำหรับคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาโรงเรียน เพื่อให้การดำเนินงานของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จำเป็นต้องมีคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีเป็นกรรมการบริหารโครงการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทาง ให้คำแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงานของโรงเรียนและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายกฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. เป็นกรรมการและเลขานุการ และกรรมการอื่นอีก ๑๖ คน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในภาพรวม กรอบและทิศทางการพัฒนาการดำเนินการของแต่ละโรงเรียนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กำหนดแนวทาง ให้คำแนะนำ ส่งเสริม กำกับติดตาม ดูแลและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จัดทำรายงานผลการติดตามประเมินผลเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้ข้อคิดเห็นทุกปีการศึกษา

วัตถุประสงค์โครงการพัฒนาโรงเรียน เพื่อพัฒนาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งมีกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเน้นการให้โอกาสกับผู้มีความสามารถพิเศษที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในภูมิภาคนั้นๆ นอกจากนี้เพื่อเป็นฐานในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีปริมาณและคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ที่สามารถทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความรู้และนวัตกรรมได้ ตลอดจนเพื่อเป็นต้นแบบและกระตุ้นการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

--------------------------------------------------------------------------------
อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีการวมศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปเป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่าภาควิชาในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ....

ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีการวมศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปเป็นส่วนราชการ มีฐานะเทียบเท่าภาควิชาในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ

ทั้งนี้ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ และเพื่อเป็นศูนย์รวมในการบำบัดผู้ป่วย ศึกษาค้นคว้า วิจัยทางการแพทย์ ด้านการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเป็นส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีฐานะเทียบเท่าคณะ

ซึ่งสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการของศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ มีประเด็นปัญหาที่สำคัญควรได้รับการแก้ไข ๓ ด้าน คือ ด้านโครงสร้าง ด้านระบบบริหารงาน และด้านบุคคล ซึ่งปัญหาดังกล่าวและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากระบบการบริหารงาน ระบบการให้บริการและโครงสร้างการบริหารงานที่มีความบกพร่อง นอกจากนี้ยังพบว่าความร่วมมือระหว่างศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ในการดำเนินภารกิจการให้บริการรักษาพยาบาล และภารกิจของการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในการผลิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง อีกทั้งการผลิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดของคณะแพทยศาสตร์จะเกิดข้อจำกัดและไม่สมบูรณ์ หากไม่มีส่วนร่วมจากศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ขณะเดียวกันการให้บริการในการรักษาพยาบาลของศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากไม่มีส่วนร่วมจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ จะมีความจำเป็นในแง่ศักยภาพ คุณภาพ และไม่ครบวงจร ตลอดจนยังไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของมหาวิทยาลัย กล่าวคือ ขาดความเชื่อมโยงและการบูรณาการกับการจัดการเรียนการสอนทั้งการผลิตบัณฑิตสาขาแพทย์ศาสตร์และสาขาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ และการผลิตผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังทำให้เกิดความสูญเสีย หรือเกิดภาวะทางการเงินและงบประมาณเนื่องจากการบริหารทรัพยากรที่ขาดประสิทธิภาพ

จึงได้มีมติให้ปรับปรุงโครงสร้างศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสียใหม่ โดยโอนภารกิจไปสังกัดคณะแพทยศาสตร์ และให้มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา เพื่อให้การบริหารงานของศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและโรงพยาบาลศรีนครินทร์มีความเชื่อมโยง มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ซึ่งคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้เห็นชอบด้วยแล้ว.

ไม่มีความคิดเห็น: