วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ

เมื่อวันศุกร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุม ประชาพิจารณ์ ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กทม. เรื่อง การพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติและวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อได้หลักการและแนวทางพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิดังกล่าว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่าง ๆ เช่น ปิโตรเคมี ซอฟต์แวร์ อาหาร สิ่งทอ บริการสุขภาพ การท่องเที่ยว และการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ

นางสาววัฒนา อาทิตย์เที่ยง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายด้านการศึกษามหภาค กล่าวว่า กำลังคนที่มีคุณภาพถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด โดยเฉพาะในภาวะที่ภาคการผลิตทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและธุรกิจบริการ มีการแข่งขันสูงทั้งภายในประเทศและตลาดโลก รวมทั้งการผลิตและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานทั้งลักษณะงานและวิธีการทำงาน ซึ่งการผลิตกำลังคนจากระบบการศึกษาไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันกับภาคการผลิตทำให้ผู้สำเร็จการศึกษามีทักษะความรู้ไม่สอดคล้องกับความต้องการ เกิดปัญหาการขาดแคลนกำลังคนในหลายสาขาวิชาชีพทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ

ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ต้องมียุทธศาสตร์ดังนี้ 1) การให้กรอบวุฒิแห่งชาติ เป็นข้อกำหนดแห่งชาติในการปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งเน้นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างระดับความสามารถของบุคคลในการปฏิบัติงานกับผลการเรียนรู้ตามระดับคุณวุฒิการศึกษาและการฝึกอบรม 2)การพัฒนาความร่วมมือเชิงรุกกับกลุ่มอุตสาหกรรม ธุรกิจ และบริการกลุ่มวิชาชีพ เพื่อการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ได้ตามระดับความสามารถในการปฏิบัติงานที่ต้องการ 3) การพัฒนาระบบบริหารจัดการและองค์กรรับผิดชอบกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ 4)การพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับขอบเขตความรู้ ทักษะ การประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ 5)การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รวมทั้งการรับรองความรู้เดิม เพื่อการให้โอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ที่มีความสามารถและประสบการณ์ที่ต้องการคุณวุฒิทางการศึกษา 6) การเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้บริหาร ครู ในสถานประกอบการ เพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติที่มีประสิทธิภาพ 7) การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพมาตรฐานการศึกษา การประกันการเรียนรู้และมาตรฐานผู้เรียน 8) การศึกษาวิจัยเพื่อให้การนำกรอบวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ 9) การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับมาตรฐานสากล และกรอบคุณวุฒิในระดับภูมิภาค

ผศ.ดร.ไพโรจน์ สถิรยากร อาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ความต้องการกำลังคนของกลุ่มอุตสาหกรรมเน้นหนักใน 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านการประยุกต์ใช้ความรู้ทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ จะมีความแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมและคุณวุฒิการศึกษาระดับต่าง ๆ เช่น สมรรถนะด้านภาษาต่างประเทศ ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร การบันทึก การจัดทำรายงาน การสรุปประเด็น สำหรับคุณธรรม จริยธรรม ทัศนคติเชิงบวกนั้น สามารถใช้ได้ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น ระดับปริญญาตรีต้องมีความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพเชิงลึก และเชื่อมโยงวิชาชีพกับการทำงาน พัฒนาการเรียนรู้ทางวิชาการ มีทักษะในการวางแผน การบริหารจัดการงานการผลิต งานบริการในอาชีพ สามารถปฏิบัติงานที่ซับซ้อน พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี และใช้ภาษาอังกฤษ และ ICT ในการติดต่อสื่อสารในระดับสากล ส่วนคุณลักษณะที่พึงประสงค์นั้น ต้องมีวิสัยทัศน์ คิดอย่างเป็นระบบ มีจิตวิทยาในการบริหาร มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ และเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ

“นอกจากนี้ บุคคลที่ไม่ได้เรียน แต่ใช้เวลาในการปฏิบัติงานจนมีประสบการณ์ และมีสมรรถนะเป็นที่ยอมรับ ก็มีโอกาสที่จะได้คุณวุฒิเช่นกัน โดยมีการประเมินสมรรถนะเพื่อเทียบประสบการณ์พร้อมรับคุณวุฒิทางการศึกษาที่เหมาะสม ถือเป็นการยกระดับสมรรถนะในการปฏิบัติงาน เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่คนทำงาน และเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไป” ผศ.ดร.ไพโรจน์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: