วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาคนพิการ

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

- รับทราบรายงานผลการรับนิสิตนักศึกษาพิการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๕๓ รมว.ศธ.กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รายงานผลการรับนิสิตนักศึกษาพิการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ว่ามีนิสิตนักศึกษาพิการที่ขอรับเงินอุดหนุนทางการศึกษาจำนวน ๘๔๕ คน เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีในสถาบัน อุดมศึกษา ๙๑ แห่ง ได้แก่ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ๒๐ แห่ง จำนวน ๓๗๘ คน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ๑๙ แห่ง จำนวน ๔๖ คน มหาวิทยาลัยราชภัฏ ๓๑ แห่ง จำนวน ๓๓๘ คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ๙ แห่ง จำนวน ๓๘ คน วิทยาลัยชุมชน ๔ แห่ง จำนวน ๔ คน และกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ๘ แห่ง จำนวน ๓๑ คน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( สพฐ.) แนะแนวนโยบายคนพิการเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับปริญญาตรี เพื่อจะได้เชื่อมต่อและอำนวยความสะดวกให้นักเรียนพิการได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
- รับทราบการออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ๒ ฉบับ ได้แก่ การรับรองหลักสูตรล่ามภาษามือเพื่อการสื่อสารขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๓ และการรับรองมาตรฐานการใช้อักษรเบรลล์ในประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่ง รมว.ศธ. ได้ลงนามประกาศทั้งสองฉบับไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓

- เห็นชอบร่างแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๔ จำนวน ๒๐๘,๖๙๘,๙๘๙ บาท โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๑ และมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ ซึ่งประกอบด้วย ๖ ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การขยายโอกาสและบริการทางการศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการให้แก่หน่วยงานที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านคนพิการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการ ครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรเอกชนร่วมกันพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ในการจัดการศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การจัดหารายได้ (ระดมทุน)
ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การพัฒนาระบบกองทุน (การบริหารจัดการ)


- เห็นชอบร่างนโยบายปฏิรูปการศึกษาสำหรับคนพิการในทศวรรษที่สอง พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑ ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนพิการได้รับการศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเสมอภาค” ซึ่งประกอบด้วย ๔ นโยบาย คือ

๑) คนพิการได้รับการได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาค
๒) คนพิการได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของแต่ละประเภทความพิการในทุกระบบและรูปแบบการศึกษา
๓) การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ
๔) พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ

- เห็นชอบโครงการสลากการกุศลงวดพิเศษ เพื่อสมทบกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ซึ่งจะนำไปส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการอย่างมีคุณภาพในทุกระดับการศึกษา รวมทั้งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา โดยจะจัดหารายได้เพื่อนำไปสมทบกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ด้วยการออกสลากบำรุงการกุศล จำนวน ๙๑ ชุดๆ ละ ๑ ล้านฉบับ เป็นจำนวนเงินประมาณ ๑ พันล้านบาท

- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ๓ คณะ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ด้านต่างๆ ได้แก่ ๑) คณะอนุกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาสำหรับคนพิการ ๒) คณะอนุกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาสำหรับคนพิการในทศวรรษที่สอง ๓) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการด้านกฎหมาย นอกจากนี้เพื่อให้การส่งเสริมการศึกษาคนพิการในระดับจังหวัดสอดคล้องและบูรณาการการทำงานร่วมกัน จึงได้เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ว่าด้วยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการระดับจังหวัด พ.ศ. .... อีกด้วย

รมว.ศธ.กล่าวย้ำว่า ศธ.ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยจะขจัดจุดอ่อนและเพิ่มจุดแข็ง เพื่อสนับสนุนให้คนพิการได้มีโอกาสตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ดังนั้นนอกจากจะต้องการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการโดยคำนึงถึงคุณภาพและโอกาสแล้ว จะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อระดมทรัพยากรและนำไปสู่การปฏิบัติจริงของแผนและกิจกรรมต่างๆ ที่กำหนดขึ้น และจะเป็นส่วนความสำคัญในการเติมเต็มการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: