วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การสร้างองค์ความรู้พัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)จัดประชุมผู้แทนเลขานุการเอกด้านการศึกษาจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ประเทศบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่างความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา คาดสามารถบรรลุข้อตกลงตาม MOU ได้ ภายในระยะ 3 เดือน เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นางสาวสุทธาสินี วัชรบูล รองเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า สกศ.โดยศูนย์พัฒนาการศึกษาระหว่างประเทศ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแสวงหาความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน ในกลุ่มอาเซียนและประเทศคู่เจรจา เช่น ประเทศออสเตรเลียซึ่งมีความร่วมมือด้านการศึกษากับไทยมานานแล้วเสนอว่า จะให้ความร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในเรื่องของการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) โดยยินดีจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาฝึกอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของ สกศ.เพื่อให้มีความสามารถในการบริหาร ควบคุมและตรวจสอบการดำเนินนโยบายและแผนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมทั้งองค์ความรู้เรื่องการสร้างความเป็นพลเมือง (Civic Education) และการจัดการศึกษาปฐมวัย (Early Childhood Education) รวมถึงสื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ

ส่วนประเทศบรูไน กล่าวว่า ปัจจุบัน University of Brunei Darussalam ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยปีละ 2 ทุน เมื่อปี 2553 พร้อมทั้งได้ส่งนักศึกษามาสอนภาษาอังกฤษและภาษามาเลเซียที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี และวิทยาลัยอิสลามยะลา จำนวน 16 คน แต่หลังจากมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของทั้งสองประเทศแล้ว อาจจะมีการพิจารณาในระดับกระทรวงเพื่อเพิ่มจำนวนให้มากยิ่งขึ้น ที่ประชุมครั้งนี้มีข้อเสนอในการจัดสัมมนางานวิจัยเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการศึกษาซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศเข้าไปศึกษาเรียนรู้วิธีการทำงานในระดับกระทรวงศึกษาธิการ และแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาโดยมีการถ่ายโอนหน่วยกิตเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

“ด้านประเทศจีน เชิญให้ประเทศไทยไปศึกษาดูงาน การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยดำเนินการในรูปแบบประจำ (Boarding School) ซึ่งจีนแก้ปัญหานักเรียนที่อยู่ห่างไกลและโรงเรียนจำนวนมากที่มีนักเรียนลดลง ทำให้ประหยัดทรัพยากรได้มาก ซึ่งจะสอดคล้องกับประเทศไทยที่กำลังแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กและการจัดทำโรงเรียนดีประจำตำบล และประเทศออสเตรเลียก็มีข้อเสนอในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ส่วนประเทศลาวเน้นในเรื่องประชาคมอาเซียน ซึ่งลาวพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนกับไทยว่าทำไมลาวจึงประสบความสำเร็จในการสร้างความตระหนักและให้ความรู้เรื่องอาเซียนแก่ประชาชนจนได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยจะนำเสนอเป็นงานวิจัย”นางสาวสุทธาสินี กล่าวและว่า สกศ.จะเร่งดำเนินการจัดทำร่างข้อเสนอดังกล่าวและพร้อมให้มีการลงนามความร่วมมือกันให้เสร็จเรียบร้อยใน 3เดือน เพื่อพัฒนาคุณภาพและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาซึ่งจะได้นำเสนอในที่ประชุมผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: