วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภาคการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔

รมว.ศธ. กล่าวว่า มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภาคการศึกษาชุดใหม่ โดยมีคณะที่ปรึกษา ประกอบด้วย ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายสุเมธ ตันติเวชกุล คณะกรรมการ ประกอบด้วย รมว.ศธ.เป็นประธาน ปลัด ศธ. เป็นรองประธาน ผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้ตรวจราชการและผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพี่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ผอ.สมศ. หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีนายกมล รอดคล้าย รองปลัด ศธ. เป็นเลขานุการคณะกรรมการ

ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่สถานศึกษา ในปีการศึกษา ๒๕๕๓ มีจำนวนสถานศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ดังนี้ สพฐ. ๙๙๙ โรงเรียน, สช. ๔๐ โรงเรียน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒๗ โรงเรียน, กรุงเทพมหานคร ๑๘ โรงเรียน, โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ๑๒ โรงเรียน, สถานศึกษาสังกัด สอศ. ๘๒ แห่ง, กศน. ๘๓ แห่ง รวมทั้งหมด ๑,๒๖๑ แห่ง

ทั้งนี้ รมว.ศธ. ให้ข้อสังเกตว่าในปีต่อไปควรจะมีมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อเป็นองค์รวมในการขับเคลื่อนต่อยอดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้มีผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ประชุมมีความพึงพอใจที่ได้เห็นหน่วยงานภาคการศึกษาทั้งหมดมีความจริงจังที่จะน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปขับเคลื่อนในภาคการศึกษา มุ่งไปสู่การพัฒนาพลเมืองยุคใหม่ให้มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ถือเป็นเป้าหมายที่สอดรับกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ขอบคุณเครือข่ายภาคเอกชนที่มีส่วนในการขับเคลื่อน ได้แก่ โครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ร่วมมือพัฒนาสถานศึกษาทุกระดับ อบรมพัฒนาความรู้ จัดกระบวนการเรียนการสอนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมพัฒนาหลักสูตรและส่งเสริมผู้บริหาร ครูในโรงเรียนเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาคณะกรรมการยังได้กล่าวถึงเป้าหมายการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจพอเพียงที่จะยกระดับโรงเรียนไปสู่ศูนย์การเรียนรู้ที่สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้สถานศึกษาต่างๆ และสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป้าหมายอยู่ที่ ๘๔ ศูนย์การเรียนรู้ ให้เป็นโรงเรียนแบบอย่างจัดกระบวนการเรียนการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่วน ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้เน้นย้ำในเรื่องส่งเสริมการปรับปรุงหลักสูตรวิชาชีพครูให้กับคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ เพื่อให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัยด้วย
รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบเรื่องสำคัญ ๒ เรื่อง ได้แก่

หลักเกณฑ์การขยายผลสถานศึกษาพอเพียงของ ศธ.
โดยใช้เครื่องมือและเกณฑ์การประเมินเพื่อคัดเลือกสถานศึกษาแบบอย่างในการจัดกระบวนการเรียนการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๕ ด้าน คือ ด้านบริการจัดการสถานศึกษา ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ด้านพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษา และผลลัพธ์/ภาพความสำเร็จการจัดการศึกษา ซึ่ง รมว.ศธ. ได้เน้นย้ำว่า ในการประชุมครั้งต่อไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมีการฉายภาพแห่งความสำเร็จ นำเสนอให้เห็นชัดเจนว่าได้ดำเนินการในการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว นอกจากนี้ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับการศึกษาทุกระดับแบบองค์รวม เริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาเอกชน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา กศน. และ ตชด.

การจัดงานมหกรรมแสดงผลการดำเนินงานขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภาคการศึกษา
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ซึ่งรูปแบบในการจัดกิจกรรมเป็นการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ นิทรรศการของสถานศึกษาที่ได้รับการคัดเลือก (Best Practices) การจำหน่ายผลผลิตการดำเนินกิจกรรม จัดเวทีประกวดแข่งขัน การสัมมนาทางวิชาการ ซึ่งได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการไปดำเนินการเตรียมการและประสานจัดตั้งงบประมาณร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: