วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

ภาพสะท้อนคุณภาพการศึกษา

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้ประกาศผลการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2553 ออกมาแล้ว เชื่อว่าหลายคนที่ทราบค่าสถิติพื้นฐานค่าเฉลี่ยโอเน็ตต้องอึ้งแน่ เพราะการสอบทั้ง 8 วิชา แต่ละวิชามีคะแนนเต็ม 100 คะแนน ปรากฏว่ามีเพียงวิชาเดียวที่มีค่าเฉลี่ยเกิน 50 คะแนน คือสุขศึกษาและพลศึกษา ที่นักเรียนเข้าสอบ 347,462 คน คะแนนเฉลี่ย 62.86 คะแนน ส่วนอีก 7 วิชา มีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึง 50 คะแนน ซ้ำร้ายบางวิชายังมีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าผลสอบปีที่แล้ว

โดยวิชาคณิตศาสตร์ เข้าสอบ 356,591 คน เฉลี่ย14.99 คะแนน ภาษาอังกฤษ สอบ 354,531 คน เฉลี่ย 19.22 คะแนน วิทยาศาสตร์ สอบ 349,210 คน เฉลี่ย 30.90 คะแนน ศิลปะ สอบ 347,462 คน เฉลี่ย 32.62 คะแนน ภาษาไทย สอบ 351,633 คน เฉลี่ย 42.61 คะแนน การงานอาชีพและเทคโนโลยี สอบ 347,462 คน เฉลี่ย 43.69 คะแนน และสังคมศึกษา สอบ 357,050 คน เฉลี่ย 46.51 คะแนน ขณะที่ปีการศึกษา 2552 ผลสอบวิชาภาษาไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 46.47 คะแนน คณิตศาสตร์ 28.56 คะแนน และภาษาอังกฤษ 23.98 คะแนน จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมากสำหรับผลสัมฤทธิ์การเรียนของนักเรียนที่มีแนวโน้มตกต่ำลงทั้ง 3 วิชา

ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ว่าชุดใดต่างกำหนดนโยบายให้ความสำคัญต่อการพัฒนาปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อให้การเรียนการสอนมีคุณภาพทั้งผู้บริหารการศึกษา ครู นักเรียน แม้ผลผลิตที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ มิใช่คำตอบของผลแห่งการกระทำ หากลงลึกถึงสาเหตุคงต้องมองย้อนกลับไป 5-10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลและผู้บริหารการศึกษาขณะนั้นได้พัฒนาปฏิรูประบบการศึกษา "ลองผิดลองถูก" อย่างไร จึงได้ผลิดอกออกผลมาให้เราเห็นเช่นวันนี้ จริงอยู่ที่มีนักเรียนจำนวนหนึ่งไปสอบตรงเข้าสถาบันการศึกษา เมื่อรู้ผลก่อนมาสอบกับ สทศ.ทำให้ความตั้งใจทำข้อสอบน้อยลง แต่นั่นก็มิใช่ภาพสะท้อนหลัก เท่ากับการทำงานที่ไม่สอดรับกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้กำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนกับ สทศ. ผู้ออกข้อสอบ

เราเห็นว่า สทศ.ควรวิเคราะห์ผลสอบของนักเรียน อย่างละเอียด ก่อนส่งไปยัง สพฐ. เพื่อปรับปรุงหลักสูตรแล้วกระจายไปยังโรงเรียน พัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนของครูและนักเรียน รวมถึงการเปิดโอกาสให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วม ขณะเดียวกันผู้บริหารระดับสูง รัฐมนตรีและรัฐบาลควรกำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรม มีการประเมินติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นักเรียนและเยาวชนในวันนี้ได้เติบใหญ่ เพียบพร้อมด้วยสติปัญญา ความรู้ความสามารถ เป็นประชากรที่มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญพัฒนาประเทศชาติในอนาคตสืบไป.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผลคะแนนคณิตศาสตร์ ชั้น ป. 6 เชื่อถือไม่ได้เลย ไม่แน่ว่าเป็นตั้งแต่วิธีการตอบ หรือการตรวจคำตอบ นักเรียนที่อ่อนที่สุดให้ห้องเรียนของข้าพเจ้า ได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของห้อง เหลือเชื่อ ในขณะเดียวกัน เด็กคนเดียวกันนี้ สอบ NT ได้คะแนน 0