วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

การศึกษาสงเคราะห์'ชีวิตใหม่เด็กด้อยโอกาส

"เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาในวันนี้ จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างปัญหาให้แก่สังคม ด้วยเหตุผลที่มาจากความไม่รู้

แต่หากทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสให้ทั่วถึงและอย่างมีคุณภาพแล้ว สังคมในอนาคตจะมีบุคคลที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาในทุก ๆด้าน ” นี่คือ คำกล่าวของ ดร.บัญชร จันทร์ดา ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งทำงานกับกลุ่มเด็กด้อยโอกาสมาเกือบทั้งชีวิต ตั้งแต่สมัยที่เป็นนักศึกษาอาสาสมัครของกรมประชาสงเคราะห์ ครูโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จนกระทั่งนั่งเก้าอี้ผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งได้กล่าวย้ำกับสื่อมวลชน ที่ติดตามคณะ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ออกตรวจเยี่ยมและนิเทศการดำเนินงานโรงเรียน เพื่อช่วยกระจายข่าวให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาให้แก่เด็กด้อยโอกาส

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 จังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ที่ ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย เป็น 1 ใน 50 โรงเรียน ของกลุ่มโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นสถานศึกษาจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสที่ไม่สามารถพึ่งตนเอง ครอบครัว และผู้ปกครองได้ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือการบริการทางการศึกษาเป็นกรณีพิเศษต่างจากกลุ่มเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนปกติทั่วไป

ดร.บัญชร เล่าถึงการจัดการศึกษาของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 จังหวัดพิษณุโลก ว่า ที่โรงเรียนจัดการศึกษาในรูปแบบโรงเรียนประจำ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 12 ปี สอนตั้งแต่ ชั้น ป.1- ม.6 ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลกทั้งจังหวัด และอำเภอท่าปลา อำเภอฟากท่า และอำเภอบ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ แต่ก็มีบ้างที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กด้อยโอกาสในจังหวัดอื่น ๆ ประสานส่งตัวมาเข้าเรียน ซึ่งที่นี่มีเด็กต้องการเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยอาคาร สถานที่ที่จำกัด จึงต้องคัดเลือกเด็กเข้าเรียน ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 743 คน โดยการรับเด็กเข้าเรียนนั้น จะพิจารณาจากเด็กด้อยโอกาส 10 ประเภท คือ 1. เด็กที่ถูกบังคับให้ขายแรงงานหรือถูกบังคับให้ทำงานหารายได้ก่อนวัยอันควร 2. เด็กเร่ร่อน ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยพักพิงเป็นหลักแหล่ง 3. เด็กที่อยู่ในธุรกิจทางเพศหรือโสเภณีเด็ก 4. เด็กที่ถูกทอดทิ้ง กำพร้า 5. เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ 6. เด็กยากจนมากเป็นพิเศษครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี 7. เด็กในชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวเขา ชาวเล เป็นต้น 8. เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับสารเสพติด หรือ เสี่ยงต่อการถูกชักนำให้ประพฤติตนไม่เหมาะสม 9. เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ หรือ โรคติดต่อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจ และ 10. เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ตลอดจนเด็กหญิงที่ตั้งครรภ์นอกสมรส ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การทำแท้ง การฆ่าตัวตาย และการทอดทิ้งทารก เป็นต้น

สำหรับการจัดการเรียนการสอนนอกจากจะให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะวิชาการใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้แล้ว ยังเน้นการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพด้วย โดยเชิญอาจารย์จากวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มาสอนวิชาชีพ ในด้านคหกรรม เกษตรกรรม และช่างไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งให้เด็กได้รวมกลุ่มประกอบอาชีพหารายได้ระหว่างเรียน เช่น กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มน้ำดื่ม และกลุ่มผลิตข้าว เป็นต้น ซึ่งทางโรงเรียนจะรับซื้อ และบางส่วนก็นำไปจำหน่ายให้แก่คนในชุมชนใกล้เคียง ทั้งนี้เพราะคำตอบที่เด็กหรือครอบครัวต้องการมากที่สุด คือ ขอให้เด็กเมื่อจบการศึกษาแล้วมีงานทำ ส่วน ครู ความภาคภูมิใจที่ทำให้ยิ้มได้ คือ ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จ และที่ผ่านมานักเรียนซึ่งจบจากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ก็เป็นที่ยอมรับจากสังคมว่า เป็นผู้แกร่งในประสบการณ์ สามารถสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว และมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ตนอยู่ให้เจริญก้าวหน้าได้

ความภาคภูมิใจที่สามารถหารายได้ระหว่างเรียนสะท้อนออกจากคำบอกของ “เคน” หรือ นายสุวิจักษณ์ ชาวไร่นา นักเรียนชั้น ม.3 ที่เล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ว่า นอกจากจะได้ความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังช่วยพ่อ แม่ ทำงานได้ โดยคุณครูได้แบ่งที่ดินให้ปลูกผักคนละ 2 แปลง ซึ่งตนจะปลูกผักกวางตุ้ง และผักบุ้งเก็บขายให้โรงอาหารของโรงเรียน ขณะเดียวกันก็ได้ทำงานอยู่ในกลุ่มโรงสีข้าว ทำให้มีรายได้เดือนละ 800-900 บาท

ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดบริการทางการศึกษาให้แก่เด็กด้อยโอกาส โดยมีรูปแบบที่หลากหลาย และเฉพาะข้อมูลจากกลุ่มโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ของ สพฐ. ซึ่งนับจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2553 พบว่า ทั้ง 50 โรงเรียน สามารถรองรับเด็กด้อยโอกาสได้ถึง 38,942 คน แต่ก็เชื่อว่ายังไม่เพียงพอต่อเด็กด้อยโอกาสที่ยังรอคอยโอกาสทางการศึกษา

การศึกษาน่าจะเป็นของขวัญชิ้นสำคัญที่สุดสำหรับเด็กด้อยโอกาส ดั่งคำกล่าวของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ที่ว่า “ จุดประทีปดวงใดก็ไม่เหมือน สงเคราะห์เพื่อนผู้ขาดวาสนา ชีวิตน้อยค่อยชื่นตื่นขึ้นมา รับแสงแจ่มเจิดจ้าจากตะวัน ”.

ณัชชารีย์ วิเชียรรัตน์
นสพ.เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: