วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

ผลประชุมองค์กรหลัก ๑๒ เมษายน ๒๕๕๔

รมว.ศธ.กล่าวว่า ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้ให้ทุกกระทรวงจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอของบประมาณสำรองกรณีฉุกเฉิน ซึ่งในการประชุม ครม.วันนี้ ทางกระทรวงมหาดไทย คมนาคมได้เสนอขอไปแล้ว ส่วน ศธ.จะนำเสนอคำของบประมาณในการประชุม ครม.ครั้งต่อไปในวันพุธที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔ ดังนั้นจึงขอให้ทุกองค์กรหลักได้จัดทำรายละเอียดเสนอของบประมาณให้ตนลงนามภายในเย็นวันจันทร์ที่ ๑๘ เมษายนนี้ เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป ในส่วนของการเสนอของบประมาณช่วยเหลือสถานศึกษาที่เสียหายจากอุทกภัยในภาคใต้ ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๙๑๖ โรง ขอให้เน้นเฉพาะการช่วยเหลือเฉพาะกรณีเร่งด่วนเท่านั้น

เห็นชอบการขยายความร่วมมือ MOU ศธ.กับ สกว.ระยะที่ ๒

ที่ประชุมได้พิจารณาการทำ MOU ระหว่าง ศธ.กับสำนักงานบริหารโครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สกว.) ซึ่งเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาตั้งแต่การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งสอง เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ และนำมาสู่การจัดตั้ง สกว. ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา (๒๕๕๑-๒๕๕๓) ได้มีผลการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้รวมทังสิ้น ๒๕ โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการระยะสุดท้าย ๑๐ โครงการ และเพิ่งได้รับอนุมัติงบประมาณวิจัยอีก ๒ โครงการในปีนี้ นอกจากนี้ผลของการดำเนินงานโครงการยังช่วยพัฒนาคุณภาพนักเรียน ครู โรงเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘๐-๘๕ ผ่านโครงการเครือข่าย KM ของ สพฐ. โดยมีครูจำนวนกว่า ๑,๐๐๐คน รวมทั้งนักเรียนอีก ๒๐,๐๐๐คน ได้รับประโยชน์จากโครงการ

ดังนั้น เพื่อให้ความร่วมมือระยะที่ ๑ (๒๕๕๑-๒๕๕๓) ได้ดำเนินการต่อเนื่องต่อไปตามยุทธศาสตร์ของโครงการใน ๕ มิติที่สำคัญ คือ

๑) การศึกษาเพื่อการมีงานทำ ซึ่งร่วมกับ สอศ.
๒) คุณภาพการศึกษา ร่วมกับ สพฐ.
๓) พหุวัฒนธรรมศึกษา ร่วมกับ สกอ.
๔) สื่อเพื่อการเรียนรู้ ร่วมกับ สป.
๕) นโยบายการศึกษา ร่วมกับ สกศ.

ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบการขยายความร่วมมือระยะที่ ๒ (๒๕๕๔-๒๕๕๖) ระหว่างหน่วยงานทั้งสอง และเห็นชอบโครงสร้างการบริหาร แนวทางการทำงาน และแนวทางการบริหารงบประมาณความร่วมมือระหว่างองค์กรหลักกับสำนักงานบริหารโครงการความร่วมมือฯ (สคศต.) และสถาบันรามจิตติ ในฐานะตัวแทน สกว. พร้อมทั้งเห็นชอบการตั้ง สคศต. โดยมีคณะกรรมการบริหารโครงการระยะที่ ๒ รวม ๒๒ ท่าน ซึ่งมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการโครงการ เพื่อที่จะสานต่อการดำเนินงานในระยะที่ ๒ ตลอดจนจะได้แถลงข่าวการลงนามความร่วมมือในระยะที่ ๒ ต่อไป

รับทราบความก้าวหน้าโรงเรียนดีประจำตำบล

ที่ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้าโรงเรียนดีประจำตำบล ซึ่ง สพฐ.ได้รายงานว่า

- ปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ได้ดำเนินการรุ่นที่ ๑ ไปแล้วจำนวน ๑๘๒ โรง ใช้งบประมาณรวม ๒,๐๗๑ ล้านบาท
- ปีงบประมาณ ๒๕๕๔ ได้ดำเนินการรุ่นที่ ๒ จำนวน ๘๗๗ โรง และได้จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนรุ่น ๑ อีก ๙ ล้านบาท
- ปีงบประมาณ ๒๕๕๕-๒๕๕๗ มีเป้าหมายดำเนินการในรุ่นที่ ๓ จำนวน ๕,๔๗๔ โรง โดยปีงบประมาณ ๒๕๕๕ ได้เสนอของบประมาณไปแล้วรวม ๓,๐๐๐ ล้านบาท

การดำเนินงานที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ตามลำดับ เช่น การคัดเลือกโรงเรียน การดำเนินการตามนโยบาย ๗๗๗ การนำระบบ GIS มาใช้ การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาคุณภาพอย่างแท้จริง การให้เขตพื้นที่การศึกษาคัดสรรโรงเรียนดีเป็นพี่เลี้ยง การขอความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับโครงการ ๑ มหาวิทยาลัย ๑ จังหวัด การนำระบบ KPI มาใช้ การจัดประชุมเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนต้นแบบ ๗ ภูมิภาค โดยเฉพาะยุทธศาสตร์โรงเรียนต้นแบบ ๗ ภูมิภาคนั้น จะพัฒนาให้มีรถประจำโรงเรียน หรือสร้างสระว่ายน้ำที่ทันสมัย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบโลโก้โรงเรียนดีประจำตำบล ซึ่งเป็นรูปลายกนก โดยมีมือล้อมรอบด้วย

ที่มา - ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: