วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สพฐ.เผยโรงเรียนร้างมากถึง 137 แห่ง ชี้ยุบรวม-ยุบเลิกต้องไม่กระทบเด็ก

(11 พ.ค.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ว่า สพฐ.ได้มอบนโยบายและแนวทางให้ สพท.ไปกำหนดแผนปฏิบัติการ 2 เรื่อง เรื่องแรกด้านวิชาการ สพฐ.จะขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาโดยใช้โอเน็ตเป็นเครื่องมือในการที่จะนำไปสู่การเรียนการสอนการวัดผลประเมินผล เพื่อช่วยให้โรงเรียน ครูผู้สอน มีแนวทาง มีมาตรการในการส่งเสริมนักเรียนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ สพฐ.ตั้งเป้าปี 54 ภาษาไทย ร้อยละ 40 และคณิตศาสตร์ ร้อยละ 35 จะนำมาใช้ ป.6 เนื่องจากโอเน็ตเป็นการสอบในช่วงชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 โดยให้ สพท.ไปวางแผนในทางปฏิบัติต่อไป ส่วนระดับ ม.3 และ ม.6 อยู่ระหว่างการฟังความคิดเห็นของผู้บริหารระดับมัธยมศึกษา อาจจะมีทักษะความคิด ทักษะต่างประเทศเข้ามาเป็นตัวประกอบในการพิจารณา เพราะมีจุดเน้นแตกต่างไปจาก ป.6

“ปี 51-52 เราดูค่าเฉลี่ยแล้วพบว่า หากกำหนดวิชาภาษาไทย ร้อยละ 40 มีความเป็นไปได้ และท้าทายพอสมควร แล้วยึดโยงปี 61 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการปฏิรูปในทศวรรษที่สอง ส่วนคณิตศาสตร์ ร้อยละ 35 ซึ่งค่าเฉลี่ยนี้เป็นเป้าหมายแล้วให้ สพท.วางแผนกับโรงเรียนแล้วขับเคลื่อนต่อไป” นายชินภัทรกล่าวว่า การกำหนดค่าเฉลี่ยนี้ไม่ใช่กดดัน สพท.และโรงเรียน แต่เราจะบริหารในลักษณะสนับสนุนให้กำลังใจ โดยมีการเตรียมความพร้อมในชั้นเรียน

นายชินภัทรอธิบายว่า ที่กำหนดเงื่อนไขตรงนี้ขึ้นมาเพื่อให้โอเน็ตศักดิ์สิทธิ์ โดยนำเข้าไปเป็นสัดส่วนการเรียนต่อ เลื่อนชั้น การจบช่วงชั้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องพิจารณากันอย่างรอบครอบ คงไม่มีบทลงโทษ แต่เป็นเงื่อนไขให้แก่ครูผู้สอน ผู้บริหารโรงเรียนมากกว่า โดยครูอาจจัดกิจกรรมสอนซ่อมเสริมเพื่อให้นักเรียนที่ได้คะแนนต่ำกว่าที่ กำหนด อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการให้บรรลุตามเป้าหมายจะต้องมีการเตรียมการตั้งแต่ชั้น ป.1-5 ไม่ใช่มาเร่งชั้น ป.6

“จะนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ในการสอบคัดเลือก ม.1 และ ม.4 ปีหน้า โดยจะเพิ่มสัดส่วนโอเน็ตเข้าไปบวกกับการสอบคัดเลือก ซึ่งจะออกประกาศการรับนักเรียนจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะการสอบคัดเลือกที่ผ่านๆมาโรงเรียนส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 ใช้ข้อสอบของตัวเอง” เลขาธิการ สพฐ.กล่าว

ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องการบริหาร โดยมีการหยิบยกการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้ สพท.ดำเนินการอย่างจริงจัง โดยปี 54 เราพุ่งไปที่โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คนลงไป ซึ่งมีประมาณ 2,500 โรง โดยจะนำรายชื่อโรงเรียนเหล่านี้กำหนดลงไปในแผนที่ GRS แล้ว ให้ สพท.ไปดูว่าโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ใดบ้างแล้วเข้าไปบริหารจัดการ จะจัดยุบรวม ยุบเลิก หรือเป็นการสอนรวมแบบหลายๆ โรงเรียนเข้าด้วยกัน ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารของ สพท.ว่าเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า 2,500 โรง จะถูกยุบภายใน 1-2 ปีนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทและความจำเป็น

“กรณีที่กลุ่มการศึกษาทางเลือกกังวลว่าจะมีการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก สพฐ.คงไม่ใช่วิธี ประกาศปุ๊บแล้วยกเลิกทันที ซึ่ง สพท.จะต้องประสานกับชุมชนก่อน หากกลุ่มการศึกษาทางเลือก จะเข้ามาใช้ประโยชน์สามารถเสนอรายชื่อโรงเรียนเข้ามา สพฐ.แล้วจะส่งต่อไปยัง สพท.เพื่อพิจารณาต่อไป” นายชินภัทรกล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มการศึกษาทางเลือกมายื่นหนังสือนั้นไม่ใช่จะใช้ประโยชน์จากโรงเรียน แต่ไม่ต้องการให้ยุบโรงเรียนเพราะจะมีผลกระทบต่อเด็ก นายชินภัทรกล่าวว่า ก่อนที่จะมีการยุบรวม ยุบเลิก นั้น สพท.จะต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน แต่ที่มีแผนยุบรวม ยุบเลิก นั้น สพฐ.มองเรื่องการบริหาร ถ้าโรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนมาก และเพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ จะทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการลดลง ในสภาวะที่เรามีทรัพยากรจำกัด ทั้งงบประมาณและบุคลากร ซึ่ง สพฐ.ไม่สามารถจะเจียดจ่ายให้โรงเรียนได้เพียงพอ ทำให้เกิดวิกฤติขาดครู ขณะเดียวกันอัตราส่วนครูกับนักเรียนยังเกินเกณฑ์ สิ่งเหล่านี้ สพท.จะต้องเข้ามาดูแลต่อไป

ถามว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ย้ายไปสังกัด อบต.ได้หรือไม่ เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า ทุกอย่างสามารถทำได้หมด มีโรงเรียนหลายแห่งมีเด็ก 10-15 คน ถ้านักเรียนไม่สามารถไปเรียนยังโรงเรียนใกล้เคียงได้ จัดสรรค่าพาหนะ แล้วยังเดินทางไม่ได้ หรืออาจมีอันตรายระหว่างเดินทาง จะไม่ยุบโรงเรียนเหล่านี้ ส่วนโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียน ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยพร้อมที่จะยุบอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ได้ให้เวลา สพท.1 เดือนเพื่อวางแผนยุบรวม ยุบเลิก

อนึ่ง โรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนปัจจุบันมี 137 โรง โรงเรียนที่มีนักเรียน 1-20 คน จำนวน 444 โรง โรงเรียนที่มีนักเรียน 21-40 คน จำนวน 1,964 โรง โรงเรียนที่มีนักเรียน 41-60 คน จำนวน 3,082 โรง โรงเรียนที่มีนักเรียน 61-80 คน จำนวน 3,355 โรง โรงเรียนที่มีนักเรียน 81-100 คน จำนวน 3,040 โรง และโรงเรียนที่มีนักเรียน 101-120 คน จำนวน 2,372 โรง

ที่มา - ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: