วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สพฐ.พัฒนาห้องสมุดมีชีวิต กระตุ้นเยาวชนรักการอ่าน

นางวีณา อัครธรรม ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.กล่าวว่า การพัฒนาห้องสมุดนั้นมีบทบาทสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ที่ต้องการให้คนไทย รักการอ่าน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต และห้องสมุด ซึ่งเป็นหัวใจ ที่จะช่วยให้เด็กหันมารักการอ่านได้ รองจากบ้าน โดยครูจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากอ่านหนังสือและสามารถปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านได้ สพฐ.ร่วมมือกับ TK park มาตั้งแต่ปี 255 จนถึงปัจจุบัน เพื่อจุดประกายการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตให้กับโรงเรียน เพราะ TK park ถือเป็นต้นแบบห้องสมุดมีชีวิตที่ทันสมัย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมตามที่เด็กสนใจ ที่จะทำให้เด็กทำตาม และสามารถเชื่อมโยงไปสู่ทุกกลุ่มสาระได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพของผู้เรียน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาพื้นฐานของเด็กไทย สู่การเป็นประชาคมอาเซียน

“ ขณะนี้มีเด็กนักเรียนเข้ามาใช้ห้องสมุดเพิ่มขึ้น100% โดยเฉพาะกับเด็กที่ไม่เคยเข้าห้องสมุดมาก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการปรับปรุงด้านกายภาพบรรยากาศภายในห้องสมุดที่สวยขึ้น และมีสื่อให้เลือกหลากหลาย ไม่ใช่มีเพียงหนังสือเท่านั้น ซึ่งการพัฒนาดังกล่าว ช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดความกระตือรือร้นเข้ามาใช้ห้องสมุดมากขึ้นได้จริง ” นางวีณา กล่าว

ด้าน น.ส.เฉียดฉัตรโฉม ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวเสริมว่า ห้องสมุดมีชีวิต ไม่เพียงแค่การปรับปรุงพื้นที่ เพื่อจูงใจให้เด็กเข้ามาใช้ห้องสมุดเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียนและครูที่ต้อง “คิดนอกกรอบ” ที่เรียกว่า “ครีเอทีฟ” หรือ ความคิดสร้างสรรค์ เช่นหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว นำมาใช้ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

PISA เผยผลประเมิน นร.ไทยพบการอ่าน คณิต วิทย์ ดิ่งเหว
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวคิดที่ได้จากการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนไทย ในโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซ่า (PISA) ปี ค.ศ.2009 หรือ พ.ศ.2552 โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สสวท. พบว่านักเรียนไทยมีผลประเมินอยู่ในกลุ่มต่ำ 3 วิชา คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

จากผลการประเมินอยู่ในกลุ่มต่ำ ทาง ศธ.จึงดำเนินการปรับปรุงยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยมีข้อเสนอเร่งด่วน 3 ข้อคือ 1.อบรมพัฒนาวิชาชีพครูไปสู่คุณวุฒิที่เหมาะสมตามระบบครูพันธุ์ใหม่ และการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ครู 2.หลักสูตรการเรียนการสอนต้องลำดับความสำคัญของวิชาหลักและเวลาเรียน และ3.เรื่องทรัพยากรการเรียน จะต้องดำเนินการให้สอดรับกับความเป็นจริง เพราะผลการประเมินของพิซ่าพบว่า การจัดทรัพยากรโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ งบประมาณซื้อ การจัดกิจกรรม อาทิ การกวดวิชา ไม่มีผลต่อนัยยะสำคัญทางสถิติ ฉะนั้นต้องเน้นคุณภาพที่เกิดจากห้องเรียน คือเน้นการเรียนการสอนที่พัฒนาในเรื่องของการรับรู้ ความเข้าใจ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ การจัดตั้งคำถามที่เน้นพัฒนาเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ และให้มีคำถามอัตนัย ตลอดจนคำถามปลายเปิด

นายชินวรณ์ กล่าวว่า ตนได้มอบนโยบายให้ สพฐ. จัดตั้งเวิร์คกิ้ง กรุ๊ป เพื่อประชุมแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนวคิดในการยกระดับคุณภาพการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนไทยช่วงอายุ 15 ปี นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ สสวท. ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมาย 3 ข้อ ได้แก่ 1.เตรียมความพร้อมวิชาหลักให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่นานาชาติยอมรับ 2.พัฒนาความรู้ กระบวนการคิด ให้เท่าเทียมมาตรฐานโลก หรือใกล้เคียงประเทศในทวีปเอเชีย ที่มีผลการประเมินสูง และ3.ต้องพัฒนาการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพมาตรฐานนานาชาติ

ที่มา - ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: