วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาฯ เห็นชอบร่างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เชื่อมโยงระบบการศึกษา 9 ระดับ

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.54 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ ครั้งที่ 3/2554 ณ ห้องประชุม 3201 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ในการแบ่งระดับคุณวุฒิ ขอบเขตความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ออกเป็น 9 ระดับ เพื่อให้เป็นมาตรฐานระดับชาติในทุกสาขาวิชาในการผลิตบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและสามารถเทียบเคียงกับนานาประเทศ รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558

นางสุทธศรี วงษ์สมาน รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันการพัฒนากรอบคุณวุฒิของประเทศไทยได้จัดทำแล้วในระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวศึกษา ส่วนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่กรอบที่จะเป็นร่มใหญ่เพื่อเชื่อมโยงระบบการศึกษาทุกระดับยังไม่มี ดังนั้น สกศ. จึงได้นำเสนอร่างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเพื่อพิจารณา ซึ่งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศพิจารณาเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นกรอบที่จะเชื่อมโยงคุณวุฒิทางการศึกษาตามเกณฑ์ระดับการเรียนรู้ในแต่ละระดับ ประเภท และสาชาวิชา กับคุณวุฒิวิชาชีพตามเกณฑ์ระดับความสามารถในการปฏิบัติงานของกลุ่มอาชีพต่างๆ ยกระดับคุณค่าของผู้มีความสามารถหรือสมรรถะในการปฏิบัติงาน โดยแบ่งตามความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เป็น 9 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 มัธยมศึกษาตอนต้น+ทักษะอาชีพ ระดับ 2 มัธยมศึกษาตอนปลาย+ทักษะอาชีพ ระดับ 3 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับ 4 อนุปริญญา/ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระดับ 5 ปริญญาตรี ระดับ 6 ประกาศนียบัตรบัณฑิต ระดับ 7 ปริญญาโท ระดับ 8 ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง และระดับ 9 ปริญญาเอก และจะต้องมีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ดูแล เทียบโอนคุณวุฒิและประสบการณ์ ควบคุม ติดตาม ประเมิน และพัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รวมถึงทำการทบทวนปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

“สำหรับรายละเอียดของกรอบคุณวุฒิในแต่ละระดับ อาทิ ในระดับม.ต้น+ทักษะอาชีพ จะต้องมีความรู้พื้นฐานในการเขียน อ่าน พูด สื่อสาร การคำนวณ จะต้องมีทักษะในการสื่อสาร ทักษะการใช้เทคโนโลยี ทักษะการคิด ระดับปวช. จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการ วิธีการ ทฤษฎีในสาขาวิชาชีพเฉพาะ ภาษาอังกฤษในวิชาชีพ และความรู้พื้นฐานทาง ICT มีทักษะในการเชื่อมโยงความรู้ไปสู่งานใหม่ สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษเฉพาะทางในวิชาชีพ ระดับป.ตรี จะต้องมีความเข้าใจในวิชาชีพเชิงลึก พัฒนาการเรียนรู้ทางวิชาการและการบริหารระดับกลาง มีทักษะในการวางแผนการบริหาร พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การใช้ภาษาอังกฤษและ ICT เพื่อติดต่อสื่อสารในระดับสากล ระดับป.เอก จะต้องมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาการบริหารจัดการบริหารองค์กร มีทักษะในการคิดค้นพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง สร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับชาติและนานาชาติเพื่อการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ เป็นต้น” รองเลขาธิการ กกศ. กล่าว

ที่มา ข่าวสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น: