วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

ประกันการศึกษาอาเซียนยกระดับคุณภาพมหา'ลัยภูมิภาค

เหลือเวลาอีกไม่กี่ปีก็จะเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากกับทุกภาคส่วนแม้แต่วงการการศึกษา ที่การเปิดเสรีอาเซียนจะทำให้การเคลื่อนย้ายนักศึกษาและบุคลากรเป็นไปอย่างสะดวก รวมถึงจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายวัฒนธรรม องค์ความรู้ต่าง ๆ หมายความว่า บัณฑิตที่จบมาต้องมีศักยภาพที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้

การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นหนึ่งกลไกที่เข้ามารองรับความมีคุณภาพของบัณฑิต ด้วยการควบคุม ตรวจสอบและประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในแต่ละองค์ประกอบตามดัชนีบ่งชี้ที่กำหนดไว้ ซึ่งการประเมินนี้จะรับรองคุณภาพของสถานศึกษาเพื่อเป็นหลักประกันว่าสถาบันให้ผลผลิตทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ การประกันคุณภาพการศึกษาไม่ได้มีแค่ระดับประเทศเท่านั้น เพราะในอาเซียนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่แพ้กัน โดยระดับอาเซียนมีการประกันคุณภาพการศึกษาอยู่ 2 รูปแบบคือ เครือข่ายการประกันคุณภาพการศึกษา ASEAN University Network Quality Assurance (AUNQA) และThe ASEAN Quality Assurance Network (AQAN) โดย AUNQA อยู่ภายใต้เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN) มีสมาชิก26 มหาวิทยาลัย จาก 10 ประเทศ เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับคัดเลือกจาก กระทรวงศึกษาธิการของประเทศนั้น ก่อนส่งไปให้คณะกรรมการ AUN พิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ AUN กำหนดมหาวิทยาลัยสมาชิกไว้ที่ 30 แห่งเท่านั้น เพราะเห็นว่าการทำงานของเครือข่ายเป็นความร่วมมือภายใต้พันธะสัญญาเพื่อประโยชน์ของอาเซียน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประเทศตน ทั้งต้องใช้ทรัพยากรในการทำงานมาก

"รศ.ดร.นันทนา คชเสนี" ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN) กล่าวว่า การออกแบบแนวทางการประกันคุณภาพนั้นจะให้ผู้เชี่ยวชาญของแต่ละประเทศสมาชิกทำร่วมกับสหภาพยุโรป (อียู) ในแรกเริ่มคู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาใช้ฐานความคิดจากยุโรป แต่ปี 2553 ได้จัดทำคู่มือเล่มใหม่ออกมา ปรับเปลี่ยนตัวดัชนีบ่งชี้ใหม่ให้เข้ากับพื้นฐานความคิดและสถานการณ์ของอาเซียน AUNQA จะทำการประเมินคุณภาพหลักสูตรระดับปริญญาตรีใน 3 กลุ่มวิชาชีพ คือ วิศวกรรม ธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ AUN ให้ความสนใจสำหรับเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับตลาดแรงงานหลังเปิดเสรีอาเซียน ซึ่งจะทำการประเมินกับมหาวิทยาลัยสมาชิกเท่านั้น โดยจะเข้าไปสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้บริหาร คณบดี นักศึกษา เจ้าหน้าที่บุคลากร รวมถึงเยี่ยมชมระบบโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร เช่น ห้องสมุดห้องคอมพิวเตอร์ ว่าได้มาตรฐานหรือไม่

"การประเมินขึ้นอยู่ว่ามหาวิทยาลัยนั้น ๆ พร้อมจะให้ประเมินในหลักสูตรไหน พอประเมินแล้วจะประกาศว่าผ่านการประเมินจาก AUN ถือว่าเป็นการประเมินระดับภูมิภาค ไม่ใช่แค่ระดับชาติเท่านั้น ส่วนผลการรับรองจะอยู่ได้ 5 ปี เพื่อให้เขาปรับปรุงหลักสูตรใหม่ให้ทันสมัย ขณะนี้มหาวิทยาลัยสมาชิกไม่ได้ผ่านทุกแห่ง เพราะเราใช้ระบบอาสาสมัคร ใครพร้อมก็ทำก่อนส่วนมหาวิทยาลัยของไทย 4 แห่ง คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.บูรพาม.มหิดล ม.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสมาชิกAUN ยังไม่ได้เข้ารับการประเมินอย่างไรก็ตาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะขอรับการประเมินหลักสูตรบัญชีและวิศวกรรมศาสตร์ในปีหน้า" สำหรับ AQAN จะเป็นการประกันคุณภาพการศึกษาภายในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งทุกประเทศในอาเซียนที่มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จะเข้าเป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ "ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์"ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า AQAN ก่อตั้งมา 3 ปีแล้ว มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษาของกลุ่มอาเซียน ด้วยการจัดระบบให้มีตัวพื้นฐานร่วมกัน (Common Template)เพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการโอนย้ายนักศึกษา หรือการโอนหน่วยกิต ซึ่งหากมีมาตรฐานใกล้เคียงกันก็จะเกิดการยอมรับได้ "ขณะนี้สมาชิกยังไม่ครบ เพราะบางประเทศยังไม่มี สมศ. อย่างลาว กัมพูชาหรือกรณีสิงคโปร์ก็ไม่เข้าร่วม เพราะการศึกษาสิงคโปร์ก้าวไกลระดับโลกแล้วอย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มก็พยายามผลักดันให้ทุกประเทศเข้าร่วมเพื่อช่วยกันพัฒนาอาเซียน สำหรับปีหน้าที่ผมจะเป็นประธาน AQAN จะนำตัวบ่งชี้3 มิติของไทยเข้าเสนอที่ประชุม ซึ่งกล่าวได้ว่า กรอบการประกันคุณภาพการศึกษาของไทยล้ำหน้าประเทศอื่นในอาเซียน"
ตัวบ่งชี้ 3 มิติ ประกอบด้วย1) ตัวบ่งชี้พื้นฐาน เป็นตัวบ่งชี้จำเป็นที่ทุกสถาบัน ทุกสถานศึกษาต้องมี และต้องปฏิบัติให้ได้ 2) เรื่องอัตลักษณ์มหาวิทยาลัยต้องผลิตบัณฑิตที่มีลักษณะเด่นของตัวเองตามปรัชญาปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายของสถานศึกษา และ 3) มาตรการส่งเสริม มหาวิทยาลัยต้องช่วยดูแลสังคม ด้วยการทำมาตรการส่งเสริมตามสภาพความจำเป็นของสังคม ทั้งนี้ ยังมีแนวการพัฒนาด้วยโครงการ1 ช่วย 9 หมายถึง ประเทศที่มีความพร้อมและมีศักยภาพกว่าประเทศอื่นต้องให้ความช่วยเหลือกับประเทศที่ยังไม่พร้อมให้พัฒนาขึ้น คือแทนที่จะแข่งขันเพื่อประโยชน์ของประเทศตน ก็มาร่วมมือกันพัฒนาให้เกิดวงจรคุณภาพทางการศึกษาในกลุ่มอาเซียน เป็นการสร้างมาตรฐานร่วมกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งรับตลาดเดียวกัน (single market) หลังปี 2558

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: