วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

รื้อระเบียบรับมืออาเซียน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ณโรงแรมแอมบาสซาเดอร์จอมเทียน จ.ชลบุรี ว่า ผู้อำนวยการ สพท.ต้องดูศักยภาพพื้นที่ว่ามีจุดเด่นอะไร รวมถึงดึงผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้การอบรมและเติมเต็มความรู้แก่เด็กและบุคลากร จากนี้เขตพื้นที่ฯต้องคิดโครงการเสนอส่วนกลาง ไม่ใช่รอคำสั่ง โดยตนจะกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่ฯมากขึ้น และต่อไปการจัดสรรงบประมาณ จะเป็นไปตามความสามารถของเขตพื้นที่ฯการประเมินและวัดผลของหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ก็ต้องเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตามไปด้วย

"ในปี 2558 ไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน แต่เรายังไม่มีความพร้อม ดังนั้น ต้องเร่งปรับเปลี่ยนการเรียนภาษาอังกฤษ โดยต้องสอนการพูดก่อนไวยากรณ์ และเน้นสาขาที่ต้องติดต่อกับต่างชาติก่อน ทั้งนี้ได้มอบให้นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณาปรับกฎระเบียบที่ยังเป็นปัญหาขัดต่อการพัฒนาเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน" นายวรวัจน์กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

'รื้อหลักสูตรมัธยมแบ่ง3สายสั่งจังหวัดออกแบบเหมาะแต่ละร.ร.-คาดทันใช้ปี'55

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศธ. กล่าวในการเปิดการประชุมปฏิบัติการยกระดับคุณภาพการจัดการมัธยมศึกษา พร้อมมอบนโยบายการศึกษาแก่ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่ จ.แพร่ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ต้องการให้จังหวัดรู้จักตัวเองโดยดูจากศักยภาพ 5 ด้าน คือ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรม และบุคลากร จะต้องวิเคราะห์แต่ละด้านอย่างละเอียดเพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลในการพัฒนาจังหวัด เพื่อพัฒนาต่อยอดจุดแข็ง โดยเชื่อมโยงกับระบบการศึกษา ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา รวมทั้ง กศน. และชุมชน

"ที่ผ่านมาระบบการศึกษาจัดเพียงหลักสูตรเดียว แต่ใช้กับนักเรียนทั้งประเทศ จึงไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ การเรียน 12 ปี เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่ได้เรียนตามความถนัด ปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพอย่างมาก ดังนั้น การเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาจะต้องแบ่งเป็น 3 สาย คือ 1.มัธยมที่มุ่งสู่การเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย 2.มัธยมเชิงปฏิบัติเน้นประกอบอาชีพสาขาต่างๆ และ 3.มัธยมกลุ่มความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการนำนโยบายการพัฒนาการศึกษาแบบกลุ่มพื้นที่ และการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 2555 สถานศึกษาจะต้องร่วมมือกับหน่วยการศึกษาในจังหวัด แปลงนโยบายสู่แผนปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง" นายวรวัจน์ กล่าว

ด้าน นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดศธ. กล่าวว่า การออกแบบหลักสูตรใหม่ จะมีครู อาจารย์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และท้องถิ่นร่วมกันสนองความต้องการ และเหมาะสมแต่ละพื้นที่ โดยส่วนกลางจะต้องลดบทบาทลง หากจัดทำหลักสูตรได้ตั้งแต่เดือนต.ค.นี้ ก็ใช้ได้ทันปีการศึกษาที่ 1/2555 ที่ประชุมยังเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรการพัฒนาการศึกษาตามศักยภาพของพื้นที่ โดย 5 มหาวิทยาลัย จะมาร่วมกับโรงเรียนมัธยม จัดการศึกษาเชิงบูรณาการตามศักยภาพของพื้นที่ จัดหลักสูตรตามความถนัด อาจส่งอาจารย์ช่วยสอน หรือสนับสนุนเทคโนโลยี

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น: