วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การประชุมกำหนดกรอบแนวทางยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2556-2559

ดร.ศศิ ธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมกำหนดกรอบแนวทางยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๕๙ ของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ ในเรื่อง แผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปีงบประมาณ ๒๕๕๕ ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๗ –๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมนิวเวิลด์ ซิตี้ กรุงเทพมหานคร

ดร.ศศิธารา กล่าวว่า เป้าหมายหลักของแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปีงบประมาณ ๒๕๕๕ คือสามารถสร้างคนที่มีศักยภาพแข่งขันในเวทีระดับโลกได้ มีความรู้ และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เรียนจบแล้วมีงานทำ โดยต้องรู้ศักยภาพเขา รู้ศักยภาพเรา เท่าทัน และแข่งขันได้ และภายใต้กรอบเวลา ๒ ปี กระทรวงศึกษาธิการจะสามารถพัฒนา ๕ ศักยภาพของพื้นที่ ใน ๕ กลุ่มอาชีพใหม่ รวมไปถึงยุทธศาสตร์สำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของกระทรวง ศึกษาธิการ ที่กำหนดไว้ ๙ ยุทธศาสตร์ เริ่มจาก
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือประชาคมโลก เป็นการกำหนดมาตรการเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้าและบริการด้านการศึกษา ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
๒. การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ เน้นการพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพ สอดคล้องต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก ตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่
๓. การพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมืออุปกรณ์ เน้นจัดให้มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการจัดการศึกษา นำเทคโนโลยีชั้นสูงสนับสนุนการวิจัย การถ่ายทอดความรู้ และการเรียนรู้ในแต่ละระดับให้มีคุณภาพ
๔. การพัฒนาครูทั้งระบบ เปิดโอกาสให้ครูได้พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่ทันสมัย สามารถปรับวิทยฐานะ เพิ่มจำนวนผู้สอนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรม
๕. การพัฒนาศักยภาพผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในสาขาที่รัก และถนัด
๖. การวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมการวิจัยเชิงบูรณาการ เพื่อพัฒนาการศึกษาและเรียนรู้ พัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนเรียนรู้แบบสหวิทยาการ ตอบสนองความต้องการของพื้นที่
๗. การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา จะมุ่งลดช่องว่างการเข้าถึงการศึกษาและองค์ความรู้ สร้างทางเลือกทางการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
๘. การส่งเสริมการมีงานทำ โดยการสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาสามารถประกอบธุรกิจตามศักยภาพพื้นที่ โดยบทบาทของสถานศึกษาจะแตกต่างกันในห่วงโซ่อุปทาน (SCM) เริ่มตั้งแต่ระบบการผลิต ระบบการตลาด และจัดนำหน่าย และยุทธศาสตร์สุดท้ายคือ การบริหารจัดการกลยุทธ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ปรับโครงสร้างการบริหารภายในกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก ภาครัฐและเอกชน

“นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังมีโครงการสำคัญเร่งด่วน (Flagship) เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สู่การปฏิบัติ ๒๐ โครงการที่สอดคล้องกับ ๙ ประเด็นยุทธศาสตร์ เช่น โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ในปีนี้จะเปิดเป็นรุ่นที่ ๓ และจะเพิ่มจำนวนประเทศที่สามารถศึกษาต่อจาก ๒๐ ประเทศเป็น ๓๕ ประเทศ โดยจะเพิ่มประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง เช่น อาหรับ เมื่อเรียนจบสามารถประกอบอาชีพได้ทั้งหน่วยงานราชการและเอกชนตามที่ตนถนัด เป็นต้น”ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

ที่มา ข่าวสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น: