วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โรงเรียนทางเลือก 'ดรุณสิกขาลัย' เพื่อพ่อแม่เพื่อประเทศไทย

บรรยากาศโรงเรียนที่แวดล้อมไปด้วยกลิ่นอายของการคิดวิเคราะห์ ค้นคว้า ประดิษฐ์ทดลอง ลองเล่น ลองทำ ท่ามกลางอาคารของคณะวิชาสาขาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีโรงเรียนทางเลือกระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นักเรียนประมาณ 80-100 คน แทรกตัวอยู่ในรั้วเดียวกัน ชื่อ "ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้" ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยเจตนารมณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในเรื่องที่ตนเองสนใจผ่านโครงงานและการนำทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ อย่างที่ "พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา"ผู้อำนวยการใหญ่โรงเรียนดรุณสิกขาลัยกล่าวว่า เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองหรือเรียนรู้ผ่านกลุ่ม รู้จักการทำงานเป็นทีมและเป็นกัลยาณมิตรจนติดเป็นนิสัย ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต "ที่นี่เราจึงเน้นให้เกิดการเรียนรู้เพื่อเรียนรู้ และให้เด็กคิดเพื่อให้คิดต่อไปได้ด้วยความเชื่อว่า บุคคลเจริญได้ด้วยจริยธรรมการดำเนินชีวิตฉันใด องค์กรก็เจริญได้ด้วยจริยธรรมในการดำเนินกิจการฉันนั้น" ดังนั้นการเรียนรู้ในดรุณสิกขาลัยจึงจัดการเรียนการสอนแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ50% แรกคือ การเรียนรู้ผ่านโครงงาน ซึ่งแต่ละภาคเรียนจะแบ่งกลุ่มนักเรียนคละอายุคละชั้นเรียน กลุ่มละ 8-12 คน เพื่อร่วมกันคิดและเรียนรู้ผ่านโครงงานที่มาจากความสนใจของผู้เรียน ต่อมาอีก 30%เป็นการเรียนรู้ตามการเรียนของหลักสูตรการศึกษาแบบทางการใน 3 วิชาหลัก คือภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนสุดท้าย 20% เป็นกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ศิลปะ กีฬา ดนตรี เป็นต้น ในภาคการศึกษาปัจจุบันมีนักเรียนทั้งสิ้น 80 คน ครูไทย 23 คน ครูต่างชาติ 10 คน ตั้งแต่ต้นเทอมผู้เรียนจะเป็นผู้ร่วมกันคิดโครงงานขึ้นมา โดยภาคการศึกษาปัจจุบันมีทั้งหมด 9 เรื่อง ที่มีตั้งแต่เรื่องน้ำท่วมจนถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยในห้องเรียนรู้แต่ละห้องครูจะมีบทบาทในฐานะครูผู้อำนวยการการเรียนรู้ (Active Facilitator) ส่วนเด็ก ๆ คือผู้เรียน(Active Learner) แล้วบูรณาการการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี วิชาการ ศิลปวัฒนธรรม ศีลธรรมจรรยา ความเป็นไทยในโครงงานที่เด็ก ๆ คิดขึ้น ส่วนการจัดการการเรียนรู้แบบConstructionism คืออะไร ผู้อำนวยการใหญ่เล่าว่า วิธีการเรียนใช้ได้ทั้งในหลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนรู้ของเด็กหรือผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ในองค์กรธุรกิจซึ่งมีด้วยกัน 8 ขั้นตอน คือ ดูที่ความสนใจของผู้เรียน ครูทำการศึกษาหัวข้อ เชื่อมโยงความรู้ที่เกี่ยวข้อง วางแผนบูรณาการทั้งแผนกวิชาทางวิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ลงไปในโครงงานของนักเรียน และหาวิทยากรที่เหมาะสมและมีความเชี่ยวชาญในโครงงานนั้น ๆ เพื่อมาให้ข้อมูลแก่นักเรียน แล้วหลังจากนั้นครูและนักเรียนจะมาวางแผนการเรียนรู้ร่วมกัน ครูจะนำเสนอสิ่งที่ผู้เรียนน่าจะได้เรียนรู้ และสอบถามผู้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนรู้ภายในหัวข้อโครงงานที่ผู้เรียนสนใจ ครูจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในการเรียนรู้ กิจกรรมที่จะช่วยเชื่อมโยงหัวข้อความรู้ต่าง ๆ ทำให้นักเรียนเห็นภาพกว้างด้วยตนเอง ว่าหากจะศึกษาเรื่องนี้มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นครูจะให้นักเรียนเขียนแผนภาพความคิด (Mind Map) และให้นักเรียนทำปฏิทินตารางเวลาในการเรียนรู้แต่ละเรื่อง จนถึงขั้นลงมือทำ ผ่านกระบวนการPDCA-Plan, Do, Check, Act แล้วจึงสรุปความรู้ เก็บบันทึกผลงานในหลายรูปแบบ อาทิ วารสาร หรือแผนภาพความคิด จัดทำเป็นพรีเซนเตชั่นผลงานนำเสนอให้ผู้ปกครองและผู้สนใจ ก่อนที่จะนำไปวิเคราะห์ ประเมินผลทั้งทางด้านทักษะ ความรู้ และทัศนคติโดยการประเมินผลรายสัปดาห์แบบ 360 องศา แล้วจึงนำไปต่อยอดองค์ความรู้โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา ว่าผู้เรียนควรจะทำอะไรต่อไป ทั้งหมดนี้คือกระบวนการเรียนรู้ที่พารณบอกว่า ร.ร.แห่งนี้ไม่ได้พัฒนาเด็กสมองเพชร แต่พัฒนาเด็กปานกลางให้เป็นเด็กสมองเพชร เพื่อสร้างเด็กที่พร้อมจะอยู่กับโลกในอนาคตที่มีพัฒนาการทั้ง5Q คือ IQ-ความสามารถทางด้านสติปัญญา, EQ-ความสามารถในการควบคุมอารมณ์, AQ-ความสามารถในการแก้ปัญหา วิกฤต, TQ-ความสามารถในการใช้และเลือกใช้เทคโนโลยี และMQ-ความฉลาดทางจริยธรรม เพื่อเป็นความหวังของพ่อแม่และเป็นอนาคตที่สดใสของประเทศชาติต่อไป ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: