วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชุม ศธ.ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ระหว่างเวลา ๑๔.๐๐-๑๘.๓๐ น. ที่ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชุมเห็นชอบ ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาของ ศธ. (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๘) ที่ได้เพิ่มเติมการจัดการศึกษาซึ่งครอบคลุมถึง “ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส” สำหรับ ยุทธศาสตร์การศึกษาปีงบประมาณ ๒๕๕๖ ศธ. ได้ปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล แผนบริหารราชการแผ่นดิน และยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาของ ศธ. (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๘) ภายใต้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในปีนี้ตาม พ.ร.บ.งบประมาณจำนวน ๔๒๐,๔๙๐,๐๓๒,๖๐๐ บาท โดยแยกเป็นงบบุคลากร ๕๕.๑๑% งบเงินอุดหนุน ๓๐.๘๓% งบดำเนินงาน ๖.๗๘% งบลงทุน ๕.๙% และงบรายจ่ายอื่น ๑.๓๘% ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานสำคัญของหน่วยงานต่างๆ ตามจุดเน้นของ รมว.ศธ. ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ข้างต้น ดังนี้ ๑) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา สพฐ. – โรงเรียนคุณภาพต้นแบบระดับสากล-อำเภอ-ตำบล ๑,๐๐๐ โรง และการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ๕,๘๑๖ โรง รร.มหิดลวิทยานุสรณ์ – การจัดการเรียนการสอนวิทย์-คณิตฯ อย่างมีคุณภาพ สสวท. – การปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่จะมีการนำร่องในปี ๒๕๕๗ และประกาศใช้ในปี ๒๕๕๘ โดย สสวท.จะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อตัวชี้วัดคุณภาพผลสัมฤทธิ์ด้านวิทย์-คณิตของนักเรียนด้วย สทศ. – การทดสอบระดับชาติที่โปร่งใส ทั้ง ๘ รูปแบบ คือ O-NET(ขั้นพื้นฐาน), I-NET(อิสลามศึกษา), N-NET(กศน.), V-NET(อาชีวศึกษา), U-NET(อุดมศึกษา), GAT(ความถนัดทั่วไป), PAT(ความถนัดทางวิชาการวิชาชีพ),U-DAT(๗วิชาสามัญ รองรับระบบรับตรง) ๒) การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน สอศ. – การสร้างนักศึกษาให้เป็นมืออาชีพ โดยร่วมกับสถานประกอบการ ทั้งระบบทวิภาคี ๒๓๑ แห่ง โรงเรียนโรงงาน ๕ แห่ง และส่งนักศึกษาไปฝึกงาน โดย รมว.ศธ.สนับสนุนการจัดการศึกษาปริญญาตรีสายอาชีพใน ๑๙ สถาบันการอาชีวศึกษา กศน. – ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ที่จัดทำหลักสูตร ๑๐๐-๑๕๐ ชั่วโมง มีเป้าหมายดำเนินการในปี ๒๕๕๕-๒๕๕๘ รวม ๓.๔ แสนคน สกอ. – กองทุนตั้งตัวได้ สกศ. – การจัดทำปฏิทินชีวิตที่ ศธ.มีส่วนเกี่ยวข้องในการศึกษา ๕ ช่วงวัย คือ ปฐมวัย ๐-๖ ปี, วัยเรียนรู้พื้นฐาน ๖-๑๔ ปี, วัยรุ่น ๑๕-๒๔ ปี, วัยทำงาน ๕-๖๐ ปี, วัยหลังเกษียณ ๖๐ ปีขึ้นไป โดยถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล (๓) การปฏิรูปครู ก.ค.ศ. – การประเมินวิทยฐานะครู และการสอบผู้บริหารสถานศึกษา ที่เน้นโปร่งใส ลดการใช้ดุลยพินิจลง สกสค. – การพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ซึ่ง รมว.ศธ.เน้นให้ครูที่เป็นหนี้เข้าวัดปฏิบัติธรรม เพื่อให้คิดเป็นทำเป็น ปรับโครงสร้างทางจิตใจ ลดรายจ่าย คุรุสภา – การออกใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่ง รมว.ศธ.ขอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ชาวต่างประเทศเข้ามาสอนภาษาอังกฤษได้มากขึ้น ๔) การสร้างโอกาสทางการศึกษา กศน. – การจัดการศึกษาสำหรับผู้ไม่จบ ม.๖ โดยมีเป้าหมายให้จบ ม.๖ ภายใน ๘ เดือน ใน ๒ แนวทางคือ พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างสมรรถนะของผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา และทบทวนและปรับปรุงการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐาน สต.สป. – หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน รุ่นที่ ๓ ซึ่งมีถึง ๕๐ อำเภอที่ไม่มีผู้สมัครเพราะขาดคุณสมบัติคือเกรด ๓.๐ ขึ้นไปและครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาทต่อปี จึงขอให้ขยายการคัดเลือกให้ครบภายใน ๙ มีนาคมนี้ โดย รมว.ศธ.ฝากให้พิจารณาถึงผู้ที่เรียนเก่งแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกทุน ให้ได้รับโอกาสในชีวิตที่ดีเช่นกัน ไม่ใช่อีกคนจบต่างประเทศ แต่อีกคนที่ไม่ได้รับทุนต้องเข้าโรงงาน ๕) การเพิ่มขีดความสามารถเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน สพฐ. – การสอนภาษาอังกฤษให้มีคุณภาพ โดย รมว.ศธ.ต้องการเน้นภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยให้เพิ่มจำนวนครูหรืออาสาสมัครต่างประเทศที่เป็น Native Speaker และปรับปรุงเกณฑ์การออกใบประกอบวิชาชีพชั่วคราว ๒ ปี สำหรับครูต่างชาติที่จบปริญญาตรี ส่วนอาสาสมัครชาวต่างประเทศหรือ Backpack จะสนับสนุนเป็นผู้ให้ความรู้ชั่วคราว โดยมอบปลัด ศธ.หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอ VISA และ Work Permit ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ส่วน สพฐ. ต้องบริหารงบประมาณมาสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ เพราะจะเปลี่ยนอนาคตของเด็กใน Generation นี้ได้อย่างมหาศาล ไม่ใช่เป็นประเทศที่รั้งท้ายของอาเซียนในการใช้ภาษาอังกฤษ ข่าวจากสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: