วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

รมว.ศธ.หารือกับสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (USABC)

คณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (US-ASEAN Business Council : USABC) นำโดย Mr.Alexander C.Feldman ประธาน USABC และผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกา เข้าพบศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหารือการส่งเสริมเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อการศึกษาของไทย เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๕ ระหว่างเวลา ๙.๐๐-๙.๓๐ น. ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
รมว.ศธ.กล่าวว่า USABC พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากหลายบริษัทคือ AT&T Cisco Dell Google HP MasterCard Microsoft Qualcomm Intel Seagate เข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอแนวทางการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา โดยแต่ละบริษัทได้รายงานให้ทราบถึงวิธีการอบรมพัฒนานักเรียนนักศึกษาและครูผู้สอนของไทย ผ่านโปรแกรมต่างๆ เป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้นำเสนอแนวทางการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการศึกษาที่สำคัญ ๕ เรื่อง คือ Access ซึ่งนักเรียนต้องสามารถ "เข้าถึง" เทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ Innovation โดยหน่วยงานหรือภาครัฐต้องมีนโยบายในการติดตาม "นวัตกรรม" ที่ทันสมัย Transparent หรือ "ความโปร่งใส" ในการบริหารโครงการ เช่น การจัดซื้อซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ จะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ Empowerment การที่ทำให้ครู "มีความสามารถ" ที่จะใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการศึกษา Investment คือ "การลงทุน" ให้ถูกทางและเหมาะสม ทั้งนี้ ตนได้ประกาศให้ USABC ทราบถึงนโยบายของ ศธ.ว่า "จะดูแลลูกหลานประชาชนเหมือนลูกหลานของเรา โดยเปลี่ยนจากระบบควบคุมเป็นการให้โอกาสแก่เด็ก" เพราะหากเราควบคุมมากจนเกินไปจะทำให้ประเทศไม่พัฒนา นอกจากนี้ช่วงที่ผ่านมา ศธ.มีปัญหาสำคัญ ๒ เรื่อง คือ กฎระเบียบและการกระจายอำนาจ ซึ่งถือเป็นปัญหาภายในที่ ศธ.จะต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาครูถูกเรียกร้องเงินทองจากการแต่งตั้งโยกย้ายหรือการเข้าสู่ตำแหน่งในระดับต่างๆ เพื่อให้ทุกคนใน ศธ.มีกำลังใจที่จะสอนนักเรียน สำหรับนโยบายการแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่นักเรียนชั้น ป.๑ และ ม.๑ นั้น ตนได้ย้ำให้ว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้มีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดหา จึงดำเนินการในลักษณะ Government to Government หรือจีทูจี ส่วนการจัดซื้อจัดหาซอฟท์แวร์หรือเนื้อหาต่างๆ นั้น ศธ.จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น โดยให้แต่ละโรงเรียนสามารถตัดสินใจเลือกซื้อแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เหมาะสมเองได้ ให้ผู้บริหารสถานศึกษาไปตัดสินใจเอง ตนจะดูการแข่งขันอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม. ที่มา-ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: