วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โรงเรียนไทยไร้ทางเลือก

สายพิน แก้วงามประเสริฐ การพัฒนาประเทศเริ่มต้นที่การพัฒนาคุณภาพของคน ด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นสำคัญ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเน้นไปที่การยกระดับคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คะแนนสอบโอเน็ต หรือคะแนนอีกหลายคะแนน เหมือนกับว่าคะแนนเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของการศึกษา ทั้งที่การทำคะแนนสอบได้มาก อาจไม่ได้แสดงถึงความมีคุณภาพของเด็ก หรือไม่ได้แสดงว่าระบบการศึกษาพัฒนาเจริญก้าวหน้าแต่อย่างใด เพราะคุณภาพของคนไม่ใช่แค่การเรียนหนังสือเก่ง แต่น่าจะอยู่ที่ความสามารถในการนำความรู้ที่ได้เรียนมาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวมได้ และมีจิตสำนึกที่ดีงาม รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นไปตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่หลักสูตรได้เขียนไว้ ซึ่งคะแนนสอบกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์อาจไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันก็ได้ หากมัวคิดพัฒนาแต่ตัวเลขของคะแนนให้สูงเพียงอย่างเดียว ขณะที่เด็กถูกตีกรอบให้เรียนวิชาการอย่างเข้มข้นในโรงเรียน เพื่อให้ได้คะแนนมากๆ เพื่อให้คะแนนโอเน็ตสูงขึ้น และสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียน ทำให้เด็กถูกบีบคั้นจึงต้องเรียนทั้งในโรงเรียน และเรียนกวดวิชา โดยเฉพาะยิ่งระบบการสอบแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ข้อสอบระดับชาติโหดมากเท่าไร เด็กต้องเรียนกวดวิชาอย่างบ้าระห่ำ จนโรงเรียนกวดวิชากลายเป็นธุรกิจพันล้าน ที่ขยายจากกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ๆ ออกสู่ชนบทจนแทบ ทุกหย่อมหญ้า ทั้งที่เดิมการเปลี่ยนระบบการคิดคะแนนเพื่อคัดคนเข้ามหาวิทยาลัย เกิดจากต้องการให้เด็กให้ความสนใจกับการเรียนในโรงเรียนมากขึ้น แต่เมื่อระบบการสอบยิ่งซับซ้อน ข้อสอบยิ่งยาก จึงกลายเป็นว่ากระทรวงศึกษาฯมีส่วนผลักดันให้เด็กเข้าสู่โรงเรียนกวดวิชามากกว่าการเรียนในโรงเรียน แม้แต่สังคมเองก็ยกย่องให้ความสำคัญกับการเรียนกวดวิชา สังเกตจากประเด็นคำถามที่สื่อมักจะถามเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยติดลำดับต้นๆ ของประเทศ คือ ประเด็นเรื่องการเรียนกวดวิชา ซึ่งเด็กจะชี้ไปว่า เพราะเรียนกวดวิชาอย่างต่อเนื่องจึงสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนที่ลูกกำลังต้องเข้าสู่สมรภูมิสอบอาจอยากรู้ด้วยซ้ำว่ากวดวิชาที่โรงเรียนไหนจะได้ส่งลูกแห่ไปเรียนบ้าง ทั้งที่หากเด็กไม่มีพื้นฐานความรู้จากในโรงเรียนมาก่อน การไปเรียนกวดวิชาเพียงอย่างเดียวจะทำให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการสอบ? รวมทั้งหากโรงเรียนกวดวิชาต้องปูพื้นฐานเอง ต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหนจึงจะจบแต่ละคอร์ส แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพียงใด นโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยมุ่งเน้นไปที่การสอบเพื่อทำคะแนนได้มากๆ เพื่อเป็นหน้าเป็นตาของผู้ออกนโยบาย ของ ผู้กำกับการศึกษา ดังนั้นนโยบายจึงมักเน้นการกระตุ้นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ยกระดับคะแนน เน้นการทำข้อสอบให้ได้มากกว่าจะไปสนับสนุนกระบวนการสอนให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริงสักเท่าไร เพราะเกรงว่าจะเสียเวลาเรียน จะทำให้คะแนนตกลงไปอีก การเรียนจึงมุ่งเน้นอยู่กับตำราเรียนในห้องเรียน ครูเป็นผู้สอน นักเรียนเป็นผู้ฟัง การฝึกกระบวนการคิด การทำกิจกรรมนอกห้องเรียนที่อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียนโดยตรง จึงแทบไม่ได้ทำ เพราะเกรงว่าจะเสียเวลา หรือเรียนแล้วไม่เป็นไปตามหลักสูตร ตัวชี้วัด การวัดผลประเมินผลก็ต้องยึดติดกับตัวชี้วัด ที่หลักสูตรกำหนด ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกรอบที่ผู้ใหญ่คิดว่าเด็กควรรู้อะไร เรียนแล้วควรเกิดอะไรขึ้นบ้าง การศึกษาไทยในโรงเรียนปกติๆ ของ ประเทศนี้ไม่เคยถามว่าเด็กอยากรู้อะไร ไม่เคยถามครูว่าอะไรที่เด็กควรจะรู้ ทั้งที่ครูเป็น ผู้ลงมือปฏิบัติ ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด และที่สำคัญครูอยู่ในห้องเรียนที่รู้ว่ามีอะไรในห้องเรียน มีอะไรนอกห้องเรียนที่เด็กน่าจะรู้ แล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้ เมื่อเป็นดังนี้โรงเรียนไทยแบบที่เห็นกันดาษดื่นจึงเป็นโรงเรียนที่ไม่มีทางเลือก เป็นไปตามกรอบประเพณีดั้งเดิมที่เรียนไปเพื่อตัวเลข ทั้งตัวเลขคะแนนและรายได้ ส่วนคิดเป็นหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะโทษเด็กที่ไม่มีคุณภาพได้อย่างไร ในเมื่อผู้ใหญ่เป็นผู้วางกรอบให้เป็นเช่นนี้ ขณะที่หลายหมื่นโรงเรียนในประเทศนี้ไม่มีทางเลือก แต่กลับพบว่าโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการฝึกให้เด็กมีทักษะกระบวนการคิด เรียนอย่างสนุกสนานได้ลงมือปฏิบัติจริง กลับเป็น "โรงเรียนทางเลือก" ที่เน้นหลักการตามปรัชญาทางการศึกษาของสำนักต่างๆ เช่น มอนเตสซอรี่ วอลดอร์ฟ นีโอฮิวแมนนิสต์ ซัมเมอร์ฮิว คอนสตรัคติวิซึ่ม โดยภาพรวมโรงเรียนทางเลือกไม่ว่าจะจัดการศึกษาตามคิดปรัชญาของใคร ลักษณะร่วมกันของการจัดการศึกษาคือ มุ่งเน้นการจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมให้เป็นธรรมชาติ มีความเป็นอิสระในการเลือกที่จะเรียน คิดหัวข้อศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เน้นการลงมือทำ พัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพของแต่ละคน และปลูกฝังเรื่องจิตใจ โดยไม่เน้นความรู้ด้านวิชาการ แต่ความรู้ด้านวิชาการและการพัฒนาด้านสติปัญญาจะเกิดขึ้นได้เอง โดยผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมที่เน้นการฝึกกระบวนการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในโรงเรียนทางเลือกเน้นการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project-Based Learning) ซึ่งเป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ หรือค้นหาคำตอบด้วยตนเอง โดยเริ่มต้นจากความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ มีการวางแผนการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับนักเรียน ใช้กระบวนการกลุ่ม การฝึกกระบวนการคิด จนไปถึงวิธีการหาความรู้หรือรู้วิธีการแก้ปัญหา ด้วยการตั้งประเด็นของเรื่องที่จะศึกษา ตั้งสมมติฐาน สืบค้นข้อมูล วิเคราะห์ตีความ จนกระทั่งนำเสนอข้อมูล มีการประเมินผล การอภิปรายผล ถือว่าเป็นการส่งเสริมการทำวิจัยเล็กๆ อย่างหนึ่ง นอกจากนี้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ต้องมีการจดบันทึก สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ อาจเป็นรายงาน หรือเป็นแผนที่ความคิด (Mind map) แล้วนำมาเล่าให้เพื่อนๆ และครูฟัง แล้วช่วยกันประเมินผลการเขียน การนำเสนอ การเรียนที่เริ่มจากความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก แล้วนำไปสู่ขั้นตอนการลงมือปฏิบัติจริง แล้วนำผลที่ได้มานำเสนอ มีการวิพากษ์วิจารณ์โดยเสรีในรูปแบบการเรียนรู้แบบโครงงาน ตลอดจนการจัดการเรียนการสอนที่ไม่เน้นด้านวิชาการมากนัก เน้นการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้มากกว่านี้ น่าจะทำให้เด็กได้พัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ อีกทั้งการให้อิสระจะทำให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของไวท์เฮด (Whitehead) ที่กล่าวว่า "เสรีภาพเท่านั้นที่จะเกิดความคิดที่มีพลัง เสรีภาพเป็นบ่อเกิดของความพึงพอใจ และความพึงพอใจจะทำให้คนมีพัฒนาการในตนเอง" แต่หากมองระบบการศึกษาในโรงเรียนทั่วไปแล้วจะพบว่า การเรียนการสอนที่กระทรวงศึกษาฯมุ่งอยู่กับการเรียนเพื่อสอบให้ได้คะแนนมากๆ ชีวิตของเด็กนักเรียนจึงเต็มไปด้วยความกดดัน กดดันที่ต้องทำให้คะแนนโอเน็ต คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยสูงขึ้น ไม่เพียงแค่นี้กระทรวงศึกษาฯยังคิดที่จะให้นำคะแนนสอบโอเน็ตมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาการจบหลักสูตร ยิ่งเป็นการกดดันเด็กนักเรียนมากยิ่งขึ้น แล้วการพัฒนาความรู้ความคิด สติปัญญา ให้เต็มศักยภาพของแต่ละคนจะทำได้อย่างไร การเรียนเพื่อฝึกปฏิบัติ ลงมือทำจริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเวลาที่เสียไปคือ การเรียนเพื่อการทำข้อสอบมากกว่าการเรียนเพื่อลงมือทำจริงๆ จึงเหมือนโรงเรียนในประเทศไทยไม่มีทางเลือก เพราะวันๆ ผู้มีอำนาจในการจัดการศึกษาคิดแต่จะเอาคะแนนโอเน็ตมาใช้ทำอะไรดี คิดแต่จะใช้งบประมาณเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มากกว่าคิดว่าทำอย่างไรเด็กถึงจะได้ฝึกกระบวนการคิด ได้ลงมือปฏิบัติจริงจากการเรียน การให้ความสำคัญกับคะแนนสอบ ทำให้โรงเรียนกวดวิชาในประเทศนี้เติบโตเป็นธุรกิจพันล้าน และเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากยิ่งขึ้น ตราบใดที่ยังเน้นความเติบโตของคะแนนโอเน็ต เพราะเด็กที่ยากจนคงไม่มีปัญญาเรียนกวดวิชาเพื่อเรียนรู้เทคนิคการทำข้อสอบ มากกว่าจะไปมุ่งปลูกฝังคุณธรรมแต่อย่างใด การที่หน่วยงานที่จัดการศึกษามัวสาละวนอยู่กับคะแนน ทำให้ไม่เคยรู้ว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น และไม่เคยรู้ว่าสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยตามภูมิภาคต่างๆ ให้ทุนสนับสนุนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ เพื่อให้เด็กได้สืบค้น เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่น ได้รู้รากเหง้าของตนเอง ได้ฝึกกระบวนการคิด การเขียน มีเวทีนำเสนอผลงาน และเกิดความภูมิใจในตนเอง ยุววิจัยประวัติศาสตร์ได้เติบโตต่อยอดเป็นโครงการโรงเรียนทำหนังสารคดีกับสถาบันรามจิตติ โดยมีการจัดเข้าค่ายทำสารคดี ฝึกการเขียนสคริปต์ ถ่ายภาพ ตัดต่อ การนำเสนอเรื่องราวต่างๆ การลงพื้นที่เก็บข้อมูล การถ่ายทำสารคดีจนกระทั่งเด็กๆ เหล่านี้สามารถบอกเล่าเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเองให้ผู้คนได้รับรู้ในรูปแบบของหนังสารคดี การทำหนังสารคดียังทำให้เด็กๆ ได้เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กนักเรียนกับผู้คนในชุมชน รู้จักอัตลักษณ์ของท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีมหกรรมประกาศผลรางวัลสารคดีระดับภาค และระดับประเทศ รวมทั้งจัดฉายหนังเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ได้เห็นเรื่องราวที่น่าสนใจของท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแต่ละครั้งทั่วประเทศเกือบ 100 โรงเรียน หากพิจารณาผลงานที่เด็กๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรม ได้รับรู้กระบวนการทำงาน การแก้ปัญหา จนกระทั่งผลงานสำเร็จเป็นที่น่าภูมิใจ ทั้งวิธีเรียนแบบยุววิจัยประวัติศาสตร์ และการทำหนังสารคดี ล้วนเป็นวิธีการเรียนที่ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ควรได้รับการส่งเสริมจากกระทรวงศึกษาฯ ทั้งด้านงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ การสร้างขวัญและกำลังใจแก่เด็กๆ ที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง และหน่วยงานที่ไม่ได้มีหน้าที่จัดการศึกษา แต่กลับมองเห็นการณ์ไกลว่า ความรู้ไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องเรียน หรือโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งวิธีการเหล่านี้ คือวิธีหนึ่งที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของเด็ก เยาวชนให้พัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ จนบัดนี้ยังไม่แน่ใจว่ากระทรวงศึกษาฯรู้หรือไม่ว่ามีโครงการดีๆ แบบนี้ ที่ส่งเสริมให้เด็กได้เติบโตด้านสติปัญญาด้วยการลงมือปฏิบัติจริง มากกว่าก้มหน้าก้มตาเรียนกวดวิชา เพราะวันๆ กระทรวงศึกษาธิการคิดถึงแต่ความเติบโตของคะแนนสอบยิ่งกว่าสิ่งใด โรงเรียนในประเทศไทยจึงเดินไปอย่างไร้ทางเลือก นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 18 พ.ค. 2555

ไม่มีความคิดเห็น: