วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ของกระทรวงศึกษาธิการ

ความร่วมมือด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC)
          การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการศึกษาเป็นกลไกในการปลูกฝังค่านิยมแนวความคิด ความเข้าใจกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของอาเซียนและเศรษฐกิจโลก โดยในแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Blueprint for ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC Blueprint) ได้กำหนดให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกในการเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ดีของประชากรในภูมิภาค ด้วยการให้ความสำคัญกับการศึกษาและการสร้างโอกาสทางการศึกษา การลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเรียนรู้ตลอดชีวิต การส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสม การส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงประยุกต์  กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการภายใน ปี 2555 - 2558 เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน ดังนี้

          1. การให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยรณรงค์ให้ประชากรทุกคนอ่านออกเขียนได้ ลดอัตราการไม่รู้หนังสือ เปิดโอกาสอย่างเท่าเทียม ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีอัตราประชากรรู้หนังสือ ร้อยละ 93.5 และมีเพียงร้อยละ 6.5 ของประชากรวัยเรียนที่ไม่รู้หนังสือ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนทางไกลการศึกษานอกระบบ การเรียนจากศูนย์การเรียนชุมชน (Community Learning Centres - CLCs) ทั้งนี้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากกลุ่มประเทศอาเซียนว่าเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งในการส่งเสริมการพัฒนาระบบการเรียนการสอนผ่าน CLCs รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกับศูนย์การเรียนชุมชนในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นด้วย   นอกจากนี้ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานอาเซียน (ASEAN Curriculum)สำหรับช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.6) ช่วงชั้นที่ 2 (ม.1-ม.3)และช่วงชั้นที่ 3 (ม.4-ม.6) โดยกำหนดใน 7 สาขาวิชาได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พลศึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศ จริยศึกษา ศิลปะ และอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค เพื่อจัดทำรายละเอียดหลักสูตรอาเซียนในเดือนกันยายน 2555
         2. การลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยส่งเสริมการสอนภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาราชการของอาเซียน การพัฒนาครูซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งประเทศไทยมีเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาครูกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาให้เอื้อต่อการเรียนการสอน
        3. การส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสม โดยเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับอาชีวศึกษา เพื่อรองรับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมายในประเทศ พัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือในการพัฒนากำลังคนที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างความเป็นหุ้นส่วนในการจัดการศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคเอกชนและสถาบันเฉพาะทาง
       4. การส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยส่งเสริมการพัฒนาสื่อการ เรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ในสาระวิชาและระดับชั้นต่างๆทั้งในรูปแบบ on-line และ / หรือ off-line กำหนดสมรรถนะผู้เรียนในด้าน ICT ในแต่ละระดับการศึกษาพัฒนายกระดับสถาบันการศึกษาให้มีความสามารถเฉพาะทางด้าน ICT เพื่อผลิตบุคลากรด้าน ICT ให้มีทักษะความเชี่ยวชาญสูง สร้างแรงจูงใจเพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานในการเข้าฝึกอบรม และสอบมาตรฐานวิชาชีพด้าน ICT ที่มีการกำหนดไว้ในระดับสากล พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
       5.การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงประยุกต์ โดยส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางด้านวิชาชีพทางด้านการวิจัยที่มีคุณภาพส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งสร้างเครือข่ายการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ โทร. 0-2628-5637-9 และสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ โทร. 0-2628-5646-8  กระทรวงศึกษาธิการ http://www.moe.go.th/
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด
               แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ในส่วนของ สพฐ.หลังจากเปิดรับสมัครข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด หรือเออร์ลี่รีไทร์ ปีงบประมาณ 2556 ระหว่างวันที่ 2-13 กรกฎาคม ปรากฏว่ามีผู้สมัครจำนวน 10,295 คน  จากสัดส่วนโควตาของข้าราชการครูฯที่สามารถเข้าโครงการได้ 12,231 คน โดยยอดสมัครเป็นข้าราชการครูมากสุด ประมาณ 9,000 คน นอกจากนี้มีรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 19 คน ผู้อำนวยการโรงเรียน 204 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน 93 คน ส่วนผู้อำนวยการ สพท. ไม่มี
              ด้านนายไกร เกษทัน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สพฐ.ประเมินว่าจะมีผู้เข้าโครงการ 11,000 คน แต่ตัวเลขสมัครจริงอยู่ที่ 10,295 คน น้อยกว่าที่คาดการณ์อาจเพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือขั้นต่ำกว่าหรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาทำให้เงินเดือนไม่ตัน รวมถึงข้าราชการที่อายุเกินเกณฑ์ 55 ปีไม่มากอาจเปลี่ยนใจอยู่รับราชการต่อ อย่างไรก็ตาม สพฐ.เปิดโอกาสให้เปลี่ยนใจได้ตั้งแต่วันที่ 23-27 กรกฎาคม จากนั้นคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาจะพิจารณากลั่นกรองคุณสมบัติผู้สมัครว่าตรงตามหลักเกณฑ์หรือไม่ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กรกฎาคม ถ้าคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติทั้งหมด โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ คือเงินก้อนหรือเงินขวัญถุง 8-15 เท่าของเงินเดือนรวมเงินประจำตำแหน่ง
ที่มา นสพ.มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: