วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียน

           เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า หลังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกประกาศเรื่องการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมต้น และมัธยมปลาย โดยจะใช้ผลการเรียนของผู้เรียนที่ประเมินโดยสถานศึกษา และคะแนนโอเน็ต สัดส่วน 80 : 20 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นไปนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครอง ว่าประกาศ ศธ.ดังกล่าวระบุชัดเจนว่าโอเน็ตไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการจบช่วงชั้น แต่เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของนักเรียน ดังนั้น คะแนนเฉลี่ยสะสมรายกลุ่มสาระการเรียนรู้ (จีพีเอ) จะต้องได้รับการถ่วงน้ำหนักจากคะแนนโอเน็ต
            "เราจำเป็นต้องถ่วงน้ำหนัก เพื่อให้มาตรฐานในการวัดและประเมินผลในระดับชาติมีส่วนในการปรับการให้คะแนนของโรงเรียนด้วย ดังนั้น หากโรงเรียนใดมีการวัดผลที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานใกล้เคียงกับคะแนนโอเน็ตมากๆ โอกาสที่นักเรียนจะได้คะแนนเฉลี่ยใกล้เคียงกับจีพีเอที่ได้รับจากโรงเรียนก็จะมีสูง แต่หากโรงเรียนใดปล่อยเกรด จะทำให้คะแนนจีพีเอของนักเรียนลดลง เนื่องจากโรงเรียนอาจจะให้เกรดสูงเกินไป" นายชินภัทรกล่าว
            ผู้สื่อข่าวถามว่า นักเรียนทุกคนจำเป็นต้องสอบโอเน็ตหรือไม่ นายชินภัทรกล่าวว่า สพฐ.ไม่ได้บังคับ แต่ถ้านักเรียนคนใดไม่สอบก็จะไม่มีค่าน้ำหนัก 20% มาถ่วงน้ำหนักคะแนนจีพีเอ ซึ่งปัจจุบันเป็นยุคที่ทุกคนต้องใช้ความพยายามในการรักษาสิทธิของตนเอง อีกทั้งทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าในระบบการรับเข้าศึกษาต่อในชั้นเรียนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชั้น ม.1, ม.4 และระดับอุดมศึกษา มีเงื่อนไขใช้คะแนนโอเน็ตพิจารณาเข้าเรียน ดังนั้น ทุกคนมีหน้าที่รักษาสิทธิของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา นักเรียนที่ไม่เข้าสอบโอเน็ต ส่วนใหญ่มีเหตุสุดวิสัย
          "ปีนี้ สพฐ.จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ว่าในเมื่อกำหนดให้นำผลคะแนนโอเน็ตไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น สทศ.จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสมีคะแนนโอเน็ต โดยจะต้องเตรียมการจัดสอบ โอเน็ตรอบพิเศษ สำหรับนักเรียนที่มีเหตุสุดวิสัย ซึ่งที่ประชุมได้มอบให้ สทศ.ไปพิจารณาแล้ว" นายชินภัทรกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

มาตรการ '4 ต้อง 2
          น.ส.จุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ในหัวข้อ "ทิศทางและแนวโน้มยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะ ยาเสพติดในห้วงระยะต่อไป" ว่า บทบาทของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งรับผิดชอบการสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษา ถือว่าเยาวชนไทยเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เห็นได้จากผู้เข้ารับการบำบัดรักษาจะเป็นผู้เสพรายใหม่ที่มีจำนวนเพิ่มจากปีที่ผ่านมา 8,000 คน ปัจจุบันมีจำนวนถึง 11,000 กว่าคน ซึ่ง ศธ. กำหนดยุทธศาสตร์ พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด สถานศึกษาไทยต้องปลอดยาเสพติดอย่างยั่งยืน เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 58 ที่กำหนดให้สถานศึกษาดำเนินมาตรการ 4 ต้อง 2 ไม่ คือ 1.ต้องมียุทธศาสตร์ป้องกันแก้ไขปัญหา 2.ต้องมีแผนงานยาเสพติดที่ชัดเจน 3.ต้องพัฒนาระบบงานรองรับยุทธศาสตร์ 4 ระบบ คือ ระบบป้องกัน ระบบเฝ้าระวัง ระบบดูแลช่วยเหลือ และระบบบริหารจัดการ และ 4.ต้องมีเครือข่ายในการทำงาน
           น.ส.จุไรรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับ 2 ไม่ก็คือ ไม่ปกปิดข้อมูล ทั้งกลุ่มเสพ กลุ่มติด กลุ่มค้า และต้องไม่ผลักปัญหา ไม่ไล่นักเรียนออกจากสถานศึกษา แต่ต้องนำไปบำบัด เมื่อหายก็ให้เข้ามาเรียนตามปกติ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สถานศึกษาต้องประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย สธ. และศธ.เองต้องจัดทำแผน จัดระบบการเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็ง ครูต้องมีกิจกรรมให้นักเรียน นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง
          "นอกจากนี้ยังมีมาตรการสำหรับผู้ทำความดี เป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้บริหาร ครู อาจารย์ โดยการมอบโล่หรือเกียรติบัตร รวมไปถึงการขอโอนย้าย การเลื่อนวิทยฐานะ และหากผู้บริหาร ครู เกี่ยวข้องกับยาเสพติดต้องออกจากราชการ และเพิกถอนใบประกอบอาชีพ ส่วนนักเรียน ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็จะเชิญผู้ปกครองมารับทราบปัญหาด้วย" รองปลัดศธ.กล่าว

--ข่าวสด ฉบับวันที่ 26 ก.ค. 2555

ไม่มีความคิดเห็น: