วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

สพฐ.เตรียมนำค่าเฉลี่ยคะแนน O-Net ตรวจสอบคุณภาพของโรงเรียนในสังกัด

          นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.เร่งขับเคลื่อนคุณภาพของโรงเรียนในสังกัดอยู่ จึงต้องการรู้ฐานะทางคุณภาพที่เป็นจริงของแต่ละโรงเรียน และได้เลือกใช้คะแนนทดสอบระดับการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ซึ่งเป็นการประเมินผลระดับชาติที่ได้มาตรฐานมาเป็นเครื่องมือเปรียบเทียบคุณภาพของโรงเรียน ดังนั้น ตนจึงสั่งการให้สำนักทดสอบทางการศึกษาของ สพฐ. นำค่าเฉลี่ย (Mean) ระดับประเทศของแต่ละวิชามาขีดเส้นแดงแล้วดูว่า โรงเรียนแต่ละแห่งอยู่ในตำแหน่งใด อยู่เหนือ หรือต่ำกว่าเส้นแดง และ สพฐ.จะนำฐานข้อมูลตรงนี้มาใช้ในการบริหารจัดการงบประมาณและบุคลากรของโรงเรียน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ สพฐ.มาสแกนดูว่า มีโรงเรียนจำนวนเท่าใดที่อยู่ใต้ค่าเฉลี่ยคะแนน O-Net
          ที่ผ่านมา สพฐ.ไม่มีฐานข้อมูลใดๆ ที่จะใช้พิจารณาการจัดงบประมาณให้โรงเรียนจึงทำลักษณะของการหารเฉลี่ยและกระจายเงินให้โรงเรียนต่างๆ ไปตามสัดส่วน แต่ถ้ารู้ข้อมูลจริงของโรงเรียนแล้ว การจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนก็จะตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพมากขึ้น เป็นแนวทางให้โรงเรียนแต่ละแห่งเลือกทำโครงการที่ถูกต้องเพื่อพัฒนาในด้านที่ต้องการการปรับปรุง นอกจากนั้นจะมีการลากเส้นเขียวขึ้นด้วย ตัดเชือกที่ค่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ร้อยละ 70 ขึ้นไป โรงเรียนใดที่อยู่เหนือเส้นเขียวถือว่าประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอน และ สพฐ.ก็จะดึงครูผู้สอนจากโรงเรียนแห่งนั้นมาเป็นวิทยากรแกนนำอบรมครูของโรงเรียนอื่นๆ ตรงนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จมาเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพครู
         นายชินภัทร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ครูและโรงเรียนทุ่มเทพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและให้ความสำคัญกับคะแนน O-Net สพฐ.จะนำเส้นแดงกับเส้นเขียวมาเชื่อมโยงกับระบบบริหารจัดการงบประมาณและบุคลากรด้วย โดยในส่วนของการบริหารจัดการงบประมาณนั้น โรงเรียนที่อยู่เหนือเส้นแดงและเขียวก็จะมีสิทธิ์ที่จะเสนอแผนงานโครงการพัฒนาโรงเรียนต่างๆ และมีแนวโน้มได้รับการอนุมัติโครงการสูงกว่าโรงเรียนที่อยู่ใต้เส้นแดง ทั้งนี้เพื่อเหนือเส้นได้ต่อยอดการพัฒนาโรงเรียน แต่ไม่ใช่ว่า สพฐ.จะตัดงบประมาณของโรงเรียนที่อยู่ใต้เส้นแดง เพราะหากทำเช่นนั้นโรงเรียนที่แย่อยู่แล้วจะไม่มีกำลังในการพัฒนา แต่โรงเรียนที่มีปัญหาด้านคุณภาพนั้น สพฐ.จะมีโครงการพัฒนาให้โดยเฉพาะ ที่สำคัญครูจากโรงเรียนที่อยู่บนเส้นแดง และโดยเฉพาะบนเส้นเขียว จะมีผลต่อการพิจารณาความดีความชอบ และจะใช้ข้อมูลส่วนนี้มาประกอบการพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะด้วย ซึ่งขณะนี้ สพฐ.กำลังยกร่างเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะแนวใหม่เสนอคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งจะให้น้ำหนักกับ 2 องค์ประกอบใหญ่คือ สมรรถนะครูผู้สอนและผลที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียน ซึ่งก็คือเส้นแดงและเส้นเขียว


ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง



    ไฟเขียวกฎศธ.ตั้ง'ร.ร.นอกระบบ' พื้นที่100 ตร.ม.ขึ้น-คุมน.ร.ต่อห้อง

              เมื่อวันที่ 6 กันยายน นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ กช.เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ พ.ศ.... ตามที่ ศธ.เสนอ ซึ่งการออกร่างกฎกระทรวงดังกล่าวออกตามมาตรา 121 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้การขอรับใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ และการขอรับใบอนุญาต จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องออกร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยเนื้อหาสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตฯ ในหมวด 2 ว่าด้วยมาตรฐานการจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ ชื่อของโรงเรียนนอกระบบจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และชื่อต้องมีคำว่าโรงเรียนประกอบชื่อด้วย หรืออาจมีอักษรต่างประเทศกำกับด้วยก็ได้ ส่วนสถานที่และบริเวณที่จะใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนอกระบบ ต้องไม่ขัดต่อสุขลักษณะ หรืออนามัยของนักเรียน มีการคมนาคมสะดวก ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่ดี และไม่อยู่ใกล้โรงงานที่อาจเกิดอันตราย หรืออยู่ใกล้สถานที่ที่ไม่เหมาะสมแก่กิจการของโรงเรียนนอกระบบ
           นายชาญวิทย์กล่าวว่า ส่วนพื่นที่ที่ใช้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบต้องติดต่อเป็นผืนเดียวกัน ไม่ปะปนกับกิจการอื่น และมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตร (ตร.ม.) และในกรณีที่โรงเรียนนอกระบบเปิดสอนตั้งแต่สองประเภทขึ้นไป ต้องมีพื้นที่ใช้สอยสำหรับแต่ละประเภทไม่น้อยกว่า 100 ตร.ม. เว้นแต่หลักสูตรที่โรงเรียนนอกระบบเปิดสอนมีระยะเวลาเรียนเกิน 600 ชั่วโมง ต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่าประเภทละ 200 ตร.ม. นอกจากนี้ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีพื้นที่พักผ่อนสำหรับนักเรียน น้ำดื่ม และ ห้องส้วมสำหรับชายและหญิง แยกต่างหากเป็นสัดส่วนให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียน สำหรับการจัดการเรียนการสอนที่เป็นห้องเรียนภาคทฤษฎีในกรณีจัดการสอนโดยใช้ครู หรือผู้สอน ต้องมีจำนวนนักเรียน ไม่เกิน 45 คนต่อห้อง แต่หากเป็นการจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อในการสอน อาทิ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ต้องมีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 90 คนต่อห้อง และต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยประจำห้อง ส่วนการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ หรือมีทั้งครูและสื่อการสอนในกรณีที่เกิน 90 คน ต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำห้องเรียน และควบคุมการใช้สื่อ ทั้งนี้ ในการคำนวณ ความจุนักเรียนในห้องเรียนภาคทฤษฎี ต้อง มีความจุไม่น้อยกว่า 1 ตร.ม.ต่อนักเรียน หนึ่งคน และห้องเรียนปฏิบัติไม่น้อยกว่า 1.5 ตร.ม.ต่อนักเรียนหนึ่งคน
            รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโรงเรียน นอกระบบมีหลายประเภท อาทิ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนหลักสูตรระยะสั้น โรงเรียน สอนทำอาหาร โรงเรียนสอนขับรถยนต์ เป็นต้น


ที่มา นสพ.มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: