วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สัมผัสสถานศึกษา สะท้อนความพร้อม การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ณรงค์ ขุ้มทอง อดีตรองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษโรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลาประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนนวมินทราชูทิศ ทักษิณ และโรงเรียนหาดใหญ่พิทยาคม
           ผู้เขียนเป็นอดีตรองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา และในฐานะประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนนวมินทราชูทิศ ทักษิณ โรงเรียนหาดใหญ่พิทยาคม และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานจัดทำ บริหารจัดการศูนย์อาเซียนศึกษาของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้เป็นศูนย์ Spirit of Asean. ซึ่งมีหน้าที่หลักๆ คือ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์/จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนมหาวชิราวุธ และโรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงได้ตระหนักและสนใจในการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งเรื่องการสอนเกี่ยวกับอาเซียนโดยยึด 3 เสาหลัก คือ
1.ประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน
2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
          นอกจากนั้นแล้วมีหน้าที่ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดแข่งขันร้องเพลงอาเซียนระดับภาคใต้ จัดกิจกรรมบูรณาการ วัฒนธรรมอาเซียนในกิจกรรมกีฬาคณะสี จัดกิจกรรมมหกรรมอาหารอาเซียน จัดกิจกรรมบรรยายเกี่ยวกับความสำคัญของประชาคมอาเซียน โดยเชิญวิทยากร เช่น ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการประชาคมอาเซียน โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรของโรงเรียนตลอดบุคลากรของมหาวิทยาลัย ครู อาจารย์ ในจังหวัดใกล้เคียง เช่น พัทลุง/ตรัง/ปัตตานี/สตูล/ยะลา/นราธิวาส เป็นต้น
         ผู้เขียนมีโอกาสเข้าเรียนประชุมกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับท่านทูตไทยประจำประเทศต่างๆ ในอาเซียนร่วมกับท่าน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน และมีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานประเทศต่างๆ ในอาเซียน 7-8 ประเทศ ร่วมกับผู้บริหารและครูโรงเรียนต่างๆ ในภาคใต้ตอนล่าง พบว่าในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย/อินโดนีเซีย/เวียดนาม/ฟิลิปปินส์ ได้พัฒนาไปไกลกว่าประเทศไทย ทั้งในด้านหลักสูตรและเนื้อหาโดยเฉพาะการใช้ภาษาอังกฤษควบคู่กับภาษาประจำชาติไปด้วย (ยกเว้นสิงคโปร์ เขาเจริญก้าวหน้าไปมากยากที่เราจะตามทัน)
         ผู้เขียนได้ทราบข้อสรุปจากชาวต่างชาติที่มองการศึกษาไทยว่าเป็นการลงทุนที่สูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน แต่คุณภาพและผลผลิตต่ำ จึงมีชาวต่างชาติ กล่าวว่าโรงเรียนในเมืองไทยเป็น Very Good School และ Very Bad Education
         ผู้เขียนไปดูงานโรงเรียนที่รัฐปีนังใกล้ๆ ประเทศไทยพบว่าโรงเรียนสะอาด สิ่งแวดล้อมดีเยี่ยม สื่อการสอนระดับดีมากๆ ผลการเรียนระดับดีมาก นักเรียนมีโครงงานระดับชาติ ระดับโอลิมปิก เป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่มาเลเซียใช้เวลาเรียนแต่ละชั่วโมง ระดับประถมศึกษาประมาณ 30 นาที มัธยม 40-45 นาที และเลิกเรียนประมาณ 14.30 น. ตรงข้ามประเทศไทยเรียนเต็มที่ เต็มชั่วโมงแถมเรียนพิเศษตอนเลิกเรียน เสาร์-อาทิตย์ อีก แต่ผลการสอนระดับชาติ (O.Net) กลับตกต่ำอย่างน่าใจหาย
         ผู้เขียนมีแนวความคิดว่า ผู้บริหารของโรงเรียนสำคัญมากๆ ผู้เขียนมีโอกาสพิจารณาคัดเลือกผู้บริหารเบื้องต้นในฐานะเป็นประธานกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน ผู้เขียนตั้งเกณฑ์ข้อหนึ่งคือ ดูผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของนักเรียนที่ผู้บริหารแต่ละคนเคยบริหารมาก่อนย้อนหลังไป 3-5 ปี แล้วพบว่า ผู้บริหารบางคนไม่ได้สนใจผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการเลย บางคนถนัดทำรั้ว/ทาสีอาคาร/โค่นต้นไม้/ปลูกต้นไม้ เป็นต้น
         จึงสอดคล้องที่ชาวต่างชาติพูดว่า Very Good School คือโรงเรียนสวยมากกว่าผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน (ตกต่ำ)
          การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านผลการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน พบว่าครู/ผู้อำนวยการสถานศึกษา/ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ อาจารย์มหาวิทยาลัย ประมาณ 70-80% มีความรู้และเข้าใจในการขับเคลื่อนอาเซียน ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและของประเทศน้อยมาก (มติชน ฉบับอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2555 หน้า 22) ประกอบกับผู้เขียนมีโอกาสไปเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ครูในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ก็พบความจริงว่า การขับเคลื่อนเรื่องอาเซียนน่าจะไปไม่ถึงตามที่หวัง บางโรงเรียนเข้าใจว่า ซื้อธงประเทศสมาชิกอาเซียนมาปักหน้าโรงเรียนพร้อมเครื่องหมายอาเซียนแล้วบอกว่าได้ทำเรื่องอาเซียนแล้ว ที่จริงนั้นไม่ใช่เป็นการเข้าใจผิดอย่าง ใหญ่หลวงทีเดียว ผู้เขียนมีแนวคิดและข้อเสนอแนะว่า การขับเคลื่อนอาเซียนในโรงเรียนหรือสถาบันใดก็ตาม ควรดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ประชุมชี้แจงให้บุคลากรในโรงเรียน สถาบันและมหาวิทยาลัยเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
2.แต่งตั้งคณะกรรมการอาเซียนของโรงเรียนหรือวิทยาลัย/มหาวิทยาลัย ถ้าเป็นโรงเรียนควรมาจากตัวแทนของกลุ่มสาระละ 1-2 คน แล้วเลือก 1 คน เป็นเลขาฯศูนย์อาเซียนศึกษา และหลังจากแต่งตั้งคณะกรรมการอาเซียนแล้ว ก็จัดหาห้องเรียนหรือจัดทำสำนักงานอาเซียนขึ้นในโรงเรียนพร้อมสื่อต่างๆ
3.ให้ศูนย์อาเซียนศึกษาเทียบเท่า 1 กลุ่มสาระ ทั้งนี้ จะได้เสนอแผนงานกิจกรรมและงบประมาณคล้ายๆ กับอีก 8 สาระทางวิชาการ
4.จัดทำหลักสูตรอาเซียนของสถานศึกษา (อาจนำเอาเนื้อหาของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาใช้ก็ได้ตามความเหมาะสม)
5.เปิดสอนภาษาของประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น ภาษามลายู เพราะประชากรอาเซียน 500-600 ล้านคน พูดภาษามลายูเกือบครึ่งหนึ่ง
6.เปิดสอนภาษาประเทศอาเซียน +3 และ +6 เช่น ภาษาอินเดีย/ภาษาจีน/ภาษาเกาหลี/ภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น
7.จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อาเซียน เรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านโดยยึด 3 เสาหลัก คือ ด้านความมั่นคง/ด้านเศรษฐกิจ/ด้านสังคมวัฒนธรรม โดยจัดทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนหรือนอกมหาวิทยาลัย
8.จัดทำสื่อต่างๆ เกี่ยวกับอาเซียน เช่น ความรู้ในกรอบ 3 เสาหลัก/ความรู้เกี่ยวกับอาชีพต่างๆ 7-8 สาขา ที่ประชาชนในภูมิภาคจะต้องเคลื่อนย้ายเข้าหากันในปี 2558/ความรู้เกี่ยวกับเชื่อมโยงด้านการเงิน/ด้านการบิน/ด้านพลังงาน/ด้านทางรถไฟและรถยนต์/ด้านพลังงานต่างๆ เป็นต้น
9.จัดกิจกรรมวันอาเซียนเดย์ (8 สิงหาคม) กิจกรรมค่ายอาเซียนโดยใช้โรงเรียนเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมอาจจะจัดเป็นสัปดาห์อาเซียน
10.จัดทำโครงการหรือกิจกรรมความร่วมมือกับโรงเรียนในประเทศต่างๆ ให้ได้ 9 ประเทศ (โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในโครงการของ สพฐ. ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ตามศักยภาพของแต่ละโรงเรียน) การทำความร่วมมือกับโรงเรียนในต่างประเทศ ผู้เขียนมีประสบการณ์ที่ร่วมเดินทางไปกับโรงเรียนต่างๆ 7-8 ประเทศ ควรทำบันทึกความร่วมมือ (M.O.C.) (Memorendom of Coperation) และในการดำเนินการควรดำเนินการให้แล้วเสร็จ 30 วันก่อนการเดินทาง

            และผู้เขียนขอแนะนำว่าไม่ควรใช้บริษัททัวร์ในการบริหารจัดการ เพราะทำให้ครู-บุคลากรไม่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการ และควรผ่านกระทรวงต่างประเทศ โดยกรมเอเชียตะวันออกเป็นผู้ให้คำปรึกษา ให้ความสะดวกหากไปประเทศใดควรแจ้ง และขอความร่วมมือท่านทูตไทยประจำประเทศนั้นๆ ซึ่งผู้เขียนมีประสบการณ์และได้รับความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมตลอดมา และในการเดินทางดังกล่าวจะมีเกียรติยิ่งและเราก็จะเป็นแขกของทูตไทยไปในตัวด้วย
            ฉะนั้นผู้เขียนในฐานะผู้รับผิดชอบศูนย์อาเซียนของโรงเรียนและเท่าที่ผู้เขียนได้เดินทางไปศึกษาดูงานในกลุ่มประเทศอาเซียน เดินทางเยี่ยมและเป็นวิทยากรให้โรงเรียนต่างๆ ในภาคใต้ตอนล่างของไทยแล้วรู้สึกเป็นห่วงประเทศไทย ท่ามกลางการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเยาวชน ประชาชนเราพร้อมรู้เขารู้เราแล้ว อาเซียนก็จะเป็นแหล่งทรัพยากร/แหล่งอาชีพ/แหล่งวัฒนธรรมที่หลากหลาย พร้อมที่จะรองรับคนไทยได้ในปี 2558 เพราะหลังจากปี 2558 ประตูอาเซียนก็จะเปิดรับการเคลื่อนย้ายแรงงาน การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและอื่นๆ อย่างหลากหลาย
            ก่อนจบผู้เขียนใคร่ขอเสนอแนะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการ เตรียมคนสู่ประชาคมอาเซียนโดยเร็ว คือ เตรียมความพร้อมด้านทักษะการใช้ภาษาอังกฤษอย่างเร่งด่วน โดยเน้นการเรียนการสอนเชิงปฏิบัติทางภาษามากกว่าเน้นด้านไวยากรณ์ และสิ่งที่ไม่ควรลืมเป็นอันขาดคือ เน้นการพัฒนาทักษะคนเข้าสู่มาตรฐาน 6 ทักษะ ดังนี้

1.ทักษะการสื่อสารที่ดี หลากหลายภาษา
2.ทักษะการคิดที่ดี คิดเชิงบวกให้มากกว่าเชิงลบ คิดเชิงวิเคราะห์เหตุและผลให้มากขึ้น
3.ทักษะการมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ
4.ทักษะการแก้ปัญหา รู้จักแก้ปัญหาเชิงเหตุและผลให้มากกว่าปัจจัยอื่นๆ
5.ทักษะการมีจิตสาธารณะ รู้จักเสียสละช่วยเหลือ เผื่อแผ่/คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
6.ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองให้มากกว่าจากการเรียนรู้จากผู้อื่น มีทักษะชีวิตที่ดี
ทั้งหมดนี้ผู้เขียนเชื่อว่าโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันต่างๆ เข้าใจขั้นตอนและวิธีการการขับเคลื่อนอาเซียนแล้วก็จะส่งผลดีในภาพรวมของประเทศไทยของเราอย่างแน่นอน และพร้อมเข้าสู่ A.E.C. ในปี 2558 อย่างเชื่อมั่น

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: