วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คอลัมน์: การศึกษา: เลื่อนเปิดเทอม...รับอาเซียนปัญหาที่ยังรอบทสรุป

         ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันจนถึงขณะนี้ กรณีนโยบายการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558  ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้กำกับดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังคงยืนยันไม่เลื่อนเปิดภาคเรียนตามที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติให้มหาวิทยาลัยของรัฐ 24 แห่งที่เป็นสมาชิก เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ไปเป็นเดือนสิงหาคม ของทุกปี  แน่นอนว่าเมื่อ ทปอ. ไฟเขียวให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เลื่อนเปิดเทอมแล้ว แต่ สพฐ. ยืนกรานว่าไม่เลื่อนเปิดเทอม โดยให้เหตุผลว่ากำหนดการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนในปัจจุบัน สอดรับกับวิถีชีวิตของคนไทยอยู่แล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ เลยทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

        ล่าสุดพบว่าการเปิดภาคเรียนของระดับอุดมศึกษาตามปฏิทินประชาคมอาเซียน ส่งผลกับนิสิตนักศึกษาคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่เรียนจบการศึกษาชั้นปี 4 ต้องไปฝึกสอนเป็นเวลา 1 ปีการศึกษาในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ 2 ภาคเรียนเกิดปัญหาขึ้น เพราะโรงเรียนยังคงเปิดเรียนในช่วงเดือนพฤษภาคม    ทำให้มหาวิทยาลัยที่เลื่อนเปิดภาคเรียนใหม่ และนิสิตนักศึกษาที่ต้องฝึกสอนในโรงเรียน อาจฝึกสอนได้ไม่ครบ 1 ปี    จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ที่ประชุมหารือเรื่องนโยบายการเปิด-ปิดภาคการศึกษาตามปฏิทินประชาคมอาเซียนในปี 2557 ที่มี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ., นายศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกันว่า สพฐ. จะยอมปรับ และขยับกำหนดการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนสังกัด สพฐ. เพื่อให้นิสิตนักศึกษาสามารถฝึกสอนได้โดยไม่ต้องเสียเวลา   โดยมอบหมายให้คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และ สพฐ. กลับไปหารือในรายละเอียดอีกครั้ง

        ขณะที่นายชินภัทรชี้แจงว่า สพฐ. ได้หารือเรื่องดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง โดยรวบรวมข้อมูลการเปิด-ปิดภาคเรียนของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ พบว่า แม้ในโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มประเทศอาเซียนก็ยังเปิด-ปิดภาคเรียนหลากหลายอยู่  การที่มหาวิทยาลัยไทยเลื่อนเปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับปฏิทินอาเซียน เป็นเรื่องที่มีเหตุผล เพราะนิสิตนักศึกษาสามารถเลือกเรียนมหาวิทยาลัยไหนก็ได้ในอาเซียน แต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา 10 ล้านคน ทำให้การเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียน ทำได้ลำบาก   นอกจากนี้ การที่ สพฐ. จะพิจารณาเลื่อน หรือไม่เลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนก่อน   หากเลื่อนให้ตรงกับมหาวิทยาลัยอาจเกิดผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไปถึง 4 เดือน โดยเปิดเรียนช่วงเดือนสิงหาคม   ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีความเห็นว่าให้ปรับการเปิดภาคเรียนเล็กน้อย สพฐ. อาจปรับได้ 2 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 วัน โดยจะไปเปิดเรียนประมาณต้นเดือนมิถุนายนในปี 2557

        นายชินภัทรแจกแจงต่อว่า การปรับดังกล่าวจะอยู่ในวิสัยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตต่างๆ ของผู้ปกครอง และนักเรียนมากนัก โดย สพฐ. จะประชุมรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ปกครอง นักเรียน ครู เป็นต้น เพราะการเลื่อนเปิดภาคเรียนต้องดูว่ามีผลกระทบต่อส่วนไหนบ้าง รวมทั้ง ต้องดูตารางการทดสอบโอเน็ต การสอบ GAT และการสอบ PAT รวมทั้ง แอดมิสชั่นส์ด้วย ซึ่งทุกอย่างจะต้องลงตัว   สพฐ. คาดการณ์ว่าช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นเรื่องดังกล่าว

         ขณะที่ นายศิริชัย กาญจนวาสี มองว่า การทำให้ระบบการเปิด-ปิดภาคเรียนทั้งระดับอุดมศึกษา กับการศึกษาขั้นพื้นฐานสอดคล้องกัน จะทำให้ความขัดแย้งหายไป ดีต่อเอกภาพของการจัดการศึกษา และสอดคล้องกับนานาชาติในการร่วมจัดกิจกรรมในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ หรือนักศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างมาก  ทั้งนี้ ปัจจุบันหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศในระดับปริญญาตรีเป็นหลักสูตร 5 ปี และคุรุสภากำหนดให้ต้องฝึกสอน 1 ปี หรือ 2 ภาคการศึกษา   หากขยับปฏิทินการศึกษาในปี 2557 ตามมติที่ ทปอ. จะทำให้ภาคเรียนที่ 2 ต้องเปิดเรียนกลางเดือนมกราคมไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ช่วงนั้นนิสิตนักศึกษาจะต้องไปฝึกสอน แต่หากโรงเรียนสังกัด สพฐ. ยังเปิดเรียนตามปกติในเดือนพฤษภาคม จะทำให้นิสิตกลุ่มนี้สูญเสียโอกาสสอนนักเรียน   หากขยับเพื่อให้สอดรับในการส่งนิสิตไปฝึกสอนจะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย    สอดคล้องกับความเห็น นายสุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาสารคาม ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) บอกว่า การเลื่อนเปิดเทอมออกไปอีก 20 วันของ สพฐ. ไม่น่าจะมีประโยชน์ โดยเฉพาะต่อการฝึกสอนของนักศึกษาคณะครุศาสตร์ จึงเห็นว่าควรทำให้สอดคล้องกันทั้งระบบน่าจะดีกว่า

         ขณะนี้คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างวิเคราะห์ศึกษาข้อดีข้อเสียของการเลื่อนเปิดภาคเรียนในประเด็นต่างๆ ซึ่งวันที่ 20 พฤศจิกายน จะสรุป และความเห็นจากคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ทั้ง 75 แห่งอีกครั้ง แต่ข้อเสนอของ ส.ค.ศ.ท. เบื้องต้นต้องการให้ สพฐ. เลื่อนเปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับอาเซียน เพราะเท่าที่ดูผลดีมากกว่าผลเสีย ที่สำคัญแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ได้ด้วย   ด้านความเห็น นายธวัชชัย พิกุลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาญจนบุรี เขต 4 และนายกสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (สพท.) มองว่า เรื่องนี้ สพฐ. และมหาวิทยาลัยต้องไปหารือให้ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้เลื่อนเปิดเทอมทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความวุ่นวายในอนาคต ช่วงปีแรกๆ อาจจะเกิดความสับสนกันบ้าง แต่ก็ค่อยๆ ปรับกันไปเรื่อยๆ ในส่วนของเขตพื้นที่การศึกษาพร้อมปฏิบัติตามนโยบายอยู่แล้ว   อย่างไรก็ดี นโยบายการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนนับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหารือกันให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาระบบการศึกษาไทย เพราะเหลือเวลาอีกแค่ 3 ปี ประตูสู่ประชาคมก็เริ่มเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล, ศธ. และมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องใช้เหตุผลมาพูดกันอย่างจริงจัง และหาข้อสรุปว่าจะทำเช่นไรเรื่องการเลื่อนเปิดเทอม   รวมทั้ง ทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาไทยมีคุณภาพ และยึดผลประโยชน์ของทุกคน ที่สำคัญสามารถก้าวเดินไปพร้อมๆ กับประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างภาคภูมิใจ ตรงกันข้ามหากทุกหน่วยงานยังถกเถียงกันไม่ยอมจบ และยังคงเดินคนละทิศคนละทางเหมือนทุกวันนี้

เพราะไม่เช่นนั้น ท้ายที่สุด "ไทย" อาจจะกลายเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่ไม่มีความพร้อมด้านการศึกษาก็เป็นได้...


มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 พ.ย. 2555

ไม่มีความคิดเห็น: