วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

คอลัมน์: ศึกษา..พาที: ปัญหาและโอกาสทางการศึกษาทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกัน

ชนิตร ภู่กาญจน์

ปัญหาในภาคการศึกษา เป็นปัญหาที่กระทบต่อคนไทยทุกคน ทั้งนี้เนื่องจากมีกฎหมายที่ใช้บังคับให้กับคนไทยทุกคนต้องเข้ารับการศึกษา และได้สิทธิ์ในการศึกษาเล่าเรียนอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่มีคนไทยคนใดที่จะหลีกเลี่ยง หรือถูกกีดกันไม่ให้มีโอกาสในการเข้าสู่แวดวงของการศึกษาได้

ดังนั้นปัญหาของการศึกษาทุกปัญหา ภาครัฐจะต้องมีส่วนร่วมในด้านการแก้ไขด้วย

ถ้าจะแยกแยะปัญหาของการศึกษาให้เห็นเป็นรูปธรรม อย่าง กว้างๆ น่าจะพบว่า ปัญหาของการศึกษาจะอยู่บนฐาน 2 ฐาน คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และ ปัญหาด้านโอกาสปัญหาบนฐานทางเศรษฐกิจ เป็นปัญหาใหญ่ที่สามารถแปรให้สถานภาพของนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่ต้องการจะศึกษาเรียนรู้ต้องหยุดชะงัก หรือหมดสิทธิ์ในการศึกษาไปเลย

ปัญหาบนฐานด้านโอกาส เป็นปัญหาไม่เล็กเช่นกัน เพราะโอกาส ในการสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษา เป็นฐานที่กว้างมาก ดังนั้น บนฐานนี้จึงต้องมีการตัวช่วยอื่นๆ มากมาย การจะทำให้เกิด อย่างรวดเร็ว และไม่ตกหล่นจึงค่อนข้างที่จะทำลำบาก และต้องใช้เวลา

จากช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาอันเกิดจากฐานทั้งสอง ส่งผลให้มีเด็กไทยมากมาย ที่ต้องยุติการศึกษาลงอย่างน่าเสียดาย

เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่เพิ่งจะผ่านมา ได้มีการประชุม ร่วมกัน แก้ไขปัญหาทางด้านการศึกษา ในประเด็น การสร้างโอกาสให้แก่ผู้พบ ปัญหาในการศึกษาจนไม่สามารถจะเรียนให้จบหลักสูตรได้ตามเจตนารมณ์ ณ โรงเรียนบ้านคอกช้าง จังหวัดนครศรีธรรมราช

การจัดการประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้นจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 ดำเนินการแก้ปัญหานักเรียนออกกลางคันเพื่อสร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ในการจัดการศึกษานอกระบบเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา ภายใต้ "ศูนย์ศึกษาเสมาภิบาล" มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรูปแบบพิเศษสำหรับเด็กออกกลางคันที่ออกไปประกอบอาชีพแล้วด้วยสาเหตุต่างๆ ให้ทุกคนได้กลับมาเรียนเพิ่มเติมในวันเสาร์-อาทิตย์ จนจบการศึกษาภาคบังคับเป็นอย่างน้อย

นอกเหนือจากให้โอกาสของนักเรียน ที่ต้องพบกับปัญหาเรียนไม่จบแล้ว ยังเพื่อเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้ปกครอง และทุกภาคส่วนของชุมชน/ท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานักเรียนยากจนและด้อยโอกาสทุกประเภท พร้อมจัดหาทุนการศึกษาและปัจจัยที่จำเป็นช่วยเหลือเป็นรายบุคคล เพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้หาทางช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาที่จะออกกลางคัน ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้จำนวนนักเรียนออกกลางคัน ลดลงและได้เข้าเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ

งานนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาสัมฤทธิ์แค่ไหน ก็คงจะต้องอยู่ที่ความร่วมมือของทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และควรจะได้รับการส่งเสริมอย่างจริงของภาครัฐด้วย เพราะเพียงแค่เจตนารมณ์ในการดำเนินการก็ทำให้เห็นแล้วว่า "น่าส่งเสริม และน่าสนับสนุน" เป็นอย่างยิ่ง


ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า


นำร่องหลักสูตรอาเซียน 225 โรง สพฐ.ผุดทีมวางแนวทางให้ร.ร.

เมื่อวันที่ 10 มกราคม นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำหลักสูตรอาเซียน ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แปลเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอาเซียน Asean curriculum sourcebook เป็นภาษาไทยแล้ว เพื่อจัดส่งให้โรงเรียนที่มีความพร้อม นำไปดัดแปลงให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนตามกรอบที่กำหนด 5 ประการคือ 1.ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอาเซียน 2.คุณค่าและความหลากหลาย 3.การเชื่อมต่อกับทั่วโลกและในภูมิภาค 4.การส่งเสริมด้านคุณภาพความถูกต้องและยุติธรรม และ 5.การทำงานร่วมกันเพื่อความร่วมมืออันดีในอนาคต โดยทั้ง 5 กรอบนี้ มุ่งพัฒนา 4 ด้าน คือ บุคลากร สถานที่ นโยบาย และความคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศจะมีแนวทางพัฒนาไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องมีการบังคับเป็นวิชาหลัก แต่สามารถสอดแทรกเข้าไปในแต่ละรายวิชาได้ ขณะเดียวกัน สพฐ.ยังได้ตั้งคณะกรรมการที่มีผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นมา 1 ชุด เพื่อวางแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรอาเซียนให้โรงเรียนต่างๆ ดังนั้น ในช่วงปิดภาคเรียนนี้ ครูจะต้อง เตรียมความพร้อม สำหรับการเรียนการสอนในหลักสูตร ดังกล่าว เพื่อให้พร้อมสำหรับสอนนักเรียนต่อไป
นางเบญจลักษณ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้ จัดตั้งโรงเรียนที่มีความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบนำร่องจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรอาเซียน 225 โรงทั่วประเทศ โดยโรงเรียนเหล่านี้ถือเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน และจะเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนแบบอาเซียน รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวถือเป็นความร่วมมือของกลุ่ม 10 ประเทศอาเซียนในเรื่องการจัดทำ Asean curriculum sourcebook ซึ่งเป็นเกณฑ์กลางในการปรับการเรียนการสอนทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดย สพฐ.ได้นำเกณฑ์กลางดังกล่าวไปบูรณาการจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมในแต่ละกลุ่ม เพราะเนื้อหาหลักสูตรส่วนใหญ่เกี่ยวกับประเทศอาเซียน จะสอดแทรกอยู่ในแต่ละวิชาอยู่แล้ว โดยส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มสาระวิชาสังคมศึกษา หรือกลุ่มวิชาศิลปะ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: