วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

ชงยกเลิกสอบครูผู้ช่วยอีสาน ดีเอสไอชี้เป้า 4 จังหวัดทุจริตหนัก สพฐ.เล่นงานวินัยร้ายแรงอีก 7 ราย


โพสต์ทูเดย์ ดีเอสไอเสนอยกเลิกสอบครูผู้ช่วยพื้นที่ จ.อุดรธานี ยโสธร ชัยภูมิและขอนแก่น ศธ.รอเคาะ วันที่ 18 มี.ค.นี้
          นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ผลการลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตสอบครูผู้ช่วย เบื้องต้นพบความผิดปกติจำนวนมาก เช่น จ.อุดรธานี ยโสธร ชัยภูมิ และขอนแก่น มีการเข้าสอบแทนกันชัดเจนดังนั้น จะเสนอกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ให้ยกเลิกการสอบรายพื้นที่ในส่วนนี้
          ขณะที่การสอบในเขตพื้นที่อื่นเช่นภาคกลาง ต้องดูว่าผู้เข้าสอบส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่หรือต่างพื้นที่ หากเป็นบุคคลต่างพื้นที่จำนวนมากและมีคะแนนสอบสูงผิดปกติก็ส่อว่าอาจมีการทุจริตสอบเช่นกัน
          ขณะเดียวกัน แนวทางการสอบสวนรายชื่อผู้เข้าสอบที่ได้คะแนนสูงผิดปกติกว่า 400 คน ที่ ศธ.ให้รายชื่อมานั้นคาดว่าจะใช้เวลา 5-6 เดือน โดยจะเรียกสอบเป็นรายบุคคลทั้งหมดเพื่อคัดแยกบุคคลที่ทุจริตว่ามีกี่ราย ในส่วนนี้ดีเอสไอเห็นว่าไม่จำเป็นต้องยกเลิกการสอบทั้งพื้นที่ แต่อาจใช้วิธีการปลดออกจากตำแหน่งและเลื่อนบุคคลที่ได้คะแนนรองลงมาขยับขึ้นไปแทน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ไม่ได้ทุจริต 
          นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การจะยกเลิกผลการสอบหรือไม่ ต้องรอฟังผลสรุปของดีเอสไอในวันที่ 22 มี.ค.นี้ หากมีข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) นัดพิเศษก็น่าจะพิจารณาในบางประเด็นได้ 
          นอกจากนี้ กรณีจัดสอบครูผู้ช่วยทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เดือน เม.ย. จะต้องดำเนินการต่อไปตามกำหนดเดิม เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนซึ่งที่ผ่านมาจะมีครูในโรงเรียนเอกชนมาสมัครสอบจำนวนมาก หากครูเหล่านี้สอบได้ ทางโรงเรียนเดิมจะต้องหาครูคนใหม่มาทดแทนให้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 
          ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)กล่าวว่า ได้รับรายงานผลการตรวจสอบจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดที่ สพฐ. แต่งตั้งแล้ว พบข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นในกรณีการสอบที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)ขอนแก่น เขต 3 ซึ่งมีผู้เข้าสอบแทนผู้สมัคร ลายมือชื่อของผู้เข้าสอบไม่เหมือนลายมือชื่อในใบสมัครสอบมีพิรุธการจัดที่นั่งสอบที่ปกติ เป็นต้น 
          นายชินภัทร กล่าวว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง 7 รายแล้ว ได้แก่ ผู้อำนวยการ(ผอ.) และรองผอ.สพป. ขอนแก่น เขต 3 ผอ.กลุ่มบุคคล และผู้คุมสอบอีก 4 คน โดยระหว่างนี้จะออกคำสั่งให้ย้าย ผอ.สพป.และรอง ผอ.สพป. ทั้ง 2 คนออกจากพื้นที่มาช่วยราชการก่อน 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

เปิดโครงการ'โรงเรียนสุจริต' นำร่องจากทุกภาค 225 โรงเรีย นปลูกจิตสำนึก'ต้านคอรัปชั่น'

          ท่ามกลาง "การสุจริต" การสอบครูผู้ช่วย ที่เป็นข่าวครึกโครม อยู่ในขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดตัวโครงการ"โรงเรียนสุจริต" ขึ้นเป็นปีแรก นำร่องจากทุกภาค225 โรงเรียน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และคัดเลือก 12 โรงเรียนเป็นโรงเรียนต้นแบบ โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ทำหน้าที่แทนรมว.ศึกษาธิการ ปิดโครงการอบรม "โรงเรียนสุจริต"  เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ จอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี หลังจากได้นำนักเรียน ครู ผู้บริหารการศึกษา เข้าค่ายอบรมตั้งแต่วันที่5 - 8 มี.ค.ที่ผ่านมา
          นายสุวัฒน์  กล่าวว่า  เป็นการทดลองวิจัยป้องกันการทุจริต โดยการเน้น 5 ด้านในการเป็น "โรงเรียนสุจริต" ได้แก่ มีทักษะกระบวนการคิดมีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต อยู่อย่างพอเพียงและมีจิตสาธารณะ พัฒนาโรงเรียนสู่สากล มีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ไม่คอร์รัปชัน โดยฝึกอบรมผู้บริหาร ครู และนักเรียนที่คัดเลือกให้เป็นโรงเรียนสุจริต นำร่องปลุกจิตสำนึกให้คิดถึงส่วนรวมและ โรงเรียนสุจริตจะเป็นโรงเรียนที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย โดยจะผลักดันให้โรงเรียนสุจริตเป็นรูปธรรม เป็นที่รู้จัก ภายใน 5 ปี
          ทั้งนี้เป้าหมายโรงเรียนสุจริต คือ ปลุกจิตสำนึกให้กับทุกคน นอกจากโรงเรียนแล้วยังต้องขยายไปสู่สังคม อย่างการสอบสวน การทุจริตสอบครูผู้ช่วย ที่รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาให้ความสำคัญ จนพบความไม่ชอบมาพากล และเร่งหาขบวนการที่กระทำผิด และแนวโน้มจะมีการยกเลิกเร็วๆ นี้
          นายสุวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ว่า โดยปกติแล้วกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายและบรรจุอยู่ในหลักสูตร และสาระต่างๆในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เรื่องการสร้างความสุจริตโปร่งใส เรื่องของกู๊ดกอฟเวอร์แนนซ์ และเรื่องป้องกันการทุจริตอยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือเรื่องการทุจริต
          ทั้งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมก็ดี ซึ่งพระองค์ทรงมีพระบรมราโชวาท เกี่ยวกับการทุจริตที่เกิดขึ้นในสังคมว่าถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นต่อไปแล้ว ไม่มีการแก้ไขและป้องกัน จะทำให้ประเทศชาติล่มจมได้
          ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ รับใส่เกล้าพระบรมราโชวาท จึงได้มาดำเนินการเรื่องการป้องกันการทุจริตและสร้างความสุจริตให้เกิดขึ้น ในจิตใจของนักเรียน ผู้บริหารครู และจะขยายขับเคลื่อนต่อไปในทุกโรงเรียน จนถึงประชาชน
          "ส่วนรูปธรรมนั้นเราได้ทำอยู่แล้ว ในทุกโรงเรียน แต่จะสร้างเรื่องนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงได้คิดเป็นโครงการเรียกว่าโรงเรียนสุจริต เพื่อดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่างปฏิญญา ที่ผู้ผ่านการอบรมรับไปนั้น มีว่า
          1.จะป้องกันการทุจริตในทุกรูปแบบ ทุกขั้นตอนที่ได้พบเห็นที่เกี่ยวข้อง
          2.จะขยายเครือข่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ต่อไป ทุกโรงเรียน นักเรียน ครู ผู้บริหารการศึกษาและประชาชนอย่างทั่วถึง
          3.การปลูกฝังความสุจริตให้กับประชาชนคนไทย ตลอดจนนักเรียน ครู ซึ่งเป็นต้นแบบ เพื่อขยายต่อไปทั่วทั้งประเทศเพราะว่าจะให้ลดน้อยลงไปและไม่ให้เกิดขึ้นก่อนที่เราจะเปิดประตูสู่อาเซี่ยน ซึ่งต้องมีการแข่งขัน มีการสร้างความเชื่อถือศรัทธา" ผู้ช่วยรัฐมนตรี กล่าว สำหรับความคาดหวังว่าจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และติดตามประเมินผลอย่างไรนั้น
          นายสุวัฒน์ กล่าวว่า การเตรียมการและขั้นตอนกระบวนการต่างๆ นั้น กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้เตรียมงานมาหลายเดือน กระบวนการทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มคิดโครงการ ตั้งชื่อ ขั้นตอน การติดตามประเมินผล การแก้ไขปัญหา การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ให้ประสบความสำเร็จอย่างไร
          โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากเด็กๆ ที่เข้าค่ายการอบรม พบว่าเข้าใจและตอบรับโครงการโดยความพร้อมของตัวเด็ก พร้อมขับเคลื่อนความคิดนี้ไปยังคนอื่นเพราะเขาได้รับการปลูกฝัง ว่าความทุจริตเป็นสิ่งไม่ดี และเขาก็พร้อมจะเดินตาม และจัดตั้งเครือข่ายในการขยายผลต่อไป ทั้งวิทยุชุมชนหรือสื่อต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงประชาชน การปลูกฝังความสุจริตให้เกิดขึ้นในประชาชน สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัด ว่าได้ผลหรือไม่เพื่อการติดตามและขับเคลื่อนโครงการให้ได้ผลเป็นรูปธรรมต่อไป
          สำหรับโครงการ "โรงเรียนสุจริต" อยู่ใน โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา"ป้องกันการทุจริต" โดยนางสาวศันสนีย์ นาคพงษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และนักวิชาการ นักศึกษา คณะครูอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ ในเขตภูมิภาคตะวันออกเข้าร่วมโครงการ
          นางสาวศันสนีย์ กล่าวเปิดว่าโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา"ป้องกันการทุจริต" ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมียุทธศาสตร์และแผนงานที่ชัดเจนเล็งเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่นปัญหาคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศแม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายการปราบปรามและรณรงค์เพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่น อย่างต่อเนื่องแต่ภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นโดยรวมของประเทศไทยยังไม่ดีขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะแก้ได้เมื่อมีการปลูกฝังค่านิยมการไม่ทุจริตให้กับเด็กนักเรียนให้มีจิตสำนึกของการมีคุณธรรมไม่มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ก็จะช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ลดน้อยลงไปในอนาคตก็เป็นได้โดยผลการตอบรับที่คาดว่าจะได้จากการจัดโครงการดังกล่าว คือ การนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมในครั้งนี้ไปเผยแพร่ปลูกฝังค่านิยมให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้มีจิตสำนึกในความถูกต้อง ไม่มุ่งหาผลประโยชน์ใส่ตัว รักความยุติธรรมซึ่งจะช่วยให้ในอนาคตประเทศไทยจะมีสถิติปัญหาการคอร์รัปชั่นน้อยลงนั่นเอง

          ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

ไม่มีความคิดเห็น: