วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556

เสริมศักดิ์ลั่นเด้งบิ๊กศธ.รอดีเอสไอ ชี้เป้าแก๊งโกงสอบครูผช.เปิดข้อมูลเครือข่ายทุจริต


ศธ.ส่งหนังสือ'ลับ'ให้ดีเอสไอขยายผลขบวนการทุจริตสอบครูผู้ช่วย โยงผู้บริหาร สพฐ.-ผอ.ร.ร.
          จากกรณีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า ทราบตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งหมดแล้ว ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมสอบสวนผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือก และมีคะแนนสูงผิดปกติ 486 ราย โดยจะเสนอเป็นคดีพิเศษ เพื่อให้ใช้อำนาจในการสอบสวนได้เต็มรูปแบบ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการทุจริตทั้งหมดนั้น
          นายเสริมศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการสอบพบการทุจริตสอบครูผู้ช่วย โดยทางดีเอสไอชี้ชัดว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง หากเป็นข้าราชการซี 9, 10 หรือ 11 ก็จะไม่เอาไว้ หากมีการสอบวินัยข้าราชการคนไหนก็จะย้ายออกจากตำแหน่ง เช่น ถ้าเป็นซี 11 ก็จะย้ายไปประจำสำนักนายกฯ และไม่ใช่ว่าเกษียณอายุแล้วจะไม่ทำอะไร ทั้งที่รู้ว่ากระทำผิด
          เมื่อวันที่ 10 มีนาคม แหล่งข่าวระดับสูงของ ศธ.เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตครูผู้ช่วยที่มีนายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ.เป็นประธาน และลงพื้นที่ตรวจสอบทุจริตในพื้นที่ต่างๆ นั้น ขณะนี้ได้ทำหนังสือประทับตรา "ลับ" ส่งถึงดีเอสไอ โดยระบุถึงขบวนการทุจริตสอบครูผู้ช่วยว่ามีความเชื่อมโยงตั้งแต่ผู้อำนวยการสำนักคนหนึ่ง ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปยังผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา พร้อมทั้งระบุถึงผู้ร่วมขบวนการ ที่เป็นทั่งผู้อำนวยการโรงเรียน นักการเมืองระดับท้องถิ่น และข้าราชการระดับท้องถิ่นสังกัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งบุคคลเหล่านี้บางส่วนใกล้ชิดกับนักการเมืองในระดับชาติ โดยจะแบ่งโควตากัน นอกจากนี้หนังสือลับยังระบุว่าผู้อำนวยการโรงเรียนที่เข้าร่วมขบวนการทุจริตครั้งนี้ มีลูก หลาน ลูกเขย สะใภ้ ผ่านการสอบบรรจุครูผู้ช่วยในครั้งนี้ด้วย รวมถึงกรณีพนักงานราชการรายหนึ่งที่มีชื่อโผล่เข้าสอบ 2 แห่ง เป็นหลานของผู้ที่มีชื่ออยู่ในขบวนการทุจริตด้วย
          "ในหนังสือลับยังระบุอีกว่า ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 2 อ้างว่ามีผู้อำนวยการคนหนึ่งใน สพฐ.อ้างว่าต้องหาเงินส่งให้รัฐมนตรี ซึ่งวิธีการทุจริตมีทั้งรับเอกสารเฉลยข้อสอบโดยตรง และส่งเอสเอ็มเอสเข้ามือถือในคืนก่อนวันสอบ และขบวนการนี้เคยทำทุจริตมาแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน แต่ทำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว (อ่านรายละเอียดหน้า 2)นายพิษณุกล่าวว่า หลังส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบในพื้นที่ที่มีการทุจริต ขณะนี้ได้รายชื่อผู้เป็นนายหน้าทำหน้าที่หาลูกค้าแล้ว ซึ่งมีประมาณ 3 คน มีทั้งครูและผู้อำนวยการโรงเรียน จาก จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น ซึ่งได้ส่งรายชื่อดังกล่าวให้ดีเอสไอไปขยายผลแล้ว ส่วนรายละเอียดยังเปิดเผยไม่ได้ ต้องรอเจ้าหน้าที่รายงานในวันที่ 11 มีนาคม
          นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.สั่งให้เลื่อนการประชุม ก.ค.ศ.จากวันที่ 13 มีนาคม ออกไปเป็นวันที่ 22 มีนาคม ซึ่งจะมีวาระพิจารณาเรื่องการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยที่มีปัญหา ซึ่งกรณีของ นายภานุวัฒน์ ชัยวงค์ พนักงานราชการที่สอบได้ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 ในลำดับที่ 1 และลำดับที่ 15 ที่ สพป.ขอนแก่น เขต 3 นั้น คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดที่ที่ประชุม ก.ค.ศ.แต่งตั้ง ได้รายงานผลเบื้องต้นแล้ว พบว่าได้ข้อมูลสอดคล้องกับผลการตรวจส่วนของคณะกรรมการชุดอื่นๆ
          "การประชุมวันที่ 22 มีนาคม สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเสนอให้พิจารณาการสอบครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปประจำปีการศึกษา 2556 ด้วย โดยจะนำกรณีปัญหาการสอบครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมา มาพิจารณา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการสอบ ซึ่งอาจจะต้องปรับเกณฑ์บางส่วนให้ละเอียด หากจะไม่ให้หน่วยงานราชการส่วนกลางเป็นผู้ออกข้อสอบ และประมวลผลสอบ จะต้องระบุไปว่าให้หน่วยงานใดดำเนินการ โดยอาจจะระบุให้สถาบันวิชาการหรือสถาบันอุดมศึกษามาดำเนินการทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการจัดสอบไม่ให้กระทบกับโรงเรียนเอกชน ที่มักจะมีครูเอกชนไปสมัครสอบ และจะลาออกกันมากเมื่อสอบได้" นางรัตนากล่าว
          นายปฐมฤกษ์ มณีเนตร ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุดที่ ก.ค.ศ.แต่งตั้ง กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชื่อเดียวแต่เข้าสอบ 2 แห่ง ทั้ง 2 ราย ที่ สพป.ขอนแก่น เขต 3 แล้ว โดยรายแรก สอบที่ สพป.ขอนแก่น เขต 3 และ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 และติดที่ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 และรายที่ 2 สอบที่ สพป.ขอนแก่น เขต 3 กับ สพป.นครปฐม เขต 1 และติดที่ สพป.นครปฐม เขต 1 โดยพบว่ามีผู้สวมรอยเข้าสอบจริงทั้ง 2 กรณี โดย สพป.ขอนแก่น เขต 3 ถ่ายรูปเป็นหลักฐานไว้ตั้งแต่วันเข้าสอบตามที่ สพฐ.สั่งการว่าจะต้องถ่ายรูปตั้งแต่ขั้นตอนการรับข้อสอบ เก็บข้อสอบไว้ที่ห้องมั่นคง และผู้เข้าสอบ ฉะนั้นเขตพื้นที่ฯ มีรูปชัดเจน หลังแจ้งความตำรวจให้ดำเนินคดีกับผู้เข้าสอบแทนทั้ง 2 ราย สพป.ขอนแก่น เขต 3 ได้ประกาศให้รางวัลผู้ที่ให้เบาะแส หรือตามตัวผู้เข้าสอบแทนรายละ 1 หมื่นบาท
          "เมื่อผมสอบถามเรื่องนี้ ผู้อำนวยการ สพป.ขอนแก่น เขต 3 บอกว่าเปิดเผยไม่ได้ว่าขณะนี้ตามตัวได้หรือยัง เพราะอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งเป็นความลับ ซึ่งผมได้สรุปการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอสำนักงาน ก.ค.ศ.ไปแล้ว และการประชุมในวันที่ 22 มกราคม ถ้ามีข้อสงสัย ก็พร้อมรายงาน และชี้แจงด้วยวาจาอีกครั้ง ทั้งนี้ จะเพิกถอนการเรียกบรรจุทั้ง 2 รายที่มีผู้เข้าสอบแทนหรือไม่ เป็นอำนาจตัดสินของ ก.ค.ศ." นายปฐมฤกษ์กล่าว
          นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เท่าที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาการทุจริตสอบบรรจุครูผู้ช่วย พบว่าผิดปกติ และตั้งข้อสงสัยว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างข้าราชการระดับสูงของ สพฐ.โดยมีลักษณะของการกั๊กข้อมูล เช่น เขตพื้นที่ฯที่มีความผิดปกติ จะปกปิดข้อมูลเพื่อปกป้องกันเอง ดังนั้นคิดว่าเรื่องนี้ถ้าฝ่ายการเมืองไม่ลงมาดูแลเอง จะจับขบวนการทุจริตได้เพียงปลาซิวปลาสร้อย ไม่สามารถจับตัวการใหญ่ได้ ขณะเดียวกันในส่วนของ สพฐ.ดูจะนิ่งเฉยกับกรณีนี้เกินไป ขนาดรู้ว่ามีผู้เข้าสอบหายไปในบางเขตพื้นที่ฯ และมีคนเข้าสอบแทน ยังไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งมีการขุดคุ้ยจนเป็นข่าวขึ้นมา
          "ผมคิดว่า ศธ.บกพร่องเรื่องคุณธรรมสูง โดยเฉพาะในการสอบครูผู้ช่วย ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องไปอบรมสั่งสอนเด็ก ยังทุจริตเอง เท่ากับว่าต้นทางไม่เป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้เด็กนำไปเป็นแบบอย่างในเรื่องการทุจริตสอบต่างๆ ทั้งนี้ คิดว่า สพฐ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะออกมาแสดงความรับผิดชอบให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายการเมือง หรือดีเอสไอไปตรวจสอบอยู่ฝ่ายเดียว" นายสมพงษ์กล่าว
          นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า ระยะหลัง ศธ.ตกเป็นข่าวเรื่องการทุจริตค่อนข้างบ่อย ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ สพฐ.ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของ ศธ.แสดงให้เห็นว่ากระทรวงใหญ่ และมีงบประมาณจำนวนมาก มักตกเป็นเป้าของการแสวงหาผลประโยชน์
          แหล่งข่าวจากเขตพื้นที่ฯ หนึ่งในภาคอีสาน กล่าวว่า การสอบครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมา ยังพบความผิดปกติอีกอย่าง คือมีผู้ที่ "นามสกุล" เดียวกัน สอบติดในหลายเขตพื้นที่ฯ เช่น สพป.ขอนแก่น เขต 3 และ สพป.ชลบุรี เขต 1 นั้น แสดงว่าขบวนการทุจริตครั้งนี้เป็นแค่ออเดิร์ฟ แต่จะมีขบวนการโกงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในการสอบครูผู้ช่วยทั่วไปในเดือนเมษายนนี้ เนื่องจากการสอบครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมา มีเรื่องผิดแผนเกิดขึ้น โดยผู้ที่ซื้อเฉลยคำตอบ ไปบอกเฉลยคำตอบกับญาติตัวเองที่สมัครอีกเขตพื้นที่ฯ เพราะมองว่าไม่ใช่คู่แข่ง เนื่องจากสมัครสอบคนละเขตพื้นที่ฯ และต้องการแชร์ค่าใช้จ่าย ปรากฏว่ารายชื่อที่สอบติดครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมา จึงมีนามสกุลเดียวกันสอบติดด้วย ทำให้ผู้ที่ซื้อเฉลยโดยตรงจากขบวนการทุจริตบางรายไม่ผ่านการสอบคัดเลือก ซึ่งขบวนการทุจริตจึงเตรียมแก้มือ โดยจะดูแลคนกลุ่มนี้ให้สอบบรรจุได้ในการสอบครูผู้ช่วยทั่วไปในเดือนเมษายน จึงอยากให้ ศธ.จับตา และเฝ้าระวังให้ดี
          แหล่งข่าวจากเขตพื้นที่ฯ อีกแห่งหนึ่งในภาคอีสาน กล่าวว่า การเรียกบรรจุครูผู้ช่วย ว12 ครั้งที่ผ่านมา สร้างความไม่สบายใจให้แก่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ส่วนหนึ่ง เพราะโดยปกติก่อนบรรจุ เขตพื้นที่ฯ ต้องมีรายงานสรุปผล ต.2ข.คือคะแนนรวมที่บอกว่าแต่ละภาค ทั้งภาค ก, ข หรือ ค ผู้เข้าสอบได้คะแนนดิบเท่าไร แต่ปรากฏว่าการสอบครั้งนี้ สพฐ.ส่งแต่รายชื่อไปให้เขตพื้นที่ฯ เรียกบรรจุ แต่ไม่มีคะแนนดิบของแต่ละภาคไปให้ ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละรายที่ สพฐ.ส่งรายชื่อไปให้ มีใครได้คะแนนสูงผิดปกติบ้าง ถ้าได้เห็นคะแนนที่ผิดปกติก่อนเรียกบรรจุ เขตพื้นที่ฯ คงเรียกตัวมาซักถามแล้ว
          ขณะที่ "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,142 คน ระหว่างวันที่ 6-9 มีนาคม 2556 จากกรณีพบหลักฐานการทุจริตสอบครูผู้ช่วยที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปที่สนใจติดตามข่าวดังกล่าวเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและส่งผลกับบุตรหลานของตนเอง สรุปผลดังนี้ 1 ประชาชนคิดอย่างไรกับกรณี "การทุจริตสอบครูผู้ช่วย" อันดับหนึ่ง 52.28% เห็นเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเร่งตรวจสอบและดำเนินการอย่างจริงจัง ทำให้วงการครูเสื่อมเสีย /หมดศรัทธา
          อันดับสอง 27.11% เห็นว่าการทุจริตเช่นนี้เกิดขึ้นมานานและมีอยู่ทุกวงการ /แก้ไขได้ยาก และอันดับสาม 20.61% เห็นว่าเป็นความบกพร่องและขาดการควบคุมดูแลที่ดี มีเจ้าหน้าที่รู้เห็นในเรื่องนี้
--มติชน ฉบับวันที่ 12 มี.ค. 2556


คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: การบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีประวัติเคยถูกดำเนินคดีอาญา

          ในช่วงนี้มีข่าวคราวเรื่องการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ในกรณีพบการทุจริตในการสอบ ซึ่งก็ถือว่าเป็นข่าวที่สะเทือนถึงความเป็นวิชาชีพชั้นสูงไม่น้อยเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ในทุกที่ทุกองค์กรย่อมมีทั้งคนดี และคนไม่ดี ก็ต้องแยกแยะกันเป็นเรื่องๆ ไป ในวันนี้จึงหยิบยกกรณีการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยมาเป็นความรู้กันอีกกรณีหนึ่ง นั่นคือได้ผ่านการสอบคัดเลือกมาแล้ว เมื่อได้รับการบรรจุเข้ารับราชการกลับพบว่า มีประวัติเคยถูกดำเนินคดีอาญา
          โดยเรื่องมีอยู่ว่า นายแสน (นามสมมุติ) ซึ่งได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย พบว่ามีประวัติเคยถูกดำเนินคดีอาญา โดยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในข้อหามียาบ้าไว้ในความครอบครอง จำนวน 5 เม็ด และศาลจังหวัดได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน กำหนด 1 ปี ปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเห็นว่า นายแสนยังไม่เคยต้องรับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก จึงยังไม่ขาดคุณสมบัติสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรา 30(10) แต่มีปัญหาว่าจะขาดคุณสมบัติ ในกรณีไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 30(7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 หรือไม่ จึงได้ขอหารือมายังสำนักงาน ก.ค.ศ.
          เรื่องดังกล่าว ก.ค.ศ. โดย อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลมีคำพิพากษาว่า นายแสนมีความผิดตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และลงโทษตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ถือได้ว่า ศาลได้วินิจฉัยว่า นายแสนเป็นเพียงผู้เสพเท่านั้น มิใช่เป็นผู้จำหน่ายตามมาตรา 15 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน เนื่องจากกรณีที่จะถือว่าเป็นผู้จำหน่ายนั้น จะต้องมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไป แต่ในกรณีนายแสนมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครอง จำนวน 5 เม็ด ศาลได้พิเคราะห์แล้วว่าคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 20 กรัม เมื่อนายแสนเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0504/ ว 208 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2546 ให้ถือว่าไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี ประกอบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 รวมทั้งใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาล ซึ่งได้ออกให้นายแสนที่ได้เคยไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ปรากฏว่าไม่พบสารเสพติด มีสุขภาพแข็งแรงดี อันเป็นการแสดงว่าได้ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพจนร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว นายแสนจึงไม่เป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 30(7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547
          ที่หยิบยกมานี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า สังคมได้ให้โอกาสกับผู้เคยกระทำผิด แต่หากไม่กระทำผิดเลยจะดีกว่า เพราะหากเราต้องเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ก็ต้องเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี จะได้ปฏิบัติงานด้วยความสุข มีความเจริญในหน้าที่การงานสืบไป

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: