วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

เสริมศักดิ์แฉพิรุธสอบครูผช.480คนได้เต็ม ลั่นล้างโกงยกแผ่นดินศธ.ชี้ส่วนกลางต้นทางทุจริต


รมว.ศธ.ยันไม่มีมวยล้มโกงสอบครูผู้ช่วย 'เสริมศักดิ์'รับขบวนการทุจริตมาจากส่วนกลาง          กรณีที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รอง นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) นัดพิเศษในวันที่ 13 มีนาคม เพื่อพิจารณาว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกผลการสอบสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว 12 ครั้งที่ผ่านมา หลังพบมีขบวนการทุจริตสอบครูผู้ช่วย โดยจะพิจารณาจากสำนวนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งให้ ขณะที่นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. คาดว่าจะมีพนักงานราชการเข้าร่วมกระบวนการทุจริตเกือบ 1,000 คน โดยสั่งการให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น
          เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นาย พงศ์เทพกล่าวว่า การทุจริตสอบครูผู้ช่วยมีความชัดเจนในหลายๆ เรื่อง อย่างกรณีที่มีคนสอบแทนกัน หรือมีชื่อไปปรากฏในสถานที่สอบถึง 2 แห่ง ถือเป็นการทุจริตอย่างแน่นอน ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะสอบในเชิงลึกว่ามีขบวนการเชื่อมโยงกันอย่างไร กำลังรอฟังว่าจะมีใครเข้าไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร ยืนยันว่าจะไม่เป็นมวยล้ม จะไม่เห็นแก่หน้าใคร
          นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า ยอมรับว่าน่าจะมีการทุจริตมาจากส่วนกลาง เพราะเป็นไปได้อย่างไรที่การสอบจะมีผู้ได้คะแนนเต็มเท่ากันถึง 480 คน ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน เมื่อได้ข้อมูลมาระดับหนึ่งก็ส่งข้อมูลให้ดีเอสไอสอบสวนต่อ เพราะข้อมูลบางอย่างมีการเชื่อมโยง ทำให้ระดับกระทรวงไม่สามารถเข้าไปหาข้อเท็จจริงได้ เชื่อกระทรวงไม่สามารถเข้าไปหาข้อเท็จจริงได้ เชื่อว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะได้ข้อเท็จจริงมากพอ สมควร
          เมื่อถามว่า ผู้ที่เข้าสอบได้รับการบรรจุไปแล้วจะดำเนินการอย่างไร นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า ถ้าการบรรจุมาจากการสอบที่ไม่เป็นธรรมก็ต้องยกเลิก ส่วนที่จะมีแผนการสอบเพื่อรับบรรจุอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน ได้สั่งการให้ชะลอการสอบและรอผลการสอบสวนก่อน เพื่อให้รู้กระบวนการทุจริต จะได้แก้ไขได้
          เมื่อถามว่า หากผลสอบสวนออกมาพบว่ามีผู้บริหารกระทรวงเข้าไปเกี่ยวข้องจะดำเนินการเด็ดขาดอย่างไร นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า ก็ต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา เกี่ยวข้องกับใครก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น ข้อมูลที่ได้รับเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่ามีหลายส่วน มีข้อมูลชี้ชัดว่ามีการทำเป็นขบวนการ คนที่บงการเป็นขบวนการใหญ่ จะปล่อยไว้ไม่ได้
          "ผมได้รับรายงานว่าขบวนการทุจริตแบบนี้ ทำกันมานาน ไม่มีใครกล้าไปแตะต้อง แต่ยืนยันว่าผมจะเข้าไปจัดการอย่างจริงจังบนความถูกต้องชอบธรรม ไม่มีการไปกลั่นแกล้งใคร สิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือการทุจริตต้องแก้ไขปรับปรุง ยอมรับว่าการทุจริตในกระทรวงศึกษาฯมีเยอะมาก ผมจะทำให้แผ่นดินกระทรวงศึกษาฯสูงขึ้น" นายเสริมศักดิ์กล่าว
          ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้น พื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมบุคลากรและเจ้าหน้าที่เพื่อให้ปากคำและให้ข้อมูลกับดีเอสไอ ในวันที่ 6 มีนาคม นอกจากนี้ ยังเตรียมคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรให้ดีเอสไอใน 4 ประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการส่งมอบข้อสอบจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งในเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่ง สพฐ.จะพยายามทำข้อมูลให้ชัดเจนที่สุด
          นายชินภัทรกล่าวว่า ส่วนที่นายเสริมศักดิ์คาดว่าจะมีผู้ร่วมขบวนการทุจริตเกือบ 1,000 คน จากอัตราที่บรรจุประมาณ 2,000 คนนั้น สพฐ.มีข้อมูลในส่วนนี้แล้ว และเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เร็วๆ นี้ โดยพิจารณาจากการแจกแจงความถี่ของคะแนน ผู้เข้าสอบ ซึ่งปกติแล้วการสอบแต่ละครั้งจะมีการ กระจายของคะแนนเป็นค่าปกติ (Normal Curve) ไม่ว่าจะเป็นการสอบของนักเรียนในการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และการสอบครูผู้ช่วย แต่การสอบคัดเลือกในบางครั้งที่ข้อสอบยาก จะมีการเบ้ของการกระจายตัวคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่การสอบครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมา มีค่าคะแนนที่แสดงการกระจายตัวในระดับที่สูงกว่าปกติ และบ่งบอกถึงความผิดปกติของคะแนน โดยคะแนนที่ผิดปกติมีไม่ถึงพันคน ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผ่านการคัดเลือกที่มีคะแนนสูงกว่าปกติ จึงสันนิษฐานได้ว่าเข้าข่ายที่จะทุจริต ซึ่ง สพฐ.มีรายชื่อทั้งหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม การจะยกเลิกผลการสอบครั้งนี้หรือไม่ ต้องนำข้อมูลของดีเอสไอ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ สพฐ. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ก.ค.ศ.และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดที่รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.แต่งตั้ง มาพิจารณาประกอบก่อนสรุปผล
          "ผมสั่งการให้ข้าราชการ สพฐ.ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมและอยู่สำนักงาน เพื่อรอให้ข้อมูลกับดีเอสไอ เพราะไม่รู้ว่าดีเอสไอจะสอบถามใครบ้าง ส่วนผลการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุด สพฐ.ได้รายงานผลเป็นระยะๆ และเมื่อมีข้อมูลใหม่ก็จะลงไปสอบเพิ่ม อย่างกรณีมีข้อมูลที่มาจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดอื่นๆ และข้อมูลของ ดีเอสไอว่ามีผู้แอบนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในห้องตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดอื่นๆ และข้อมูลของ ดีเอสไอว่ามีผู้แอบนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในห้องสอบ และการปรับผังที่นั่งของเขตพื้นที่ฯที่ สพฐ.กำหนดให้จัดตามเลขที่สอบ ต้องไปดูว่าเขตพื้นที่ฯจัดที่นั่งสอบตามที่ สพฐ.กำหนดหรือไม่ ซึ่งมีข้อมูลว่ามีการไปปรับผังที่นั่งใหม่" นายชินภัทรกล่าว
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่าคะแนนที่มีการ กระจายตัวสูงผิดปกติมีอยู่ประมาณ 2% ของผู้เข้าสอบทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 200-300 คน
          พนักงานราชการคนหนึ่งที่สมัครสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) กล่าวว่า การสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยที่ผ่านมา มีพนักงานราชการส่วนหนึ่งที่เป็นกลุ่มครูอัตราจ้าง ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ และครูโครงการ SP2 ที่อายุการทำงานไม่ถึง 3 ปี ตามหลักเกณฑ์คุณสมบัติที่สามารถสมัครสอบครูผู้ช่วยได้ แต่ติดสินบนให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ตัวเองปฏิบัติงานอยู่ ช่วยทำเอกสารยืนยันการทำงานว่าครบ 3 ปีตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยผู้สมัครกลุ่มนี้ได้จ่ายเงินให้กับขบวนการทุจริตการสอบครูผู้ช่วยในครั้งนี้ ดังนั้น อยากให้ ศธ.และดีเอสไอช่วยตรวจสอบประเด็นนี้ด้วย เพราะไม่อยากให้กลุ่มคนที่ทุจริตตั้งแต่การโกงอายุการทำงาน และจ่ายเงินให้กับขบวนการทุจริตได้เข้าไปเป็นข้าราชการครู
          "การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร กรรมการรับสมัครแต่ละเขตพื้นที่ฯจะยึดตามเอกสารที่นำมายื่น จึงตรวจสอบยากเมื่อมีผู้สมัครเอาเอกสารเท็จมาสมัครสอบ" พนักงานราชการคนเดิมกล่าว
          นายประวิทย์ บึงไสย์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท) กล่าวว่า ส.ค.ท.ติดตามข่าวการทุจริตสอบครูผู้ช่วยมาตลอด และเห็นว่าต้องตรวจสอบให้ถึงที่สุด โดย ส.ค.ท.ขอสนับสนุน และให้กำลังใจรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ตรวจสอบเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด เพราะหากปล่อยให้คนที่ทุจริตเข้าไปเป็นครู จะเป็นผลเสียต่อการศึกษาแน่นอน อย่างไรก็ตาม อยากเรียกร้องให้คุรุสภาในฐานะที่กำกับดูแล และออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ควรมีมาตรการในเรื่องนี้บ้าง เช่น เพิกถอนใบอนุญาตผู้ที่ทุจริต เป็นต้น
มติชน ฉบับวันที่ 7 มี.ค. 2556


'พงศ์เทพ' ลั่นปฏิรูปสอบคัดเลือก
          เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการสอบสวน และการส่งเรื่องทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นพิเศษ หรือเหตุพิเศษ (ว 12) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน ว่า เรื่องดังกล่าวมีการร้องเรียนทั้งในพื้นที่ จ.ขอนแก่น และ จ.นครปฐม โดยทางนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ยืนยันไม่มีมวยล้มแน่นอน ส่วนตนเองก็จะไม่ยอมให้เรื่องนี้เงียบหายไปแน่
          "แต่เดิมการสอบครูแยกสอบเป็นรายพื้นที่ ต่อมาให้มาสอบส่วนกลางทั้งหมด เมื่อเกิดเรื่องขึ้นมาต้องดูจุดบกพร่องอยู่ตรงไหน เพราะทุกคนมาสอบแข่งขันด้วยความรู้ความสามารถจริง ๆ ไม่ควรมีเรื่องทุจริตเกิดขึ้น แต่เมื่อมันมีปัญหาจึงต้องทำระบบป้องกันให้เข้มแข็ง โดยเน้นการปฏิรูปทำโครงสร้าง อะไรเกี่ยวกับตัวเด็กเป็นประโยชน์กับเด็กต้องทำก่อน" รองนายกฯและ รมว.ศึกษาฯกล่าว
          ด้าน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาฯ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำไปกับคณะกรรม การสอบสวนของกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างยุติ ธรรม ไม่ว่าจะเป็นใคร ระดับไหน ก็ต้องจัดการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่เรื่องนี้ยอมรับมีการทุจริตจากส่วนกลาง เพราะเป็นไปได้อย่างไรที่การสอบครั้งเดียวกันจะมีผู้ได้คะแนนเต็มเท่ากันถึง 480 คน และเชื่อว่าภายใน 2 สัปดาห์จะได้ข้อมูลและข้อเท็จจริงมากกว่านี้
          "ผมได้รับรายงานปัญหาและระบบการทุจริตแบบนี้ทำกันมานาน ไม่มีใครกล้าไปแตะต้อง แต่ยืนยันว่าผมจะเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจังบนความถูกต้องชอบธรรม ไม่มีการไปกลั่นแกล้งใคร เมื่อผมมาอยู่กระทรวงศึกษาฯก็รักหน่วยงาน ไม่อยากได้ยินคำว่าแย่ในกระทรวงศึกษาฯ อีกต่อไป สิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือการทุจริตต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุง โดยเฉพาะเรื่องทุจริตมีเยอะมาก ผมจะทำให้แผ่นดิน  กระทรวงศึกษาฯสูงขึ้น" นายเสริมศักดิ์ กล่าว
          ส่วนกรณีผู้ที่เข้าสอบได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการไปแล้วจะดำเนินการอย่างไรนั้น นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าการบรรจุมาจากการสอบที่ไม่เป็นธรรมก็ต้องยกเลิก แต่ในส่วนที่จะมีแผนการสอบเพื่อรับบรรจุอีกครั้งในช่วงเดือน เม.ย.นี้ได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชะลอการสอบไปก่อน เนื่องจากต้องรอผลการสอบสวนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อให้รู้กระบวนการทุจริต จะได้แก้ไขได้ ซึ่งหากผลออกมาพบว่ามีผู้บริหารในกระทรวงฯ เข้าไปเกี่ยวข้องก็ต้องดำเนินการเอาผิดไปตามนั้น แม้จะมีอยู่หลายส่วนและคนที่บงการทำกันเป็นขบวนการใหญ่
          ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เตรียมบุคลากรและเจ้าหน้าที่เพื่อให้ปากคำและให้ข้อมูลกับดีเอสไอที่จะมาขอข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ พร้อมทั้งเตรียมคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรใน 4 ประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องการส่งมอบข้อสอบจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งในเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่ง สพฐ.จะพยายามทำข้อมูลให้ชัดเจนที่สุด ส่วนผลการสอบสวนของ สพฐ. ก็มีรายงานผลมาเป็นระยะ ๆ เมื่อมีข้อมูลใหม่จะลงไปสอบเพิ่ม อย่างกรณีมีข้อมูลที่แจ้งมาจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดอื่น ๆ และข้อมูลของดีเอสไอว่ามีการแอบนำเครื่องมือ สื่อสารเข้าไปในห้องสอบ และยังมีกรณีการปรับผังที่นั่งของเขตพื้นที่การศึกษาที่ สพฐ. กำหนดให้อีกด้วย.
 --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 7 มี.ค. 2556

ไม่มีความคิดเห็น: