วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทุจริตครูผู้ช่วย 344 ราย ส่อวุ่น 'พงศ์เทพ'ชี้ก.ค.ศ.มีอำนาจแค่แนะนำ


 "พงศ์เทพ" ชี้ ก.ค.ศ.ไม่มีสิทธิบัญชาการให้อ.ก.ค.ศ.ฟันทุจริตครูผู้ช่วย 344 ราย ตามข้อเสนอดีเอสไอ อ้างกฎหมายให้อำนาจแค่ชี้แนะเท่านั้น
          นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงความคืบหน้าการสอนสวนกรณีทุจริตสอบครูผู้ช่วยว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม จะมีการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งก็จะมีการนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ขึ้นมาพิจารณา โดยเฉพาะประเด็นที่ดีเอสไอเสนอให้ ก.ค.ศ.ยกเลิกการบรรจุผู้ที่ส่อทุจริตการสอบชัดเจน 344 ราย ซึ่ง บอร์ด ก.ค.ศ.น่าจะพิจารณาได้พอสมควร เป็นไปตามข้อมูลที่ได้รับมา แต่อำนาจของก.ค.ศ.น่าจะพิจารณา โดยเฉพาะประเด็นที่ดีเอสไอ เสนอให้ ก.ค.ศ.ยกเลิกการบรรจุผู้ที่ส่อทุจริตการสอบชัดเจน 344 ราย ซึ่ง บอร์ด ก.ค.ศ.น่าจะพิจารณาได้พอสมควร เป็นไปตามข้อมูลที่ได้รับมา แต่อำนาจของ ก.ค.ศ.ตามกฎหมายนั้น มีอำนาจแค่ให้คำแนะนำเท่านั้น เพราะอำนาจตามกฎหมายจริงๆ กำหนดให้ผู้บรรจุแต่งตั้งเป็นผู้มีอำนาจเพิกถอน
          "เท่าที่ผมดูกฎหมายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ให้อำนาจ ก.ค.ศ.ให้คำแนะนำเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจก.ค.ศ. ไปดำเนินการเพิกถอน แต่คำถาม คำแนะนำนี้ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ผมต้องอธิบายว่าคำแนะนำจาก ก.ค.ศ.นี้ จะเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักให้ ก.ค.ศ.ไปใช้ในการเพิกถอนผู้ส่อทุจริตสอบได้ เพราะหลายคนก็พูดว่า อยากให้ ก.ค.ศ.ชี้แนะ หรือสั่งการมา จะได้ดำเนินการตามนั้น แต่ก.ค.ศ.จะทำอะไรก็ตาม ก็ต้องทำตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมาย" นายพงศ์เทพ กล่าว
          นายพงศ์เทพกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีผู้อำนวยการโรงเรียนมีความกังวลว่าเพิกถอนการบรรจุแล้วจะถูกฟ้องศาลปกครองนั้น ไม่อยากให้กังวล เพราะถ้ามีการฟ้องร้องจริง ก็จะเป็นคดีทางปกครองฟ้องร้องเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งเท่านั้น อย่างมากที่สุด ศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่ง ไม่ได้มาจัดการกับ อ.ก.ค.ศ.
          นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการกคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอเรียกนายอำพร ทวรรณกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนเสมาอุปถัมภ์ และอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 2 มาแจ้งข้อกล่าวหา ในข้อหากระทำความผิดมาตรา 188 กรณีนำเอกสารข้อสอบไปจำหน่าย และเผยแพร่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สพฐ.ว่า ในส่วนของสพฐ.มอบให้นิติกรและคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงๆ ติดตามขอข้อมูลและเอกสารจากทางดีเอสไอ เพื่อที่สพฐ.จะได้นำข้อมูลทั้งหมดมาดำเนินการทางวินัยกับนายอำพรนั้น เพราะจะต้องรอดูข้อมูลจากทางดีเอสไอก่อน และดีเอสไอเองก็ยังไม่ได้ตัดสินว่านายอำพรมีความผิดจริงหรือไม่ และเจ้าตัวเองก็ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ดังนั้น สพฐ.จึงยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ต้องรอข้อสรุปทางดีเอสไอก่อน
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


คอลัมน์: สัมภาษณ์พิเศษ: เชอร์ล็อก โฮล์มส์ (การศึกษา) ดร.ชอบ ลีซอ แกะรอย'ทุจริต'ครูผู้ช่วย..จาก'คะแนน'

          จากปัญหา การทุจริตสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2556 ครั้งมโหฬาร ภายหลังจาก "มติชน" ตรวจสอบพบว่ามีผู้เข้าสอบในบางคนสมัครสอบ และเข้าสอบในเขตพื้นที่การศึกษา 2 แห่งในช่วงเวลาเดียวกัน
          ทำให้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิชรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตสอบครูผู้ช่วย โดยมี นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ.เป็นประธาน ซึ่งตรวจพบว่ามี "เฉลยข้อสอบ" 4 ชุดวิชา รวม 43 วิชา หลุดออกจากส่วนกลางไปยัง "ขบวนการทุจริต" และนำไปใช้ในการ "ขาย" ให้กับผู้ที่ต้องการสอบบรรจุครู ผู้ช่วย ในราคา 4-7 แสนบาท โดยมี "ผู้บริหาร" บางคนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการนำเฉลยข้อสอบออกไป
          จนในที่สุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ดำเนินการสอบสวน และพบว่ามี "ทุจริต" เกิดขึ้นจริง รวมทั้ง มีหลักฐาน โยงถึงผู้บริหารในส่วนกลางบางคนที่ร่วมอยู่ในขบวนการทุจริต จึงรับเป็น "คดีพิเศษ"และได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้นบ้านของ นายอำพร ทวรรณกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนเสมาอุปถัมภ์ จ.นครราชสีมา เพราะมีหลักฐาน ว่าเป็นผู้ขายเฉลยข้อสอบให้กับผู้ที่ต้องการสอบบรรจุครูผู้ช่วยจำนวน 48 ราย ในจำนวนนี้ 7-8 ราย ยืนยันว่าซื้อข้อสอบจากนายอำพร
          โดยพบหลักฐานเฉลยข้อสอบทั้ง 43 วิชา บัญชีธนาคารที่มีการโอนเงินเข้าช่วงก่อนสอบ และในช่วงสอบ ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท และขณะนี้ได้เรียกนายอำพรมารับทราบข้อกล่าวหา ว่ากระทำผิดตามมาตรา 188 กรณีเอาเอกสารข้อสอบไปจำหน่าย และเผยแพร่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ สพฐ.ระวางคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่นายอำพรยังคงให้การ "ปฏิเสธ"
          ล่าสุด มีหนังสือจากดีเอสไอถึงคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 119 เขต เพื่อให้พิจารณาดำเนินการ "ยกเลิก" การบรรจุบุคคลจำนวน 344 ราย โดยเห็นว่าบุคคลดังกล่าวกระทำการเข้าข่ายทุจริตในการสอบ ทำข้อสอบผิดในข้อเดียวกัน และมีคะแนนสอบที่สูงผิดปกติ พร้อมทั้งเตรียมเรียก ทั้ง 344 ราย มาให้ปากคำ
          ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดีเอสไอมีหนังสือถึง ก.ค.ศ.และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ 119 เขต ที่มีผู้เข้าสอบที่มีคะแนนสูงผิดปกติ 344 ราย เนื่องจากการวิเคราะห์ข้อมูลคะแนนของผู้เข้าสอบครูผู้ช่วย ว12 ของ ดร.ชอบ ลีซอ" ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับผลการสอบของผู้เข้าสอบคัดเลือกประจำคณะกรรมการประจำศูนย์ให้คำปรึกษา และติดตามผลการคัดเลือกครูผู้ช่วย หลังจาก ก.ค.ศ.มีมติให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ไปพิจารณายกเลิกผู้ที่ทุจริตสอบครูผู้ช่วย แต่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ไม่กล้าสั่งเพิกถอน เพราะเกรงว่าจะถูกฟ้อง
          โดยพบว่ามีผู้ที่สอบได้คะแนนสูงผิดปกติ 500 กว่าราย ในจำนวนนี้มี 344 ราย ที่คะแนนสูงผิดปกติแล้ว ยังกา "คำตอบ" ข้อ 34 ของข้อสอบฉบับที่ 1 วิชาความรอบรู้ "ผิด" เหมือนกันหมด ทั้งที่มีคำถาม "ง่าย" เนื่องจาก สพฐ.ได้เปลี่ยนข้อสอบ ข้อที่ 34 ใหม่ หลังเฉลยข้อสอบหลุดออกไปอยู่ในขบวนการทุจริตแล้ว
          "มติชน" จึงถือโอกาสนี้ สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ชอบ ลีซอ" ถึงแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลคะแนนของผู้เข้าสอบครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมา จนทำให้ดีเอสไอมีหนังสือถึง ก.ค.ศ.และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ให้พิจารณายกเลิกการบรรจุครูผู้ช่วย 344 ราย ใน 119 เขต ที่ส่อว่าทุจริตแน่นอน!!
          *การวิเคราะห์ข้อมูลคะแนนบอกอะไรบ้าง?
          "การวิเคราะห์ข้อมูลคะแนนของผู้เข้าสอบครูผู้ช่วย ว12 ที่ผ่านมาของผม เพื่อให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เกิดความมั่นใจในสิ่งที่ถูกต้อง และสร้างเรียกศรัทธาของวงการศึกษาคืนมาจากการทุจริตการสอบครูผู้ช่วยในช่วงที่ผ่านมา โดยในจำนวน 344 ราย ที่ได้วิเคราะห์พบความผิดปกติ ได้คะแนนใน 4 ชุดวิชาสูง 90% ขึ้นไป การได้คะแนนสูงขนาดนี้ ถือว่ามีความผิดปกติในเชิงสถิติ และทฤษฎี เพราะกลุ่มนี้มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 122 คะแนน ของ ผู้เข้าสอบทั่วไปทั้งหมด 10,000 กว่าคน ถึง 4 ช่วงตัว และข้อสอบนี้เป็นการวัดความรู้ความสามารถทั่วไป และคนที่สอบแล้วได้คะแนนห่างออกไปจากค่าเฉลี่ยทั่วไปสูงถึง 4 ช่วงตัว จะต้องเป็นคนที่อัจฉริยะ จริงๆ ซึ่งแสดงว่ามีไอคิวเกิน 160 หรือเท่าๆ กับ ไอน์ สไตน์"
          *โอกาสที่จะมีผู้ทำคะแนนได้สูงขนาดนี้?
          "โอกาสที่จะมีคนทำได้คะแนนสูงขนาดนี้ มีเพียง 3 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ตามหลักทฤษฎีโค้งปกติ แต่การสอบครูผู้ช่วยที่ผ่านมามีผู้เข้าสอบ 10,000 กว่าคน โอกาสที่จะได้คะแนนสูงขนาดนี้จึงมีไม่ถึง 1 คน แต่กรณีนี้มีผู้ได้คะแนนสูงขนาดนี้ถึง 500 กว่าคน นอกจากได้คะแนนสูงแล้ว ในจำนวน 344 คนที่ได้คะแนนสูงผิดปกตินี้ เป็นคนที่ตอบข้อสอบในข้อ 34 ของข้อสอบฉบับที่ 1 วิชาความรอบรู้ ซึ่งเป็นข้อสอบที่ง่ายผิด และเป็นการเลือกคำตอบข้อ ก ที่เป็นคำตอบของเฉลยชุดเดิม ก่อนที่จะมีการมาปรับแก้ข้อสอบชุดนี้ใหม่ หลังพบว่าตัวเลือกข้อสอบผิด"
          *ที่อ้างว่าได้คะแนนสูงเพราะอ่านหนังสือหนัก ฟังขึ้นหรือไม่?
          "ที่อ้างว่าได้คะแนนสูงเพราะอ่านหนังสือ ทั้งๆ ที่ผลการเรียนที่ผ่านมาไม่สูงนั้น อาจจะฟังไม่ขึ้น เพราะต้องเป็นคนที่อัจฉริยะจริงๆ และหากพูดกันตรงๆ คนที่มาเรียนครูสมัยนี้อาจจะสอบสาขาอื่นไม่ติด จึงมาเรียนครู แต่ถ้าเป็นสมัยก่อน 40-50 ปีที่ผ่านมา คนที่มาเรียนครูจะต้องเก่งที่ 1 ของจังหวัด ฉะนั้น ก็อาจจะเป็นไปได้หากจะได้คะแนนสูง หรือหากเอาคนที่จบเกียรตินิยมด้าน คุรุศาสตร์มาสอบ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะได้คะแนน 180-190 คะแนน"
          *มั่นใจว่ามีทุจริตสอบครูผู้ช่วยแน่นอน?
          "ตามการวิเคราะห์ข้อมูลนี้ ค่อนข้างชัดเจนมากในความผิดปกติของคะแนน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะตัดสินว่าคนที่ได้คะแนนสูงผิดปกตินี้ผิดเลยในทันที เพราะการทำงานของผมก็เหมือนกองพิสูจน์หลักฐาน ทั้งนี้ เราใช้สถิติ และวัดผล และวิธีการนี้เป็นที่ยอมรับกัน ซึ่งนักวัดผลทุกคนจะรู้ ที่สำคัญครู ทุกคนต้องรู้ เนื่องจากต้องผ่านการเรียนวัดผลมา ฉะนั้น ถ้า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ไม่ยอมรับผลการวิเคราะห์คะแนนนี้ก็ทำได้ แต่คงจะอธิบายลำบาก เพราะดีเอสไอได้นำผลส่วนนี้ของ 344 คน พร้อมทั้งสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอที่ได้สอบผมในฐานะผู้เชี่ยวชาญ และนายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ.เข้าไปในสำนวนของดีเอสไอ และ ได้ฟันธงไปแล้วว่า 344 คนนี้ ส่อทุจริต ดังนั้น หาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ไม่ดำเนินการตามที่แจ้งไป ก็จะอยู่ในภาวะที่เพิกเฉย ซึ่งจะลำบากเหมือนกัน ที่สำคัญจะปฏิเสธข้อมูลเหล่านี้ได้ยาก และจะตอบสังคมลำบาก"
          *จะวิเคราะห์กลุ่มที่ได้คะแนนสูง 80-90%?
          "ส่วนการวิเคราะห์คะแนนสอบของกลุ่มที่ได้คะแนน 80-90% ที่จะมีอยู่จำนวน 104 ราย จะใช้วิธีการวิเคราะห์เช่นเดียวกับกลุ่ม 344 ราย ที่คะแนนสูง 90% ขึ้นไป โดยในกลุ่ม 104 รายนี้ พบว่าทำข้อสอบในข้อ 34 ผิด โดยเลือกคำตอบข้อ ก และหากไปดูคะแนนแล้วยังพบว่าบางคนได้คะแนนเต็ม 2 วิชา แต่อีกวิชาได้ศูนย์คะแนน ทั้งหมดนี้จะต้องนำเสนอนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เพื่อเสนอให้บรรจุในวาระการประชุม ก.ค.ศ.ครั้งต่อไป และจะต้องส่งให้ดีเอสไอด้วย
          ทั้งนี้ ผมคิดว่าคนที่ได้คะแนน 80% ขึ้นไป อาจจะมีหลุดรอด เพราะคนที่ทุจริตเก่งๆ อาจจะเลี่ยงที่ไม่ตอบคำตอบข้อ 34 ในข้อ ก ตามเฉลยเดิม หรืออาจจะอ่านแล้วตอบถูกก็ได้ ดังนั้น จะต้องให้เขตพื้นที่ฯ และดีเอสไอ ลงสอบรายละเอียดต่อไป ส่วนคนที่ได้คะแนนต่ำกว่า 80% ลงมานั้น อาจจะเกินอำนาจทางสถิติที่จะลงไปตรวจ เพราะอาจจะผิดหลักทางสถิติ"
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: