วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มติ ก.ค.ศ. ชัดเจนสั่งเพิกถอนบรรจุครูผู้ช่วยคะแนนสูงผิดปกติ

 "พงศ์เทพ"มั่นใจมติก.ค.ศ.ชัดเจนกว่าหนังสือของดีเอสไอ ย้ำอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯไม่ต้องกังวล รอดูหนังสือก่อน
          วานนี้(19พ.ค.)นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติให้แจ้งไปยังคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา 119 เขต และผู้อำนวยการโรงเรียนให้พิจารณาเพิกถอนการบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย ในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว 12 จำนวน 344 รายตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง ก.ค.ศ.และอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เนื่องจากเห็นว่าบุคคลเหล่านั้นกระทำการเข้าข่ายทุจริต ในการทำข้อสอบผิดในข้อเดียวกันและมีคะแนนสอบที่สูงผิดปกติ แต่ทาง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ยังเห็นว่า มติดังกล่าวมีความไม่ชัดเจน และต้องการให้ก.ค.ศ.มีคำสั่งให้ดำเนินการเพิกถอนอย่างเป็นทางการ ว่า มติ ก.ค.ศ.เมื่อวันที่ 17 พ.ค.มีความชัดเจนแล้ว และจะทำให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และผู้มีอำนาจบรรจุแต่งตั้ง ซึ่งก็คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน มีความมั่นใจในการดำเนินการมากขึ้น เพราะหนังสือของ ก.ค.ศ.ระบุชัดเจนว่าให้ผู้มีอำนาจบรรจุแต่งตั้งดำเนินการเพิกถอนทั้ง 344 รายให้ออกจากราชการ ตามมาตรา 49 ของพ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากการทุจริตการสอบถือเป็นความไม่เหมาะสมในการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมตินี้ถือเป็นข้อมูลที่ทำให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และผู้มีอำนาจในการบรรจุแต่งตั้งดำเนินการตามมาตรา 49 ได้ทันทีโดยไม่ต้องกังวล
          “ผมคิดว่าสาเหตุที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ยังไม่มั่นใจเพราะหนังสือของ ก.ค.ศ.ยังไปไม่ถึงแต่ยืนยันว่ามติของ ก.ค.ศ.ชัดเจนกว่าหนังสือของดีเอสไอ ที่แจ้งไปยัง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เชื่อว่าเมื่อ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เห็นหนังสือของ ก.ค.ศ.จะมีความมั่นใจที่จะดำเนินการตามมติมากขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ รอดูรายละเอียดในหนังสือของก.ค.ศ.ก่อน ไม่อยากให้ไปกังวลมากเกินไป”นายพงศ์เทพกล่าว
          นายพงศ์เทพ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตสอบครูผู้ช่วย ที่มีนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ. เป็นประธานได้เสนอให้ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายไกร เกษทัน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบงานบริหารบุคคลและนิติกร สพฐ. และนายสุเทพ ชิตยวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการ ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ราชการเสียหายร้ายแรง ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารคำให้การของนายพิษณุ ตุลสุข หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดของศธ. ซึ่งได้มีการสรุปเสนอให้ดำเนินการทางวินัยร้ายแรงกับผู้บริหารสพฐ.3 ราย ประกอบด้วยดร.ชินภัทร นายอนันต์ และนายไกร เพราะมีมูลสงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดวินัยกรณีละเลยหรือจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น ขณะนี้นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศธ. ยังไม่ได้รายงานผลสืบสวนฯชุดที่มีนางพนิตา เป็นประธานมายังตน แต่ในเบื้องต้นเมื่อได้รับข้อมูลแล้ว จะต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงในกรณีที่มีข้อมูลอ้างอิงถึงว่าเจ้าตัวละเลยการปฏิบัติหน้าที่จริงหรือไม่ เพื่อให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์ เชื่อว่าเมื่อนายเสริมศักดิ์ได้รับผลการสืบสวนของคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวแล้ว เร็ว ๆ นี้คงจะนำเข้ามาหารือกับตน เพราะอำนาจการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงข้าราชการระดับสูงถือเป็นอำนาจของ รมว.ศธ.
          ผู้สื่อข่าวถามว่า หากจะต้องตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงข้าราชการระดับ 10 และ 11 จริง ๆ จะต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการสอบสวน นายพงศ์เทพ กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้บังคับไว้ว่าถ้าถูกสอบสวนทางวินัยร้ายแรงแล้วจะต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะการสอบสวนจะต้องดูข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องที่สามารถอ้างอิงถึงกันอย่างรอบด้าน ส่วนกรณีของนายสุเทพที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการศธ.นั้น ก่อนหน้าที่จะมีการเสนอชื่อแต่งตั้งข้อมูลยังไม่ชี้ชัดขนาดนี้จึงเป็นสิทธิที่จะได้รับการเสนอชื่อ
ที่มา: http://www.dailynews.co.th

สอบ 'ครูผู้ช่วย' ฉาวพ่นพิษ ชงเสริมศักดิ์ฟัน 4 บิ๊กสพฐ.
          2 เขตพื้นที่ฯยังยื้อเพิกถอนบรรจุครูผู้ช่วย ตั้ง กก. สอบข้อเท็จจริงเพิ่ม อ้าง'ดีเอสไอ'ยังไม่ฟันธง แค่ ชี้ส่อไปในทางไม่สุจริต
          จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ได้มีมติให้แจ้งไปยังคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา 119 เขต และผู้อำนวยการโรงเรียน ให้พิจารณาเพิกถอนการบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครู ในตำแหน่งครูผู้ช่วย ในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครู ในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 ในครั้งที่ผ่านมา จำนวน 334 ราย ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ทำหนังสือแจ้งมายัง ก.ค.ศ.และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ 119 เขต เนื่องจากเห็นว่าบุคคลเหล่านี้กระทำการเข้าข่ายทุจริตในการสอบ ทำข้อสอบผิดในข้อเดียวกัน และมีคะแนนสอบที่สูงผิดปกติ อีกทั้งยังได้แนบเอกสารคำให้การของนายพิษณุ ตุลสุข หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดของ ศธ. ซึ่งได้มีการสรุปเสนอให้ดำเนินการทางวินัยร้ายแรงกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวม 3 ราย เพราะมีมูลสงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดวินัย กรณีละเลยหรือจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งประกอบด้วยนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการ กพฐ. และนายไกร เกษทัน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร สพฐ.นั้น
          เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตสอบครูผู้ช่วย เปิดเผยว่า คณะกรรมการชุดที่ตนเป็นประธานได้ประชุมนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีข้อสรุปให้ตั้งคณะกรรมการสอบ วินัยร้ายแรงผู้บริหาร ศธ. โดยได้เสนอผลสรุปให้นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. รับทราบแล้ว จากนี้ต้องรอว่านายว่าการ ศธ. รับทราบแล้ว จากนี้ต้องรอว่านายเสริมศักดิ์จะดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการ หรือจะสั่งให้สอบสวนประเด็นใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่
          แหล่งข่าวระดับสูงใน ศธ.กล่าวว่า ผลสรุปการสอบสวนของคณะกรรมการชุดที่นางพนิตา เป็นประธาน ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายชินภัทร นายอนันต์ นายไกร และนายสุเทพ ชิตยวงษ์ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจราชการ ศธ. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ราชการเสียหายร้ายแรง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้ยังไม่สามารถสรุปหรือชี้ชัดได้ว่า ผู้บริหาร สพฐ.ทั้ง 4 คน เกี่ยวข้องกับการทุจริตสอบครูผู้ช่วย โดยเสนอว่าหากจะให้ชี้ชัดจะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก
          นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า ได้รับผลสรุปจากคณะกรรมการสืบสวนฯชุดของนางพนิตาแล้ว แต่ยังไม่ได้ดูรายละเอียด คาดว่าในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ จะสามารถบอกได้ว่าแนวทางดำเนินการต่อไปจะเป็นไปในทิศทางใด แต่หากใครที่มีหลักฐานชี้ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จริงก็ต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการสืบสวนฯเสนอมา แต่ถ้าใครที่ความผิดยังไม่ชัดเจนก็ต้องสอบสวนเพิ่มเติม
          นายศักดิ์สิทธิ์ ถิรทัฬหกุล ประธาน อ.ก.ค.ศ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 3 กล่าวว่า ได้รับหนังสือจากดีเอสไอแล้ว ซึ่งส่อว่าทุจริต จำนวน 2 รายชื่อ โดยปรากฏว่ารายชื่อแรกได้รับการบรรจุไปแล้วในลำดับที่ 2 ส่วนอีกรายชื่อยังไม่ได้รับการบรรจุ ซึ่งน่าประหลาดใจว่าผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1 ที่ได้รับการบรรจุไปแล้ว กลับไม่มีอยู่ในรายชื่อของดีเอสไอ
          นายศักดิ์สิทธิ์กล่าวต่อว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ จะประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯโดยจะนำเอกสารที่ได้รับจากดีเอสไอมาประกอบการพิจารณา พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยระหว่างการตรวจสอบจะรอหนังสือแจ้งมติจาก ก.ค.ศ.ดังกล่าวด้วย ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าผลการพิจารณาของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯจะออกมาอย่างไร เพราะในหนังสือที่ได้รับจากดีเอสไอไม่ได้ระบุว่าให้ "ยกเลิก" ซึ่งโดยหลักการก็ยกเลิกไม่ได้อยู่แล้ว เพราะกระบวนการสอบคัดเลือกผ่านไปแล้ว ส่วน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯจะสามารถออกคำสั่งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสั่งให้ผู้ได้รับการบรรจุออกจากราชการได้หรือไม่นั้น ตนไม่สามารถคาดเดาคำตัดสินของที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ได้ เนื่องจากดีเอสไอไม่ได้ฟันธงความผิด บอกแค่ว่าเป็นผู้ที่กระทำไปในทางส่อไม่สุจริต ซึ่งคำว่า "ส่อไปในทางไม่สุจริต" อาจจะแปลความว่าสุจริตหรือทุจริตก็ได้
          นายโกวิท เพลินจิตร ผู้อำนวยการ สพป.อุบลราชธานี เขต 2 กล่าวว่า ได้รับหนังสือจากดีเอสไอแล้ว โดยแจ้ง 1 รายชื่อว่าส่อในทางไม่สุจริต และในหนังสือไม่ได้ระบุให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯยกเลิกการบรรจุ แต่ระบุว่ามีมูลความผิด ให้เขตพื้นที่ฯดำเนินการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และว่าดีเอสไอกำลังสืบค้นข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม ก็แสดงว่ายังไม่ได้ข้อยุติ ดังนั้น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ส่วนที่ ก.ค.ศ.มีมติแจ้งให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯดำเนินการเพิกถอนการบรรจุตามที่ดีเอสไอมีหนังสือแจ้งถึงนั้น ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือแจ้งมติดังกล่าวมา
          "จริงๆ แล้ว ที่ สพป.อุบลราชธานี เขต 2 มีผู้สอบบรรจุครูผู้ช่วยที่มีคะแนนสูงผิดปกติ 2 ราย แต่ดีเอสไอแจ้งมาแค่ 1 ราย ดังนั้น ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯจะตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง และประมวลภาพรวม ทั้งนี้ ยอมรับว่าโดยภาพรวมมีการทุจริตสอบครูผู้ช่วยจริง แต่เอกสารหลักฐานที่จะเอาผิดยังไม่เพียงพอ อีกทั้งผู้ถูกเพิกถอน การบรรจุอาจฟ้องศาลปกครอง หรือศาลอาญาได้ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งถ้าจะให้สบายใจจริงๆ ก.ค.ศ.ควรฟันธงมาเลยว่า ใครกระทำความผิด และสั่งให้เพิกถอนมาเลย ไม่ใช่แค่ให้เป็นข้อมูลมาประกอบการพิจารณา" นายโกวิทกล่าว
          นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยถึงความคืบหน้าทางคดีการทุจริตสอบครูผู้ช่วยว่า ดีเอสไอกำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการทุจริต ส่วนผู้สอบครูผู้ช่วยได้คะแนนสูงผิดปกติ 344 ราย ที่ดีเอสไอได้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 119 เขต ให้ดำเนินการปลดออกจากตำแหน่งครูผู้ช่วย ดีเอสไอกำลังรอการติดต่อจากบุคคลกลุ่มดังกล่าวอยู่ และเตรียมเรียกทุกคนมาให้การกับพนักงานสอบสวน โดยจะเรียกรายชื่อกลุ่มเขตพื้นที่ฯใน จ.นครราชสีมา มาสอบปากคำเป็นลำดับแรก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พนักงานสอบสวนมีพยานเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พนักงานสอบสวนมีพยานเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนว่า มีการซื้อขายเฉลยคำตอบในการสอบครูผู้ช่วยจากบุคคลใด อีกทั้งใน สพป.พื้นที่ จ.นครราชสีมา มีบุคคลที่เข้าข่ายทุจริตถึง 48 คน
          ทั้งนี้ สำหรับหนังสือที่ดีเอสไอส่งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ฯ 119 เขต ให้ดำเนินการปลดออกจากตำแหน่งครูผู้ช่วย รวมจำนวน 344 รายดังกล่าวนั้น ประกอบด้วย สพป.กาญจนบุรี เขต 1 จำนวน 1 ราย, สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1,2 และ 3 จำนวน 4 ราย, สพป.กำแพงเพชร เขต 1 และ 2 จำนวน 4 ราย, สพป.ขอนแก่น เขต 1,2,3,4 และ 5 จำนวน 7 ราย, สพป.จันทบุรี เขต 2 จำนวน 3 ราย, สพป.ฉะเชิงเทรา เขต 2 จำนวน 2 ราย, สพป.ชลบุรี เขต 1 และ 2 จำนวน 2 ราย, สพป.ชัยนาท 5 ราย, สพป.ชัยภูมิ เขต 1,2 และ 3 จำนวน 15 ราย, สพป.เชียงใหม่ เขต 5 จำนวน 8 ราย, สพป.ตรัง เขต 2 จำนวน 2 ราย, สพป.ตาก เขต 2 จำนวน 1 ราย
          สพป.นครปฐม เขต 1 จำนวน 3 ราย, สพป.นครพนม เขต 1 และ 2 จำนวน 5 ราย, สพป.นครราชสีมา เขต 1,2,3,4,5,6 และ 7 จำนวน 48 คน, สพป.นครศรีธรรมราช เขต 4 จำนวน 1 ราย, สพป.นครสวรรค์ เขต 1 จำนวน 3 ราย, สพป.นราธิวาส เขต 2 และ 3 จำนวน 3 ราย, สพป.น่าน เขต 1 และ 2 จำนวน 8 ราย, สพป.บึงกาฬ เขต 1 จำนวน 9 ราย, สพป.บุรีรัมย์ เขต 1,3 และ 4 จำนวน 8 ราย, สพป.ปทุมธานี เขต 1 และ 2 จำนวน 4 ราย, สพป.ปราจีนบุรี เขต 1 จำนวน 1 ราย, สพป.ปัตตานี เขต 1 จำนวน 1 ราย, สพป.พะเยา เขต 1 จำนวน 1 ราย, สพป.พัทลุง เขต 2 จำนวน 1 ราย, สพป.พิจิตร เขต 2 จำนวน 2 ราย, สพป.พิษณุโลก เขต 2 และ 3 จำนวน 5 ราย, สพป.เพชรบุรี เขต 2 จำนวน 1 ราย, สพป.เพชรบูรณ์ เขต 1 และ 3 จำนวน 6 ราย, สพป.แพร่ เขต 1 และ 2 จำนวน 2 ราย, สพป.มหาสารคาม เขต 1 จำนวน 2 ราย, สพป.มุกดาหาร เขต 1 จำนวน 6 ราย
          สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 จำนวน 1 ราย สพป.ยโสธร เขต 2 จำนวน 2 ราย, สพป.ร้อยเอ็ด เขต 1 และ 2 จำนวน 2 ราย, สพป.ระยอง เขต 1 และ 2 จำนวน 5 ราย, สพป.ราชบุรี เขต 1 จำนวน 1 ราย, สพป.ลพบุรี เขต 1 จำนวน 3 ราย, สพป.เลย เขต 1,2 และ 3 จำนวน 18 ราย, สพป.ศรีสะเกษ เขต 1,2 และ 4 จำนวน 7 ราย, สพป.สกลนคร เขต 1,2 และ 3 จำนวน 16 ราย, สพป.สงขลา เขต 2 จำนวน 2 ราย, สพป.สตูล 1 ราย, สงขลา เขต 2 จำนวน 2 ราย, สพป.สตูล 1 ราย, สพป.สระบุรี เขต 1 และ 2 จำนวน 7 ราย, สพป.สิงห์บุรี 2 ราย, สพป.สุรินทร์ เขต 1,2 และ 3 จำนวน 22 ราย, สพป.หนองคาย เขต 2 จำนวน 1 ราย, สพป.หนองบัวลำภู เขต 1 จำนวน 2 ราย, สพป.อำนาจเจริญ 4 ราย, สพป.อุดรธานี เขต 1,2,3 และ 4 จำนวน 9 ราย, สพป.อุทัยธานี เขต 2 จำนวน 4 ราย สพป.อุบลราชธานี 1,2,3 และ 4 จำนวน 10 ราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 2 (กรุงเทพมหานคร) 1 ราย, สพม.เขต 4 (ปทุมธานี-สระบุรี) 2 ราย, สพม.เขต 6 (ฉะเชิงเทรา-สมุทรปราการ) 1 ราย, สพม.เขต 7 (ปราจีนบุรี-นครนายก-สระแก้ว) 1 ราย
          สพม.เขต 9 (สุพรรณบุรี-นครปฐม) 1 ราย, สพม.เขต 10 (เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์สมุทรสงคราม-สมุทรสาคร) 1 ราย, สพม.เขต 18 (ชลบุรี-ระยอง) 2 ราย, สพม.เขต 19 (เลยหนองบัวลำภู) 7 ราย, สพม.เขต 20 (อุดรธานี) 2 ราย, สพม.เขต 21 (หนองคาย) 3 ราย, สพม.เขต 24 (กาฬสินธุ์) 4 ราย, สพม.เขต 25 (ขอนแก่น) 2 ราย, สพม.เขต 27 (ร้อยเอ็ด) 1 ราย, สพม.เขต 29 (อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ) 3 ราย, สพม.เขต 30 (ชัยภูมิ) 2 ราย, สพม.เขต 31 (นครราชสีมา) 3 ราย, สพม.เขต 33 (สุรินทร์) 4 ราย, สพม.เขต 40 (เพชรบูรณ์) 3 ราย, สพม.เขต 41 (กำแพงเพชร-พิจิตร) 1 ราย, สพม.เขต 42 (นครสวรรค์-อุทัยธานี) 1 ราย และสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 1 ราย
มติชน ฉบับวันที่ 20 พ.ค. 2556


คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: การได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นตามคุณวุฒิที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้น 
          อุษณีย์ ธโนศวรรย์
           ผอ.ภารกิจนโยบายและระบบตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษา
          หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำเสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี พ.ศ.2556 ซึ่งมีทั้งเรื่องการ ตรวจสอบคุณวุฒิ เพื่อเตรียมสมัครสอบ และหลักสูตรการสอบแข่งขัน ในวันนี้ เห็นว่ามีข้อหารือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กรณีบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ไปศึกษาต่อ จะได้รับเงินเดือนเพิ่มตามคุณวุฒิที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นหรือไม่อย่างไร เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงนำมาเผยแพร่เป็นความรู้ ดังนี้
          กรณีที่ 1  รับโอน นาย ก. มาดำรงตำแหน่งนักวิชาการศึกษา ระดับปฏิบัติการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 โดยนาย ก. ได้รับปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มาตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 ถามว่าจะสามารถปรับเงินเดือนให้สูงขึ้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ด่วนที่สุด ที่ นร 1008.1/ว3 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2555 ได้หรือไม่
          ตอบ สามารถปรับเงินเดือน นาย ก. ให้สูงขึ้นตามคุณวุฒิที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นได้ เพราะนาย ก.ได้ดำรงตำแหน่งและใช้คุณวุฒิปริญญาตรีมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งเป็นไปตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.5/ว4 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2552 ซึ่งกำหนดให้นำกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ.2551 ข้อ 2 (3) (ข) ซึ่งกำหนดไว้ว่า "ผู้ได้รับปริญญาโทเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นจากปริญญาตรี จะต้องดำรงตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งโดยใช้วุฒิปริญญาตรีมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยต้องเป็นวุฒิที่ตรงตามมาตรฐานตำแหน่งของสายงาน ประเภทและระดับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง"
          กรณีที่ 2 น.ส. ท. ตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป ระดับปฏิบัติการ เคยดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปและสอบเลื่อนตำแหน่งเป็นประเภทวิชาการ มีคุณวุฒิปริญญาตรี ต่อเนื่องจากวุฒิเดิม ปวส. จะอยู่ในประเภทที่จะได้รับการปรับอัตราเงินเดือนตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ด่วนที่สุด ที่ นร 1008.1/ว3 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2555 หรือไม่
          ตอบ กรณีนี้ น.ส. ท. ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป หรือเคยดำรงตำแหน่งในสายงานที่บรรจุจากผู้มีคุณวุฒิต่ำกว่าระดับปริญญา (สายงานที่เริ่มต้นจากระดับ 1 หรือ ระดับ 2) สามารถปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นตามคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.กำหนด ข้อ 2.6 ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ดังกล่าวข้างต้นได้
          หวังว่าวันนี้บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคงจะได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับอัตราเงินเดือนตามกรณีตัวอย่างที่นำมาเสนอในวันนี้ได้อย่างถูกต้องตรงกันนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า
มติชน ฉบับวันที่ 20 พ.ค. 2556 

ไม่มีความคิดเห็น: